positioning

ไทย-บราซิล ลงนามยุติข้อพิพาทคดีน้ำตาลใน WTO เป็นการถาวร

25 ก.พ. 67
ไทย-บราซิล ลงนามยุติข้อพิพาทคดีน้ำตาลใน WTO เป็นการถาวร
ไทย-บราซิล ลงนามยุติกรณีพิพาทน้ำตาลใน WTO เป็นการถาวร หลังไทยถูกบราซิลฟ้องว่าระบบอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยขัดต่อกฎเกณฑ์การอุดหนุนของ WTO ตั้งแต่ปี 59 แต่ไทยได้แสดงความจริงใจแก้ไขข้อห่วงกังวลของบราซิล และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนทำสำเร็จในช่วงปลายปี 65

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา ตนและนายกีเยร์เม เด อากีอาร์ ปาตริโอตา เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิลประจำองค์การการค้าโลก ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ให้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงยุติกรณีพิพาทน้ำตาลใน WTO ณ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ในช่วงต้นของการประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ครั้งที่ 13 ที่ UAE เป็นเจ้าภาพ

สำหรับกรณีพิพาทดังกล่าว สืบเนื่องจากที่บราซิลฟ้องร้องไทยว่าระบบอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยขัดต่อกฎเกณฑ์การอุดหนุนของ WTO และได้ยื่นคำขอหารือกับไทยภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO เมื่อปี 2559 ซึ่งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 8 ปี โดยไทยได้แสดงความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขข้อห่วงกังวลของบราซิลและได้พยายามปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ WTO ในเรื่องการอุดหนุน

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ไทยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ฝ่ายบราซิลได้ติดตามดูพัฒนาการของไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งต่อมาในปี 2564 สองฝ่ายได้ลงนามใน MoU ระหว่างไทย-บราซิล เพื่อจัดตั้งกลไกในการหารือ ติดตามความคืบหน้าการปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย โดยมีเงื่อนไขว่า บราซิลตกลงจะระงับการดำเนินการใด ๆ เพื่อฟ้องไทยต่อใน WTO เป็นการชั่วคราวในช่วงการหารือดังกล่าว ซึ่งต่อมา ไทยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแล้วเสร็จ พร้อมทั้งบังคับใช้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565 เป็นต้นมา

“WTO มีกฎเกณฑ์ด้านการค้าระหว่างประเทศที่สมาชิก WTO จะต้องปฏิบัติตามเพื่อป้องกันการแข่งขันในตลาดที่ไม่เป็นธรรม โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากมาตรการของประเทศสมาชิกอื่นสามารถทำการสอบสวน (investigate) เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ หรือยื่นฟ้องต่อศาล WTO เพื่อให้ยุติมาตรการได้ สำหรับไทยและบราซิลได้เจรจาและหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องนี้อย่างฉันมิตรเป็นเวลาหลายปี จนในที่สุด ก็นำมาซึ่งการลงนามระหว่างสองฝ่ายในข้อตกลงเพื่อยุติคดีน้ำตาลใน WTO เป็นการถาวรได้ในครั้งนี้” นางพิมพ์ชนกกล่าว

ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับที่สามของโลก รองจากบราซิล และอินเดีย โดยในปี 2566 ไทยส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลกปริมาณ 6.54 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3,452 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ กัมพูชา และมาเลเซีย

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT