positioning

เปิดจราจรเย็นนี้!"สุริยะ"สั่งเร่งซ่อมถ.กาญจนาฯ ด้าน กปน.สำรวจชั้นดินซ้ำหลังถนนทรุดจากผนังอุโมงค์ท่อประปาใต้ดินแตก

6 ม.ค. 67
เปิดจราจรเย็นนี้!"สุริยะ"สั่งเร่งซ่อมถ.กาญจนาฯ ด้าน กปน.สำรวจชั้นดินซ้ำหลังถนนทรุดจากผนังอุโมงค์ท่อประปาใต้ดินแตก
สุริยะสั่งเร่งซ่อมถ.กาญจนาฯทรุดตัว คาดเสร็จเปิดจราจรได้เย็นวันนี้ (6 ม.ค.)โฆษกคมนาคม” ลงพื้นที่ หารือทล.-กปน.วางมาตรการป้องกัน หลังพบชิ้นส่วนผนังอุโมงค์ท่อประปาใต้ดินแตกเหตุทรายไหลเข้าอุโมงค์ เผยประเมินชั้นดินผิดพลาด กปน.เร่งสำรวจซ้ำ ไม่ให้เกิดอีก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุผิวจราจรทรุดตัวบนทางหลวงหมายเลข 3902 หรือ ถนนกาญจนภิเษก ช่วงพระประแดง - บางแค ที่กม.15+500 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 14.30 น. ที่ผ่านมา จึงได้มอบหมายให้นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม (ผชค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม และคณะทำงานกระทรวงคมนาคม เข้าลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเร่งด่วนในวันนี้ (6 มกราคม 2567) และประสานงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาทันที เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรให้กับประชาชน
ด้านนายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า สาเหตุที่ผิวจราจรทรุดตัวนั้น เกิดจากการดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำของการประปานครหลวง (กปน.) ที่มีการประเมินผิดพลาด จากเดิมที่คาดการณ์ว่า เป็นประเภทดินเหนียว แต่ข้อเท็จจริงแล้ว มีดินทรายอยู่ด้วย จึงทำให้ชิ้นส่วนของผนังก่อสร้างอุโมงค์ แตก 1 ชิ้นส่วน จากทั้งหมด 5 ชิ้นส่วน หลังจากนั้น จึงมีน้ำและทรายไหลเข้ามายังอุโมงค์ขุดเจาะ ที่ขณะนี้ขุดมาแล้วระยะ 1.3 กิโลเมตร (กม.) บริเวณถนนกาญจนาฯ จึงก่อให้เกิดถนนทรุดตัวลงไปประมาณ 60 เซนติเมตร (ซม.)

โดยขณะนี้ ยังปิดการจราจรในบริเวณถนนทรุดตัว บริเวณถนนกาญจนาภิเษก ฝั่งมุ่งหน้าถนนพระราม 2 ทางคู่ขนาน 3 ช่องจราจร และให้เบี่ยงรถไปใช้ ช่องทางหลักแทน เพื่อเร่งดำเนินการซ่อมแซมผิวทางที่เสียหาย โดยทางผู้รับจ้างของ กปน. จะเป็นผู้ดำเนินการ เบื้องต้นจะทำการปรับระดับผิวทางจราจรด้วย Asphalt Bound Base, บดอัดชั้นทาง, เสริมเหล็ก และเทคอนกรีต (Fast Setting Concrete) เพื่อคืนผิวจราจรให้ประชาชนได้ใช้งานชั่วคราว คาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณเวลา 17.00 น. ของวันนี้ (6 มกราคม 2567)
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ทล.จะทำการสำรวจงานทั้งโครงการอีกครั้ง เพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูสภาพผิวถนนให้กลับมาใช้ได้อย่างถาวรต่อไป โดยจะวางแผนการซ่อมแซมถนนไม่ให้กระทบกับประชาชน ซึ่งในเบื้องต้นจะซ่อมแซมในช่วงเวลากลางคืนและจะปิดถนน 4 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ ล่าสุด ทล. ได้ให้วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบขั้นตอน วิธีการก่อสร้างของงานโครงการดังกล่าว ว่าเป็นไปตามแบบที่ กปน. ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่ และให้ทางเจ้าหน้าที่ กปน. ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบตามหลักวิศวกรรมต่อไป ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมยังได้เตรียมส่งหนังสือสั่งการถึงแนวทางการป้องกันและมาตรการต่าง ๆ ด้านความปลอดภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทุกโครงการต้องมีการสำรวจสภาพดินอีกครั้ง ดังนั้นประชาชน จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการ์ณเช่นนี้ขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือมีการสูญเสียของทรัพย์สิน แต่หากผู้ใดได้รับความเสียหายสามารถติดต่อขอชดเชยและเยียวยาได้กับทาง กปน. ได้ทันที ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กราบขออภัยเป็นอย่างสูงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และพร้อมที่จะดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวก ปลอดภัยในทุกมิติ
นายเกรียงไกร เดชไชยปราการ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงธนบุรี กรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวงและ กปน.ได้ร่วมประเมิน เพื่อเร่งดำเนินการ ซ่อมแซมถนน เพื่อให้กลับมาเปิดการจราจรได้เร็วที่สุด ซึ่งพบว่า ถนน มีการยุบตัวลงไปกว่า 90 ซม. โดย ผู้รับจ้างของกปน.จะเป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการบดอัด เพื่อปรับระดับให้พื้นที่เกืดการทรุดกลับมาเสมอเท่ากับถนนปกติ
นายนพทัศน์ มาลีรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก การประปานครหลวง กล่าวว่า หัวเจาะและผนังอุโมงค์ ออกแบบให้สามารถรองรับดินเหนียว ดินทราย อยู่แล้ว แต่เกิดปัญหาที่รอยรั่วผนังอุโมงค์ ทำให้ทรายไหลเข้าอุโมงค์ พื้นที่รอบนอกอุโมงค์ จึงเกิดการยุบตัว ซึ่งได้มีการแก้ไขปัญหาจุดรั่วไหลแล้วและได้ตรวจสอบตลอดแนวอุโมงค์ ที่ได้ขุดเจาะมาก่อนหน้าด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรการที่ได้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ สำหรับมาตรการ ในการขุดเจาะพื้นที่มีการสำรวจชั้นดินก่อนแล้ว แต่จากนี้ จะมีการสำรวจชั้นดินซ้ำอีก เพื่อเป็นมาตรการป้องกันหลายๆชั้น เพราะชั้นดินอาจ เกิดสภาพแปรปรวนได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

ในการขุดเจาะและทำอุโมงค์นั้น จะมีการยิงน้ำปูนไปเคลือบช่องว่าง รอบอุโมงค์ ส่วนรอยเชื่อมอุโมงค์จะซิลไม่ให้เกิดรอยรั่ว และมีการตรวจสอบตลอดเวลา โดยมีผู้ควบคุมงานและมีเครื่องมือมอนิเตอร์ตลอดเวลา พบว่า ดินตอนนี้สภาพคงที่แล้ว

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวถนนกาญจนาภิเษก ของการประปานครหลวง (กปน.)จากถนนกัลปพฤกษ์ ถึง สถานีสูบจ่ายน้ำบางมด ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร มีบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564 และมีกรอบระยะเวลาในการก่อสร้างถึงปี 2569 ซึ่งช่วงจากถนนพระราม2 -ถนนกัลปพฤกษ์ ทำการขุดเจาะมาแล้ว 1.4 กม. บนถนนกาญจนาภิเษก เหลืออีก 1.3 กม. จะถึงจุดบ่อพัก ถนนกัลปพฤกษ์

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT