ธุรกิจการตลาด

ชมภาพอวกาศล่าสุดจากกล้องของ NASA ที่ "ไกลที่สุด" และ "คมชัดที่สุด"

13 ก.ค. 65
ชมภาพอวกาศล่าสุดจากกล้องของ NASA ที่ "ไกลที่สุด" และ "คมชัดที่สุด"

 

NASA พาไปชมภาพถ่ายชุดใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope กับจักรวาลในมุมที่ลึกและไกลกว่าเคย

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การ NASA ได้เผยแพร่ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope (JWST) ที่เพิ่งส่งขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศเมื่อวันคริสต์มาสปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ผ่านไป 7 เดือน ในที่สุดเราก็ได้ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการชุดแรกออกมา

โครงการนี้น่าสนใจตรงไหน? ก็ตรงที่มันเป็นกล้องที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด โดยถ่ายภาพอวกาศได้ไกลที่สุดและคมชัดที่สุด เรียกได้ว่า JWST เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ทรงพลังงที่สุดตอนนี้ ทั้งในแง่ของการเป็นกล้องในย่านอินฟราเรด และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ด้วยกระจกขนาด 6.5 เมตร และเซ็นเซอร์รับแสง Near Infrared Camera (NIRCam) รุ่นใหม่ ทำให้มันกลายเป็นความหวังในการทำงานดาราศาสตร์แห่งอนาคต รวมถึงการมองย้อนกลับไปยังแสงแรก ๆ ของเอกภพ

NASA เชื่อว่ากล้อง JWST จะนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ ในอวกาศ เช่น การไขความลับของจักรวาล จุดกำเนิดจักรวาล พัฒนาการของกาแล็กซี วงจรชีวิตของดวงดาว ใช้สังเกตการณ์ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกล และอาจช่วยให้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงอื่นที่มีสภาพเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต

กล้อง JWST เป็นความร่วมมือหลายฝ่ายระหว่างสหรัฐ ยุโรป และแคนาดา ใช้งบประมาณในการสร้างถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท) และตั้งชื่อตาม “เจมส์ เวบบ์” อดีตผู้บริหารนาซ่าซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งมนุษย์อวกาศคนแรกไปดวงจันทร์ (อะพอลโล 11) เมื่อปี 1969



เปิดจักรวาลใหม่กับ 5 ภาพถ่ายชุดแรกจากกล้อง James Webb


SMACS 0723

SMACS 0723
SMACS 0723 คือกลุ่มก้อนกาแล็กซี่ขนาดใหญ่ที่สามารถบิดโค้งกาลอวกาศ จนเกิดปรากฎการณ์ "เลนส์ความโน้มถ่วง" (Gravitational Lensing) เราเรียกภาพลักษณะนี้ว่า ภาพห้วงอวกาศลึก Deep Field ซึ่งเป็นการถ่ายภาพเฉพาะเจาะจงไปในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของท้องฟ้า เพื่อให้เห็น "ย้อนกลับไปยังอดีต" ทั้งนี้ก็เพราะว่า "แสงใช้เวลาเดินทางนับพัน-หมื่นล้านปีกว่าจะมาถึงผู้สังเกต"

ภาพนี้มีจุดกึ่งกลางอยู่ที่กระจุกกาแล็กซี SMACS 0723 อยู่ห่างออกไป 4,600 ล้านปีแสง และเป็นภาพที่ชัดมากขึ้น (กล้อง Hubble เคยถ่ายไปแล้ว แต่ไม่คมชัดเท่า) ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดของกาแล็กซีที่ห่างไกลออกไปที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน รวมถึงบริเวณก่อกำเนิดดาวฤกษ์ดวงแรกๆ ในเอกภพ ในภาพนี้ ยิ่งเห็นกระจุกสีแดงก็ยิ่งไกลออกไปอีก โดยวัตถุในภาพที่ไกลที่สุด คาดว่าอยู่ห่างออกไปถึงประมาณ 13,100 ล้านปีแสง

เป็นที่คาดว่า เมื่อกล้อง James Webb ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ มันจะช่วยให้เราสามารถมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นแห่งสรรพสิ่ง ด้วยอายุของจักราล ซึ่งอยู่ที่ 14,000 ล้านปี ได้อย่างไม่ยากนัก และโอกาสที่เราจะได้เห็นแสงที่เกือบจะเป็นแสงแรกของสรรพสิ่งทั้งปวง ก็ใกล้เข้ามาเต็มที



Carina Nebula

Carina Nebula

Carina Nebula เป็นเนบิวลา (กลุ่มเมฆหมอกของฝุ่น แก๊ส และพลาสมาในอวกาศ ) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 230 ปีแสง อยู่ห่างออกไป 8,500 ปีแสง ในทิศทางของกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ วัตถุนี้อาจจะถ่ายภาพไม่ได้ยากนัก เพราะไม่ได้มีแสงที่ริบหรี่จนยากต่อการสังเกต และไม่ได้อยู่ไกลจนเกินไป แต่ภาพถ่ายจากกล้อง James Webb นั้นก็ช่วยให้เราเห็นรายละเอียดในย่านอินฟราเรดได้อย่างชัดเจน และมองผ่านกลุ่มฝุ่นที่เกิดจากซากการระเบิดของดวงดาวเข้าไปเห็นดาวฤกษ์ต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างชัดเจน ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน



Stephan’s Quintet

Stephan’s Quintet

เป็นกาแล็กซี่ หรือกระจุกดาราจักร 5 ดวง ที่ถูกตรึงหากันด้วยแรงโน้มถ่วง อยู่ห่างออกไป 290 ล้านปีแสง ซึ่งเคยเป็นเป้าหมายการสังเกตการณ์ของกล้อง Spitzer Telescope ซึ่งเป็นกล้องที่เน้นถ่ายในย่านอินฟราเรดเช่นกัน หน้าตาของมันนั้น เราอาจจะเคยได้เห็นกันมาแล้วในฐานะกาแล็กซี่ 5 ดวง ที่อยู่แทบจะติดกัน เป็นผลมาจากการเคลื่อนที่เข้าหากัน

กาแล็กซี่ทั้ง 5 ดวงนี้เป็นบ้านของดาวฤกษ์นับแสนล้านดวง และระบบนี้ถูกดึงดูดกันด้วยแรงโน้มถ่วงมหาศาล ซึ่งการศึกษาระบบนี้จะช่วยให้เราศึกษาการเคลื่อนที่ของดาราจักรในเอกภพ ซึ่งการถ่ายภาพในย่านอินฟราเรด จะช่วยให้เราเห็นรายละเอียดที่ชัดเจน รวมถึงเห็นบริเวณที่เกิดการชนหรือสะกิดกันระหว่างดาราจักร (ซึ่งในอนาคต กาแล็กซี่ทางช้างเผือกและแอนโดรเมดา ก็จะมาเจอกันในลักษณะนี้)



WASP-96 b (ศึกษา Spectrum และค้นพบน้ำบนดาว)

WASP-96 b

ภาพนี้คือ “สเปกตรัม” ของดาวเคราะห์นอกระบบ WASP-96 b ที่อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 1,150 ปีแสง ดาวเคราะห์ดวงนี้จัดเป็นดาวเคราะห์แก๊สที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี

โดยปกติเราศึกษาสเปกตรัมของแสงที่ออกมาจากดาว เพื่อให้เห็นถึงองค์ประกอบทางธาตุเคมีของดาว คล้ายกับการใช้อุปกรณ์บนหอดูดาวบนโลก แต่การศึกษาด้วยกล้อง James Webb จะช่วยให้เราได้ข้อมูลที่ละเอียดและไม่ถูกรบกวนโดยบรรยากาศของโลก ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่พบก็คือ มีธาตุองประกอบที่เป็นน้ำอยู่ (H2O) แต่ NASA บอกว่าข้อมูลนี้ยังเป็นเพียงข้อมูลแรก ซึ่งก็คงต้องยืนยันกันต่อไป



Southern Ring Nebula

Southern Ring Nebula

เป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ (ดาวฤกษ์ที่กำลังจะตาย และมีการปลดปล่อยมวลในช่วงบั้นปลายบางส่วนออก) อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง มีอีกชื่อหนึ่งว่า NGC 3132 เนบิวลาดาวเคราะห์นั้นจัดเป็นช่วงชีวิตของดาวที่สั้นมาก คือประมาณสิบปีหรือพันปี เมื่อเทียบกับอายุขัยของดาวที่มีมากเป็นพันล้านปี การศึกษาเนบิวลาดาวเคราะห์เป็นสิ่งที่ทำให้มองเห็นว่า อนาคตของระบบสุริยะของเรานั้นจะเป็นเช่นไร



ปัจจุบัน ยังไม่เคยมีกล้องโทรทรรศน์ตัวไหนที่มีขีดความสามารถเพียงพอ ที่จะสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงคลื่นอินฟราเรดด้วยความละเอียดเท่ากับ James Webb มาก่อน การเปิดเผยภาพถ่ายครั้งนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมกล้อง James Webb ถึงเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะช่วยเราไขปริศนาในหลายมิติทางดาราศาสตร์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของจักรวาล ไปจนถึงการสังเกตการณ์วัตถุทางดาราศาสตร์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของเรา


ที่มา: Spaceth.co, NASA, AFP

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT