positioning

กฟผ. ชูโมเดล “สถานี EleX by EGAT กฟผ. แม่เมาะ” ต้นแบบสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์

29 มี.ค. 67
กฟผ. ชูโมเดล “สถานี EleX by EGAT กฟผ. แม่เมาะ” ต้นแบบสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งของประเทศอย่างน้อยร้อยละ 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) จึงมีมติเห็นชอบสนับสนุนให้บริษัทเอกชนซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานโดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้สูงสุด 2 เท่า ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2568 และคาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยหน่วยงาน EGAT EV Business Solutions คาดการณ์ว่า แนวโน้มการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้าของทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในหน่วยงานต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ และมีโครงการนำร่องใช้งานเพื่อเตรียมพร้อมต่อมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชน ดังนั้นการออกนโยบายสนับสนุนให้บริษัทเอกชนซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างชัดเจน
นำร่องต้นแบบสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์

ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้กำลังไฟฟ้าสูง มีปริมาณการชาร์จไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากันส่งผลให้อาจเกิดความผันผวนในระบบไฟฟ้า

กฟผ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศจึงได้เตรียมความพร้อมทั้งระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา สามารถรองรับความผันผวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการพัฒนาสถานีชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยนำร่องแห่งแรกที่สถานีชาร์จ EleX by EGAT กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อเป็นกรณีศึกษาว่า หากต้องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับภาคขนส่งจำนวนมากพร้อมกันจะมีผลกระทบอย่างไรต่อระบบไฟฟ้าหลัก เสถียรภาพการจ่ายไฟฟ้า รวมถึงความปลอดภัยต่อทั้งตัวรถและผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งของ จ.ลำปาง และพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากปัจจุบัน จ.ลำปาง มีสถานีชาร์จ DC Fast Charge ประมาณ 10 สถานีเท่านั้น

สถานีชาร์จ EleX by EGAT กฟผ. แม่เมาะ ประกอบด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้า DC Fast Charge ขนาด 120 กิโลวัตต์ จำนวน 16 หัวชาร์จ โดยรองรับการชาร์จรถโดยสารไฟฟ้าของ กฟผ. แม่เมาะ เกือบ 30 คัน
เตรียมเปิดให้บริการประชาชนทั่วไปกลางปี 67

สำหรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จะมีเส้นทางการวิ่งและระยะทางที่แน่นอนแตกต่างจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาคประชาชน โดยผู้ประกอบการต้องการระยะเวลาการชาร์จที่แน่นอนและตรงเวลาเพื่อไม่ให้กระทบต่อรอบการเดินรถและต้นทุนการขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาชาร์จประมาณ 1- 2 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ ทำให้การออกแบบสถานีชาร์จต้องใช้กำลังไฟฟ้าสูงเพื่อให้มีเสถียรภาพในการจ่ายไฟฟ้า และระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จต้องมีความรัดกุมมาก รวมถึงมีแผนสำรองความพร้อมในการจัดการปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการเดินรถ รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับผู้ใช้งานที่ยังไม่มีความคุ้นเคยในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าในช่วงกลางปี 2567 สถานีชาร์จ EleX by EGAT กฟผ. แม่เมาะ จะสามารถเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้บริการ

กฟผ. พร้อมเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนในการสนับสนุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้ายกระดับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากภาคประชาชนสู่ภาคขนส่งเชิงพาณิชย์ด้วยความเชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้า และประสบการณ์ในธุรกิจบริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (one-stop service) ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://egatev.egat.co.th หรือ FB Page: EGAT EV

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT