positioning

เปิดใจผู้ว่าฯ รฟท. "นิรุฒ มณีพันธ์" ผ่าน 4 ปีซ่อมแก้ไข & ปรับปรุงองค์กร จับตา!!! การเมือง 'เปลี่ยนคนใหม่หรือให้ทำต่อ'

11 เม.ย. 67
เปิดใจผู้ว่าฯ รฟท. "นิรุฒ มณีพันธ์" ผ่าน 4 ปีซ่อมแก้ไข & ปรับปรุงองค์กร จับตา!!! การเมือง 'เปลี่ยนคนใหม่หรือให้ทำต่อ'
“นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนที่ 29 อดีตอัยการ ผู้บริหารบริษัท การบินไทย และแบงก์กรุงไทย ก่อนจะก้าวสู่เก้าอี้ผู้ว่าการ รฟท. ท่ามกลางกระแสคัดค้านของกลุ่มพนักงาน รฟท.ที่ไม่ต้องการผู้ว่าฯ คนนอก จนนำพาองค์กรก้าวผ่านวิกฤต ช่วงการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 มีการปรับปรุงการให้บริการ ขับเคลื่อนพัฒนาโครงการต่างๆ รวมไปถึงแก้ปัญหาข้อพิพาท และปัญหาหนี้สิน จนจะครบวาระสัญญาจ้าง 4 ปีวันที่ 23 เม.ย. 2567 นี้ กระแสกลุ่มพนักงานกลุ่มเดิมที่เคยคัดค้านเปลี่ยนมาสนับสนุนให้ต่อวาระ

“นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการ รฟท.เปิดเผยว่า ตอนแรกที่ได้เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ รฟท.ไม่รู้ว่าข้างในจะผุขนาดนี้ จึงมีเรื่องที่ต้องเร่งซ่อมเยอะมาก ทำให้ช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา 70% หมดไปกับการซ่อม เหลืออีก 30% เป็นเรื่องการพัฒนาและทำอะไรใหม่ๆ ให้องค์กร แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าในการทุ่มเทเวลาให้กับการซ่อมเพราะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้องค์กร และหลังจากนี้จะเป็นยุคที่รฟท.สามารถเดินหน้าพัฒนาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเหลือเรื่องที่ต้องแก้ไขน้อยลง

@“เขากระโดง” ยากสุด…แต่แก้ไขได้

ปัญหาที่ดินรถไฟ เขากระโดง เป็นเรื่องยากและคาราคาซังมา 40 ปี ฝ่ายหนึ่งบอกว่าบุกรุก ต้องไล่ออกไป อีกฝ่ายก็บอกเป็นเจ้าของเพราะมีเอกสารราชการถูกต้อง ต้องดำเนินการแก้ปัญหา บนหลักการที่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ และโปร่งใสพร้อมทั้งยึดหลักธรรมาภิบาลและมีจริยธรรมอย่างเหมาะสม ตอนนี้เรื่องกรรมสิทธิ์ มีแนวทางเดินหน้าที่ชัดเจนแล้ว และจะใช้แนวทางแบบนี้แก้ปัญหานี้กับที่ดินรถไฟทั่วประเทศ

“ประชาชนเป็น 1,000 ครอบครัวมีโฉนด แต่การได้มาอย่างไรนั้น รฟท.ตอบไม่ได้ ต้องถามกรมที่ดิน เรื่องที่ดินเขากระโดง ผมคิดหาทางแก้ไขไม่ถึง 2 ชม. แต่วิธีการต้องใช้ทุกศาสตร์ ทุกมิติ จึงใช้เวลาทำนาน ความยากคือ ต้องทำให้ผู้เกี่ยวข้อง เข้าใจแนวทางแก้ไขด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ แก้ปัญหาเขากระโดงในตอนที่ รมว.คมนาคม นามสกุล ชิดชอบ ซึ่งผมมองอีกมุมว่าหากไม่แก้ปัญหาเขากระโดงในยุคนี้ก็จะไม่มีโอกาสอีกแล้ว”
@ใส่เกณฑ์ มีระบบคุณธรรมแต่งตั้งโยกย้าย สร้าง/โปรโมตคนทำงานให้มีศักยภาพ

อีกเรื่องหนักหนา คือการเปลี่ยนแปลงคนในองค์กร เพิ่มศักยภาพ รวมถึงเปิดโอกาสให้คนที่มีศักยภาพได้มีโอกาสทำงานมากขึ้น ซึ่งก็ต้องปรับปรุงการแต่งตั้งโยกย้าย ใส่ระบบคุณธรรมเข้าไป ซึ่งไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าจะทำได้กับที่นี่ จะใส่ระบบคุณธรรมเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายได้ เพราะทราบกันดีว่ามีการวิ่งเต้น ทั้งจากผู้มีอำนาจ นักการเมืองกันมาตลอด

วิธีการแก้ไขของผมคือใส่เกณฑ์เข้าไป และมีระบบคุณธรรม ดังนั้น กรณีวิ่งเต้น มีเส้นสาย หรือเด็กฝาก จากผู้มีอำนาจ หรือ กรณีคนในที่มีอำนาจกั๊กตำแหน่งไว้ให้เด็กของตนเอง ก็จะเจอเรื่องเกณฑ์ คุณสมบัติเป็นตัวชี้วัด ซึ่งผมสามารถตอบคำถามได้ช่วงที่ผ่านมาผมแต่งตั้งจัดสรรคนทำงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งไปได้ 600 คน ใส่ระบบคุณธรรม คัดสรรคนทำงานที่มีศักยภาพตรงกับงาน สร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงาน เพราะการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง มีระบบที่ชัดเจน และมีเกณฑ์วัดความสามารถ

@4 ปีแห่งการซ่อมและเปลี่ยนแปลง ปรับระบบงาน-พัฒนาคน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องเคลียร์ล้างท่อ อีกมากมาย ในฐานะผู้บริหารจะเน้นการขับเคลื่อนคนรถไฟให้ทำงานแบบชาญฉลาดขึ้น เพื่อจะได้เหนื่อยน้อยลง มีการปรับรูปแบบการทำงาน นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เช่น รถไฟทางคู่ หากก่อสร้างเสร็จตามแผน การเดินรถไฟในแต่ละเส้นทางจะใช้เวลาน้อยลงเพราะมี 2 ทางไม่ต้องรอหลีกเสียเวลา การใช้งานรถน้อยลง มีเทคโนโลยีช่วยลดภาระพนักงานลง และยังเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ แค่ระบบรถไฟทางคู่เสร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อรถไฟอย่างมาก

มีการปรับระบบงาน เพื่อกระตุ้นความรับผิดชอบ จะเห็นว่างานต่างๆ เดินเร็วขึ้น ไม่มีเรื่องตกค้างตามโต๊ะนั้นโต๊ะนี้นานเป็นเดือนๆ หมักไว้ไม่ส่งต่อไปเสียที ทำให้งานภาพรวมไม่เดิน มีการจัดการใหม่ พูดคุยกัน มอบหมายภารกิจให้ชัดเจน ทำให้การทำงานไหลลื่นขึ้น เป็นการจัดการเรื่องคน และระบบที่เป็นปัญหารถไฟมายาวนาน

มาเพิ่มวิธีคิดใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านการตลาด โดยเฉพาะรถไฟท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลต์ ได้รับความนิยมมาก แต่ยังมีขบวนรถไม่พอที่จะทำการตลาดได้อย่างเต็มที่ จะเห็นว่ารถไฟมีจุดแข็งมากมายแต่ไม่ได้นำออกมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ มีคนเก่งมากมายแต่ไม่ได้รับโอกาส ก็เหมือนดอกไม้สวยแต่ไม่ถูกนำออกมาประดับแจกัน บางคนถูกเปลี่ยนทัศนคติไปเลยเพราะมีผู้บังคับบัญชาที่เฉื่อย พอเด็กเติบโตขึ้นมาก็ซึมซับความเฉื่อยนั้นจากรุ่นก่อน ส่งต่อกันเป็นทอดๆ รับไวรัสไม่ดีต่อๆกันมา เพราะอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่เดือดร้อนอะไร จึงเป็นเรื่องที่ตนพยายามปรับเปลี่ยนเพื่อวางรากฐานให้องค์กรใหม่

“งานบริการมีปัญหาทุกมิติ ผู้ว่าฯ มองภาพ ก็เหมือนนักแสดงกายกรรม ที่หมุนจาน วางจานบนหัว บนมือ บนร่างกายทุกส่วน หากจานตกไปใบหนึ่งก็เสียหาย ดังนั้นจะต้องจัดสมดุลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ดี ทั้งประชาชนผู้ใช้บริการ คู่ค้า และนักการเมือง โดยเฉพาะพนักงาน และผู้บริหาร ที่มีอาณาเขตอำนาจของแต่ละกลุ่ม ซึ่งผ มองว่าการที่ผมเป็นคนนอกเข้ามาบริหาร ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไหน ไม่ต้องฟังหรือเกรงใจใคร ยึดประโยชน์องค์กรและพนักงานส่วนรวมเป็นหลัก มีเป้าหมายการทำงานชัดเจน”
@เปิดใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จุดเปลี่ยนสำคัญ

ผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่า การเปิดใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยย้ายขบวนรถส่วนหนึ่งไปให้บริการ และยังคงรถอีกส่วนหนึ่งไว้ที่สถานีหัวลำโพง ทำแบบสมดุล และลดภาระของสถานีหัวลำโพงลง และนำพื้นที่มาดำเนินการเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้เพิ่มจากการจัดงาน จัดอีเวนต์ระดับโลก หรือนำรถไฟเก่าประวัติศาสตร์ออกมาแสดงโชว์ เปิดโอกาสให้พ่อแม่พาลูกหลานมาสัมผัสรถไฟของจริง มาสัมผัสประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ มาถ่ายรูปในโอกาสต่างๆ ได้ แต่งงานก็มาถ่ายรูปที่หัวลำโพงกับหัวรถจักรประวัติศาสตร์

ขณะที่นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เช่น ระบบจองตั๋วออนไลน์ และกำจัดเอเยนต์ที่เหมาตั๋วเส้นทางดีมีกำไรไปก่อนแล้วไปขายเพิ่มราคา ตรงนี้ได้ทำกติกา หากเหมาไปแล้วเอามาคืนทีหลังจะถูกปรับ เช่น รถไฟด่วนพิเศษขบวน 9 อุตราวิถี (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) เป็นต้น

@ภารกิจที่ต้องทำต่อ จัดหารถจักร ล้อเลื่อน เพิ่มรายได้จากที่ดิน

“นิรุฒ มณีพันธ์” กล่าวอีกว่า รถไฟทางคู่ใกล้เสร็จแล้ว แต่ยังติดปัญหาขบวนรถ เครื่องมือทำมาหากินมีไม่เพียงพอ ดังนั้นจะเพิ่มเติมบริการอะไรทำได้ยาก เป็นข้อบกพร่องที่ผมทำไม่ได้ เพราะการจัดหาเป็นเรื่องขั้นตอนการอนุมัติที่ยังไม่ผ่านหน่วยเหนือ แต่เราก็พยายามบริหารจัดการสิ่งที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นเครื่องมือหากินเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้ได้ เพื่อเพิ่มบริการและเพิ่มรายได้ ประกอบกับตอนนี้มีรถไฟสายสีแดง มีสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บริการที่ยังสร้างรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้ยังเป็นภาระของ รฟท.

ส่วนทรัพย์สินที่ดินทั่วประเทศยังพัฒนาไม่เป็นไปตามเป้า นโยบายก่อนหน้านี้จัดตั้ง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เข้ามาทำหน้าที่บริหารที่ดินเพื่อเพิ่มมุมมองทางการตลาดแบบมืออาชีพ ก็ต้องขับเคลื่อนต่อ

ผมยังห่วงคนรถไฟ ที่บอกว่าแก้ไขซ่อมไปได้บ้างแล้ว แต่ที่เหลือก็ยังมีอีกมาก และ จากนี้ก็ยังเหนื่อยกันต่อไป”
@อยากทำให้สำเร็จ รถไฟความเร็วสูง -แก้พิพาทค่างาน VO สายสีแดง และประมูลไอซีดีลาดกระบัง

มีเรื่องใหญ่ๆ ที่อยากทำให้สำเร็จ แต่ไม่ทันคือ 1. โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท งานมีปัญหาอุปสรรคมากมายจากหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ก็พยายามแก้ไขอย่างเต็มที่

2. โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังเพื่อส่งเสริมการขนส่งไปท่าเรือแหลมฉบัง ที่ผ่านมายังไม่เรียบร้อย จึงยังคงให้เอกชนเดิม บริหาร 6 สถานีไปก่อนเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้บริการ ขณะที่มีประเด็นค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งได้ทุบโต๊ะ เอาเงินค่าเช่าค้างกว่า 900 ล้านบาทเป็นรายได้ให้ รฟท.จนได้

3. ประเด็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติม (Variation Order : VO) โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีข้อพิพาท เนื่องจาก กิจการร่วมค้า เอส ยู (บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างโครงการรถไฟสายสีแดง สัญญาที่ 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) ได้เสนอข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ

ทั้งนี้ อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ รฟท.จ่ายค่า VO กว่า 4,200 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีและดอกเบี้ย) ซึ่งกระทรวงคมนาคม พิจารณาต่อสู้ โดยยื่นเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ กรณีค่างาน VO มีประเด็นว่าใครสั่งทำงานเพิ่ม ทำผิดระเบียบ ขั้นตอนหรือไม่ คมนาคมและ รฟท.ต้องเร่งเก็บกวาดปัญหาให้เรียบร้อย

@ไฮสปีด 3 สนามบินต้องไม่ล้ม

“นิรุฒ มณีพันธ์” กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เป็นอีกโครงการที่ต้องผลักดันให้เดินหน้า ไม่อยากให้รถไฟเชื่อม 3 สนามบินล้มเหลว เพราะจะกระทบไปถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ที่ผ่านมาเชื่อว่าการเจรจาร่วมกัน เพราะทุกอย่างโมดิฟาย ปรับเปลี่ยนได้ หาวิธีบนพื้นฐานที่รัฐได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน เอกชนก็ต้องมีช่องทางที่จะทำโครงการต่อไปได้ เพราะเมื่อโครงการเดินต่อได้ประเทศก็ได้ประโยชน์
@ภูมิใจ…ได้ตอกเข็ม รถไฟทางคู่ 2 สายใหม่

ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจกับโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง คือ สายเหนือ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” และสายอีสาน “บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม” เพราะการประกวดราคาถูกโจมตีอย่างมากจากผู้หวังดีทั้งหลาย ซึ่งพอถามกลับว่ามีประเด็นไหนที่ผิดระเบียบบ้าง ก็ไม่มี ปมราคาต่ำกว่าราคากลางนิดเดียว ก็ไปปั่นว่าฮั้ว ซึ่งเรื่องฮั้วหรือไม่ เราไม่รู้ ยืนยันการประมูลมีราคากลางที่เป็นเกณฑ์ชี้วัด หากไม่พอใจจะยกเลิกประมูลก็ทำได้ แต่คนที่ออกมาโจมตีกล้าประกาศต่อสังคมหรือไม่ว่าหากเปิดประมูลใหม่แล้ว ผลราคาสูงกว่านี้จะรับผิดชอบหรือไม่ พอเจอแบบนี้ก็ถอยกันหมด ดูเชิงกฎหมายรอบคอบ ไม่มีประเด็นติดขัด ก็ต้องเดินหน้าไม่งั้นโครงการนี้ไม่มีทางเกิด วันนี้กำลังก่อสร้างอีกไม่กี่ปีเสร็จ ความเจริญจะเกิดในพื้นที่ และประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการ

“หากมีอำนาจ แต่บริหารบนความกลัว หลายเรื่องไม่เกิดแน่นอน ในขณะที่มีความกล้า แต่ก็ต้องไม่บ้าบิ่น กล้าแบบรอบคอบมีความรู้จริง”

นิรุฒ มณีพันธ์ กล่าวว่า เวลาผ่านไป 4 ปี พนักงานกลุ่มที่เคยต่อต้าน วันนี้กลับออกมาสนับสนุนอยากให้ต่อวาระ ก็ถือเป็นกระจกสะท้อนการทำงานที่ผ่านมาของตน มีคนสงสัยว่าจัดตั้งมาหรือเปล่า ก็ต้องถามว่าคนรถไฟมีกว่า 9,600 คน ลูกจ้างอีกเกือบ 5,000 คน มีลงชื่อสนับสนุนให้ต่อวาระ 4,000 คน ถามว่าหากจัดตั้งจะได้ขนาดนี้หรือ ส่วนตัวผมถือว่าการทำงานที่ผ่านมามองที่พนักงานต้องได้รับผลตอบแทนด้วย นอกจากนี้ กับสหภาพฯ รฟท.ตนแสดงความจริงใจ ให้ความยุติธรรม ค่อยๆ แก้ปัญหาไปด้วยกัน จนเกิดความเข้าใจและร่วมมือกันทำงานเพื่อองค์กร สัมผัสได้ว่า “คนรถไฟ รักองค์กรมาก” ทุ่มชีวิตเพื่อรถไฟเต็มที่

“หากมีโอกาสได้ทำงานอีกวาระ อีก 4 ปีต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลาในการสร้างมากกว่าซ่อม ที่ผ่านมาซ่อมมามากแล้วแต่ก็ยังคงต้องซ่อมต่อไปเพราะยังไม่หมด โดยจะเน้นการสร้างมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงแบบ Quick win รถไฟไม่ใช่แดนสนธยาอีกแล้ว…และรถไฟจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นเส้นเลือดหลักในระบบโลจิสติกส์ของประเทศ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่ เรียกได้ว่าแทบจะปิดประตูต่อวาระ “นิรุฒ มณีพันธ์” แล้ว แม้ประธานบอร์ด รฟท.จะบอกว่าตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศรับสมัครสรรหาฯ ยังมีโอกาสพิจารณาต่อวาระ แต่ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้น และรู้ๆ กันอยู่ว่า แม้การพิจารณาสรรหาผู้ว่าฯ จะเป็นอำนาจของบอร์ด รฟท.ตามระเบียบกฎมาย แต่ในทางลับก็ต้องฟังฝ่ายการเมืองส่งสัญญาณ

ดังนั้น เหลือลุ้นสุดท้ายที่ นิรุฒ มณีพันธ์ จะกลับมานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการ รฟท.ได้อีกสมัยคือ การสมัครเข้ารับการสรรหา ข่าวว่า สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม คุมโควตาเก้าอี้ผู้ว่าฯ รฟท.เอง และยังมีกระแสข่าวว่ามีชื่อ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เด็กปั้นของ นายสุริยะ สมัยเป็น รมว.อุตสาหกรรม อาจจะโยกข้ามห้วยมา.. ขณะที่หลังจากนี้มีโปรเจกต์ทางคู่ เฟส 2, ไฮปีดไทย-จีน เฟส 2 มูลค่าหลายแสนล้านบาท เตรียมเข้าคิวประมูล การเมืองจะกล้าเปลี่ยนคนใหม่…หรือใช้บริการคนเดิม กล้าเปลี่ยนตัว คงต้องคิดกันหนัก!!!

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT