positioning

ปตท.ติดเครื่องลุยไฮโดรเจน-เมทานอล ส่อง ‘เยอรมนี’ต่อยอดสู่พลังงานอนาคต-ธุรกิจใหม่

1 เม.ย. 67
ปตท.ติดเครื่องลุยไฮโดรเจน-เมทานอล  ส่อง ‘เยอรมนี’ต่อยอดสู่พลังงานอนาคต-ธุรกิจใหม่
เมื่อโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญพลังงานไฮโดรเจน ที่ไม่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ การใช้ไฮโดรเจนจึงไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละออง แถมไฮโดรเจนยังมีค่าพลังงานความร้อนต่อน้ำหนักสูงกว่าน้ำมันเบนซินประมาณ 3 เท่า

ประเทศไทยได้เริ่มทดลองใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ หรือแม้แต่ใช้ไฮโดรเจนร่วมกับเชื้อเพลิงหลักในโรงไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน แม้ว่าผลลัพธ์ทางเทคนิคทำได้แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน เนื่องจากไฮโดรเจนมีต้นทุนที่สูงเมื่อเทียบกับพลังงานอื่น ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไฮโดรเจน

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมจากการวางรากฐานการศึกษาที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิศวกรรม ผนวกกับภาครัฐให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานำไปต่อยอดเชิงธุรกิจ สร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆกล่าวได้ว่าสินค้าที่ผลิตจากเยอรมนีได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือการแพทย์ ยา รถยนต์ที่แบรนด์ระดับโลกทั้ง Mercedes-Benz, Porsche, BMW, Audi และ Volkswagen ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศอันดับต้นๆของยุโรป ที่วางเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ราว 80%ของการใช้พลังงานประเทศภายในปี2573 หลังจากได้ยุติการใช้นิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้ายไปเมื่อปีที่แล้ว และมีแผนจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในอนาคตอันใกล้ พร้อมทั้งนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้เชิงพาณิชย์ในภาคขนส่งด้วย ดังนั้น ปตท. นำคณะสื่อมวลชนเดินทางศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ กลุ่มปตท. ที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)(PTT) กล่าวว่า ปตท.ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ดังนั้นไฮโดรเจน จึงเป็นพลังงานที่มีศักยภาพที่มีค่าพลังงานร้อนสูง มีจำนวนมากและไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ดังนั้น ปตท.ได้การศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในไทย ร่วมกับบริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด จากซาอุดิอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พบว่าต้นทุนการผลิตโครงการดังกล่าวในไทยสูงโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ซาอุดิอาระเบียมากที่มีความได้เปรียบในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพื่อมาแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ ดังนั้นหากต้องการผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือปกขาวเสนอแนะภาครัฐว่าจะต้องดำเนินการสนับสนุนด้านใดบ้างเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศเยอรมนีมีการนำไฮโดรเจนมาใช้ในภาคการขนส่งเชิงพาณิชย์แล้ว โดยมีการติดตั้งหัวจ่ายไฮโดรเจนภายในสถานีบริการน้ำมัน เบื้องต้นพบว่าไฮโดรเจนไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากมีเพียงรถบางรุ่นของโตโยต้าและฮุนไดที่มาใช้บริการ ขณะที่ราคาจำหน่ายไฮโดรเจนได้รับการอุดหนุนบางส่วน แต่ก็ยังมีราคาที่สูงเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันทั่วไป

สำหรับรูปแบบสถานีเติมไฮโดรเจนในเยอรมนีคล้ายคลึงกับสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกของไทยที่บางละมุง เป็นการขนส่งไฮโดรเจนมากักเก็บที่สถานีบริการ โดยเมื่อเติมไฮโดรเจนจะเปลี่ยนสถานะจากก๊าซฯมาเป็นของเหลว อย่างไรก็ดี ในปีนี้ Hydrogen Thailand Club ซึ่งปตท.ได้จัดตั้งร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี)การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นต้น ศึกษาและทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง (Fuel Cell Electrical Vehicle (FCEV) Demonstration Project) สำหรับรถบรรทุก โดยกำลังศึกษาการตั้งสถานีเติมกรีนไฮโดรเจน โดยนำไฟฟ้าจากโซลาร์มาแยกน้ำเพื่อให้ได้ไฮโดรเจน เท่ากับว่ามีโรงงานไฮโดรเจนในปั๊ม เบื้องต้นจะใช้พื้นที่แถบอีอีซี เพื่อตั้งสถานีเติมกรีนไฮโดรเจนกับฟีดรถบรรทุกซึ่งมีความเหมาะสมกว่าการเติมไฮโดรเจนกับรถยนต์เล็ก เพราะไม่ต้องสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนจำนวนมาก และรถบรรทุกจะมีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน คาดว่าปีนี้จะมีข้อสรุปในการทำสถานีเติมไฮโดรเจน รวมทั้งพันธมิตรฟีดรถบรรทุกที่สนใจเข้าร่วม

ในปีที่ผ่านมา ปตท.ได้ร่วมกับพันธมิตรทั้งบมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(OR) บีไอจี โตโยต้าทดลองเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electrical Vehicle :FCEV) แห่งแรกในไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไรของโตโยต้าจำนวน 2 คัน มาทดสอบการใช้งานในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา-ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริงเพื่อเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต ยอมรับว่าปัจจุบันปัญหาการใช้ไฮโดรเจนอยู่ที่ต้นทุนที่สูง แต่เชื่อว่าในอีก5-10ปีข้างหน้าไฮโดรเจนจะขึ้นแท่นเป็นพลังงานแห่งอนาคตเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาล้ำหน้าจนทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง จนมีการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงกันอย่างแพร่หลาย

นอกเหนือจากทดลองใช้ไฮโดรเจนในไทยแล้ว บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)(ปตท.สผ.) ยังได้จับมือกับพันธมิตรเพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในโอมาน กำลังการผลิต 2.2 แสนตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573 เพื่อนำความรู้มาต่อยอดปรับใช้ในประเทศไทย
กำเงินแสนล.รุกธุรกิจใหม่

นายอรรถพล กล่าวย้ำว่า ช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ปตท.ได้เดินหน้าตามวิสัยทัศน์ใหม่“Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” สร้างความมั่นคงทางพลังงานและสนับสนุนแผนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน สอดรับนโยบายรัฐที่ผลักดันอุตสาหกรรม New S-Curve โดยธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) หรือพลังงานสะอาด ทางปตท.ได้กำหนดเป้าหมายพลังงานไฟฟ้ารวม 20,000เมกะวัตต์(MW)ในปี2573 แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 15 กิกะวัตต์ หรือ15,000เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 5,000เมกะวัตต์ ปัจจุบันกลุ่มปตท.มีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนขยับเพิ่มขึ้นเป็น4,000-5,000เมกะวัตต์แล้ว ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน

ส่วนธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน (Beyond) ทางกลุ่มปตท.โฟกัสในธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) อาทิ ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ โดยมีบริษัท อินโนบิก(เอเซีย)เป็นแกนนำ ซึ่งปีที่แล้วสร้างผลกำไรคืนกลับปตท. ,ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility amp; Lifestyle) ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-oil โดยมีORเป็นแกนนำ , ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics amp; Digitalization) ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) โดยปตท.ได้กำหนดเป้าหมายว่าในปี2573 ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและBeyond จะต้องมีกำไรรวมมากกว่า 30%ของกำไรรวมปตท. ส่วนธุรกิจปัจจุบันของปตท.ทั้งปิโตรเลียมขั้นต้นและขั้นปลายก็ยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้และกำไรอยู่ และไทยยังใช้น้ำมันและก๊าซฯเป็นหลักอยู่ จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันมีต้นทุนที่ต่ำสุดเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

อย่างไรก็ดี ปตท.ได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบจากปี 2563 (ค.ศ.2020) ลง15% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2583 (ค.ศ.2040) มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ดังนั้น ธุรกิจใหม่ที่มีการอนุมัติลงทุนต้องคำนึงเรื่องปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสำคัญด้วย

สำหรับเงินลงทุน 5 ปี (2567-2571 )ของปตท. อยู่ที่ 89,203 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท หรือ 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท หรือ 17% ธุรกิจธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท หรือ 14% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท หรือ 4% บริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท และมีงบ Provision 107,000ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนธุรกิจใหม่ โดยปีนี้กำหนดงบลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท
จับมือThyssenkruppศึกษาตั้งรง.เมทานอล

นอกจากนี้ ปตท.นำคณะเยี่ยมชมบริษัท ธิสเซ่นครุปป์ (Thyssenkrupp ) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ให้บริการด้านการวางแผน การก่อสร้าง และการให้บริการวิศวกรรมแก่โรงงานเคมีและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมากว่า 200ปี มีพนักงานกว่า 100,000 คน โดยมีบริษัทลูกตั้งอยู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในดัชนี MDAX โดยในปี2566 มียอดขายรวม 37,500 ล้านยูโร

ธิสเซ่นครุปป์ ดำเนิน 5 ธุรกิจหลักประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยียานยนต์ (Automotive Technology),ด้านการบริการด้านวัสดุ (Materials Services),ด้านเทคโนโลยีลดคาร์บอน (Decarbon Technologies),ด้านระบบยุทธนาวี (Marine Systems) และด้านเหล็กยุโรป (Steel Europ) เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านRamp;D มีศูนย์วิจัยกว่า 75 แห่งทั่วโลกโดยได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์สภาพอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Transformation) ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

นายบูรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ปตท. ร่วมกับธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ (Thyssenkrupp Uhde ) ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เบื้องต้นมีขนาดกำลังผลิตราว 100,000ตัน /ปี และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 2ล้านตัน/ปี ขณะที่ความต้องการใช้เมทานอลในไทยเฉลี่ยปีละ 700,000 ตัน

สำหรับรายละเอียดโครงการดังกล่าวจะนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์และทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนออกเป็น เมทานอล (Green Methanol ) ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยี แต่ในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์พบว่าสูงกว่าเมทานอลจากก๊าซธรรมชาติ โดยมีผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ต่ำกว่า 10% ขณะที่การตัดสินใจลงทุนโครงการของปตท.จะต้องมีIRR เฉลี่ย14-15% ทำให้ธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ต้องหาแนวทางในการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงเพื่อให้โครงการนี้มีIRRที่สูงขึ้น รวมทั้งยังต้องเปรียบเทียบต้นทุนการนำคาร์บอนไปกักเก็บในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้แล้ว(CSS) หรือการเสียภาษีคาร์บอนว่าแบบไหนมีความเหมาะสม คุ้มค่ากว่ากัน คาดว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปในปีนี้

อย่างไรก็ดี หากภาครัฐมีการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)ในอนาคต รวมถึงการการแบนอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง ย่อมทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนโครงการนี้มีมากยิ่งขึ้นจนสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในค.ศ.2065

ทั้งนี้ โครงการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดกำลังผลิต 1 แสนตัน/ปี คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 80ล้านยูโร หรือราว 3,200ล้านบาท หากปตท.ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่นิคมฯมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อให้ใกล้โรงแยกก๊าซฯ ยอมรับว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีโรงงานผลิตเมทานอล แต่นำเข้าจากตะวันออก โดยเมทานอล เป็นสารสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมเคมี การก่อสร้างและอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก รวมทั้งผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel :SAF)

ส่วนการจับมือกับธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้โครงการผลิตเมทานอล เนื่องจากอูเด้ห์มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมการผลิตเมทานอลมาอย่างยาวนาน โดยบริษัทฯ เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตแก๊สสังเคราะห์ และเทคโนโลยีการสังเคราะห์เมทานอล ซึ่งโรงงานเมทานอลแห่งแรกที่อูเด้ห์เป็นผู้สร้าง เริ่มเดินเครื่องจักรเมื่อปี พ.ศ. 2474 และอูเด้ห์ยังเป็นผู้นำด้านกระบวนการผลิตที่ใช้แรงดันสูงและอุณหภูมิสูงมาอย่างยาวนานกว่า 95 ปี ประกอบกับประสบการณ์และความชำนาญด้านวิศวกรรม การจัดซื้อ และก่อสร้าง (EPC) ทำให้บริษัทสามารถให้บริการการก่อสร้างโรงงานเมทานอลในแบบ Turnkey ครบวงจรได้

นอกจากนี้ ทางปตท.สผ.ได้ร่วมกับพันธมิตรศึกษาความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ (commercial feasibility) ในการจัดตั้งโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอล(Green e-methanol) เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่ได้จากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ชีวภาพและการผลิตกรีนไฮโดรเจน โดยนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิต เบื้องต้นคาดว่าโรงงานดังกล่าว จะมีกำลังการผลิตกรีนอีเมทานอลอย่างน้อย 50,000 ตันต่อปี หากผลการศึกษาประสบความสำเร็จ จะเริ่มการก่อสร้างโรงงานต้นแบบที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอลแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงทางเลือกตามเป้าหมายขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ( IMO) ที่จะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเป็นรูปธรรมช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ลั่นปีนี้ อินโนบิกโกยกำไรโตต่อเนื่อง

นายบุรณิน คาดการณ์ผลการดำเนินงานของบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด คาดว่าปีนี้จะมีกำไรเตืบโตขึ้นกว่าปีก่อนที่มีกำไรราว 1,100ล้านบาท เนื่องจากบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล (Lotus )ที่อินโนบิกถือหุ้น37%เติบโตขึ้น รวมทั้งรับรู้กำไรจากการขายหุ้นในบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) ให้กับบริษัทในกลุ่ม Aztiq เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในทวีปยุโรป การทำธุรกรรมดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2567 รวมทั้งรับรู้กำไรจากบริษัทร่วมทุนอื่นๆเข้ามาเพิ่มเติมด้วย

แย้มไม่เร่งรง.ผลิตอีวี เหตุตลาดแข่งราคาดุ

ส่วนความคืบหน้าโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (บริษัทลูก ปตท.) กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (ฟ็อกซ์คอนน์) ที่ได้เริ่มลงทุนและก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2565 ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี คาดว่าจะเสร็จปี 2568 เฟสแรกมีกำลังการผลิตรถอีวีราว5,000คันต่อปี และทยอยเพิ่มขึ้นเป็น150,000คันต่อปีน้้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาลูกค้า เพื่อรับจ้างผลิตรถอีวี แต่เราไม่ต้องเร่ง เนื่องจากขณะนี้ตลาดรถอีวีมีการแข่งขันด้านราคาแบบฝุ่นตลบ ค่ายรถอีวีจากจีนออกรุ่นต่างๆมาจำนวนมากและกดราคาลงมามาก จึงอยากให้ตลาดหายฝุ่นตลบก่อน คาดว่าน่าจะเป็นช่วงโรงงานก่อสร้างเสร็จพอดี

ระหว่างนี้ปตท.เดินหน้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน”เอ็นวี โกชั่น” ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (ในเครือปตท.) กับ บริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด (Gotion) ป้อให้กับค่ายรถอีวี อย่างNETA รวมทั้งหาลูดค้าเพิ่มเติม ส่วนโรงงานประกอบแบตเตอรี่CATL ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
“อรรถพล”ส่งไม้ต่อให้CEO คนที่11

นายอรรถพล กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากไว้กับนายคงกระพัน อินทรแจ้ง CEO ปตท.คนที่ 11 ต้องบาลานซ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholder)ให้เหมาะสม โดยประชาชนได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันองค์กรไม่เสียด้วย ที่ผ่านมา ปตท.มีการเปลี่ยนผู้นำมาตลอด CEO ปตท.คนใหม่ ก็ถือเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มบริษัท ปตท. อยู่แล้ว ก็สบายใจ เชื่อว่าการเดินตาม PTT WAY ทำให้ประสบความสำเร็จ การรับไม้ต่อทำให้มันเจริญก้าวหน้าไปได้ เหมือนที่มีการส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT