ความยั่งยืน

รู้จัก คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ศูนย์รวมข้อมูลน้ำและอากาศสำหรับประชาชน

24 ต.ค. 66
รู้จัก คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ศูนย์รวมข้อมูลน้ำและอากาศสำหรับประชาชน

ปัญหาภัยธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกทำให้ทุกประเทศในโลก ต้องมีการเตรียมความพร้อม รับมือ เพื่อลดผลกระทบ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

สำหรับประเทศไทยภัยธรรมชาติที่ต้องประสบกันอยู่บ่อย ๆ มีทั้งปัญหาน้ำท่วม และ  ปัญหาภัยแล้ง 2 ปัญหานี้สะท้อนเรื่องการบริจัดการน้ำในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบันมีความพยายามในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย  ที่จะมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนทั้งประชาชน เกษตรกร รวมถึงภาคธุรกิจ  

SPOTLIGHT พาไปรู้จักกับ คลังข้อมูลด้านน้ำและสภาพอากาศ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับประชาชนทั่วไปและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เพื่อบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นคือ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ

ที่มาของ “ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ”  

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  (ในหลวง รัชกาลที่ 9) ทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำมาโดยตลอด ทรงให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ เมื่อปี พ.ศ. 2538 เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร พระองค์ได้ทรงงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และทรงพบว่าข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำของประเทศไทยยังขาดการบูรณาการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำของประเทศไทย จนเกิดเป็น “โครงการระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ําแห่งประเทศไทย”

เมื่อปี พ.ศ. 2541 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำซึ่งในขณะนั้นยังเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้สนองพระราชดำริดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมต่อและเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ข้อมูลร่วมกันประกอบการตัดสินใจและบริหารจัดการ  จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

ข้อมูลจากระบบดังกล่าว ได้ถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านเว็บไซต์ทรงงานส่วนพระองค์ weather 901 ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทรงงานที่เรียบง่าย มีข้อมูลน้ำฝน แสดงผลอยู่ในหน้าเดียวกัน ทรงติดตามสถานการณ์น้ำผ่านเว็บไซต์นี้ เป็นประจำทำให้ทรงทราบสถานการณ์น้ำฝนและน้ำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

จากพระราชดำริที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบข้อมูลน้ำของประเทศไทย ที่เปรียบเสมือน “คลังข้อมูลน้ำของในหลวงรัชกาลที่ 9” ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง 

จนในปี พ.ศ. 2555 สถาบัน สารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ขยายผลการพัฒนาระบบเป็น “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ” รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น จนถึงปัจจุบันมีข้อมูลจาก 52 หน่วยงาน

เปิดให้บริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net และ Mobile Application ชื่อ ThaiWater ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูล สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ใช้สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติ เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 

พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์อดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุาณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2562 ให้ไว้ ณ  วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562

โดยให้มีหน้าที่รวบรวม เชื่อมโยง บูรณาการ และวิเคราะห์ข้อมูลน้ำและภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาให้เป็นระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวมทั้งให้บริการข้อมูล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำของประเทศ

พระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

 การใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ 

ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติได้นำไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการสถานการณ์น้ำในภาวะวิกฤตหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 เหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อเดือนธันวาคม 2559 และเดือนมกราคม 2560 โดยใช้ข้อมูล ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และคบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน ร่วมกันวิเคราะห์แนวทางบรรเทาอุทกภัย และเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถวางแผนรับมือสถานการณ์ และแจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็ว ช่วยป้องกันและลดความเสียหายจากอุทกภัยได้เป็นอย่างดี

สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลได้หลากหลายช่องทาง โดยเปิดให้บริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.Thaiwater.net และ แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ชื่อ “ThaiWater” ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT