positioning

บวท.ปรับแผนรับ "ฮับการบิน" เร่งเพิ่มขีด 2 ล้านเที่ยวบินใน 7 ปี เจรจาเปิดเส้นทางบินเพิ่มประตูเข้าออก "ไทย-ลาว-จีน" แก้คอขวด

28 มี.ค. 67
บวท.ปรับแผนรับ "ฮับการบิน" เร่งเพิ่มขีด 2 ล้านเที่ยวบินใน 7 ปี เจรจาเปิดเส้นทางบินเพิ่มประตูเข้าออก "ไทย-ลาว-จีน" แก้คอขวด
วิทยุการบินฯ ปรับแผนรับนโยบายฮับการบิน เร่งขยายขีดรับ 2 ล้านเที่ยวบินใน 7 ปี คาดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างน้อย 6,000 ล้านบาท ลุยเจรจา ลาว-จีน ทำเส้นทางบินคู่ขนาน เพิ่มประตูเข้าออกจีนลดแออัด คาดรับได้ 2 แสนเที่ยวบิน

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค วิทยุการบินฯ ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ มีความพร้อมในการสนับสนุนผลักดันนโยบายของรัฐบาลโดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและเพิ่มรองรับการบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากแนวโน้มของหลายประเทศที่สั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม เช่น จีน ซื้อแอร์บัส A 320 400 ลำ อินเดียซื้อ 1,000 ลำ ซึ่งจะทำให้โครงข่ายการบินระหว่างจีน อินเดีย และภูมิภาคอาเซียน จะเพิ่มมากขึ้นอีกมาก

โดยระยะเร่งด่วนที่ บวท.ต้องดำเนินการคือ การพัฒนาเส้นทางบินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจราจรทางอากาศรองรับเที่ยวบินเพิ่ม โดยมี Flagship ภายใน 7 ปี รองรับที่ 2 ล้านเที่ยวบิน/ปี โดยคาดว่าจะลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับสูง ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถควบรวมการบริหารจราจรทางอากาศสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามและจัดการขึ้นลงได้อย่างแม่นยำ และคล่องตัว ซึ่งจะสูงกว่าสิงคโปร์ และฮ่องกง หรือเทียบเท่ากับประสิทธิภาพของลอนดอน ที่มี 5 สนามบิน

เดิมแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 2 ล้านเที่ยวบินต่อปีในปี 2581 หรือใน 15 ปีต่อไป โดยก่อนหน้านี้ก่อนโควิด-19 บวท.ได้ลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท พัฒนาศักยภาพหอบังคับการบิน 36 แห่งทั่วประเทศ แต่เนื่องจากนโยบายรัฐบาลเรื่องศูนย์กลางการบินในภูมิภาค จึงมีการเร่งรัดการพัฒนา มีการสร้างสนามบินแห่งใหม่ ทั้งอันดามัน และล้านนา มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนและงบลงทุน จะต้องมีการลงทุนเพื่ออัปเกรดระบบเดิมซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการพัฒนาโครงการอู่ตะเภา เฟสศูนย์ (ช่วงเวลาก่อนเปลี่ยนผู้ดำเนินการสนามบินจากกองทัพเรือเป็น UTA) เพื่อสนับสนุนการบิน มุ่งเน้นการขนส่งสินค้าทางอากาศ จากเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะเที่ยวบินจากประเทศจีน มีเป้าหมายที่ 3 ล้านเที่ยวบิน/ปี เท่าศักยภาพของอู่ตะเภา

@คาดปี 68 ฟื้น 1 ล้านเที่ยวบินเท่าก่อนเกิดโควิด

นายณพศิษฏ์กล่าวว่า ปี 2566 การบินฟื้นกลับมาประมาณ 80% ของช่วงก่อนเกิดโควิด ที่มี 1 ล้านเที่ยวบิน/ปี และมีรายได้ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยปี 2566 มีประมาณ 8 แสนเที่ยวบิน มีรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 500 ล้านบาท ปี 2567 คาดว่า จะมีประมาณ 9 แสนเที่ยวบิน รายได้อยู่ที่ 11,000-12,000 ล้านบาท และปี 2568 จะกลับไปที่ 1 ล้านเที่ยวบินเท่ากับช่วงปี 2562 ก่อนเกิดโควิด และคาดว่าจะมีรายได้ 13,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงโควิด บวท.ไม่มีรายได้ และนำเงินสะสมกว่า 9,000 ล้านบาทใช้ในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จึงถือว่าตอนนี้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ขณะที่ปัจจุบันมีเที่ยวบิน 2,300 เที่ยวบิน/วัน คาดว่าช่วงสงกรานต์ปีนี้จะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นประมาณ 20% หรือมี 2,400 เที่ยวบิน/วัน
@เจรจาเปิดเส้นทางบินเพิ่ม ไทย-ลาว-จีน แก้คอขวด

ปัจจุบันได้จัดทำเส้นทางบินแบบคู่ขนาน (Parallel Routes) ทางด้านเหนือ ไปยังสนามบินเชียงใหม่ เชียงราย และเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศเพื่อรองรับเที่ยวบินจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น คุนหมิง กุ้ยหยาง เฉิงตู เทียนฟู ฉงชิ่ง ซีอาน แต่ปัจจุบันมีจุดเข้าออก ไทย ผ่าน สปป.ลาว ไปจีน เพียงจุดเดียว เกิดปัญหาคอขวด เครื่องบินรอต่อคิวนานเป็นชั่วโมง จึงมีการเจรจาเพื่อเพิ่มประตูเข้าออกจีน ผ่าน สปป.ลาว อีกเส้นทางคู่ขนาน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกัน 3 ประเทศเร็วๆ นี้ เพื่อเพิ่มเส้นทาง และนำเสนอที่ ICAO เห็นชอบและขอชื่อเส้นทางบิน เพราะต้องมีการทำแผนการบินและความปลอดภัย และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานการบินพลเรือนของแต่ละประเทศ คาดว่าจะสรุปและออกประกาศได้ในต้นปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถจาก 1 แสน เป็น 2 แสนเที่ยวบิน/ปี จากเมื่อปี 2562 มีปริมาณมากสุด 85,000 เที่ยวบินซึ่งพบปัญหาหนาแน่น

ด้านตะวันตก มีแผนและอยู่ระหว่างผลักดันเพื่อจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับเที่ยวบินจากอินเดีย บังกลาเทศ และยุโรป เนื่องจากยังติดสถานการณ์ภายในประเทศพม่า และประเด็นห้วงอากาศระหว่างอินเดียกับพม่า ซึ่งปัจจุบันเส้นทางบินนี้ติดคอขวดที่ผ่านพม่า ยังมีปัญหาด้านบริการที่จะรองรับเที่ยวบิน การบริหารจัดการระยะห่างเที่ยวบินประมาณ 10 กว่านาที/ลำ ซึ่งก่อนโควิด มีเที่ยวบินผ่านเส้นทางนี้ไปยุโรปประมาณ 100,000-150,000 เที่ยวบิน/ปี โดยจะผลักดันลดระยะห่างเที่ยวบิน ซึ่งจะเพิ่มเป็น 200,000 เที่ยวบินหรือเพิ่ม 30% และหากเปิดเส้นทางบินเพิ่มอีก จะเพิ่มป็น 250,000 เที่ยวบินได้ ทั้งนี้ มีเที่ยวบินบางส่วนที่ไปยุโรป ไปที่สิงคโปร์ไม่ผ่านไทย ไม่เข้าพม่า

ด้านตะวันออก ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศรองรับเที่ยวบินจากกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในขณะที่ด้านใต้ ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานในประเทศรองรับเที่ยวบินไปยังสนามบินภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ รองรับเที่ยวบินจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย

ทั้งนี้ การจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานใช้เทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) ในการนำร่องแบบ RNAV2 ที่มีการกำหนดทิศทางการบิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยลดระยะทางการบิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศจากทุกทิศทาง
ในส่วนของการให้บริการจราจรทางอากาศนั้น การบริหารจัดการความคล่องตัว (Air Traffic Flow Management: ATFM) ช่วยทำให้เกิดความสะดวก คล่องตัว ลดผลกระทบการล่าช้าของเที่ยวบินในช่วงเวลาที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศหนาแน่น ในขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง (High Intensity Runway Operation: HIRO) จะช่วยเพิ่มการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ถึง 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และท่าอากาศยานดอนเมืองเป็น 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า คือระบบ Arrival Manager (AMAN) และการจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep) มาใช้ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ เที่ยวบินสามารถทำการบินได้ตรงเวลาตามตารางการบิน รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ (Airspace) ของสนามบินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นการดำเนินงาน 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่ และสนามบินอันดามัน กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ สนามบินลำปาง และสนามบินล้านนา

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT