positioning

“นภินทร”เผยอินโดนีเซียมาแรง ขึ้นเบอร์ 1 ตลาดส่งออกข้าวไทย

5 ธ.ค. 66
“นภินทร”เผยอินโดนีเซียมาแรง ขึ้นเบอร์ 1 ตลาดส่งออกข้าวไทย
“นภินทร” สั่งการ สนค. วิเคราะห์ตลาดส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือนปี 66 พบอินโดนีเซียมาแรงแซงทางโค้งขยับขึ้นเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย ปริมาณสูงถึง 1 ล้านตันเศษ มูลค่า 523 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุเจอภัยแล้ง ฤดูมรสุมล่าช้า ทำปลูกข้าวได้น้อย ส่วนยอดรวมส่งออก 10 เดือน มีปริมาณ 6.9 ล้านตัน มูลค่า 3,967.31 ล้านเหรียญสหรัฐ แนะเดินหน้าสร้างการรับรู้ข้าวไทย เพิ่มโอกาสส่งออก เพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่ และเตรียมรับมือภัยแล้ง

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ติดตามข้อมูลสถานการณ์การค้าสินค้าข้าวของไทย และได้รับรายงานว่าในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) อินโดนีเซียได้กลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย มีปริมาณการส่งออกสูงถึง 1,057,537 ตัน มูลค่า 523.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (18,035.56 ล้านบาท) มูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 13.19% ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด โดยข้าวที่ส่งออกไปอินโดนีเซียส่วนใหญ่ คือ ข้าวขาว 5–10% มีสาเหตุหลักมาจากอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาขาดแคลนข้าว เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงฤดูมรสุมที่ล่าช้า ทำให้อินโดนีเซียปลูกข้าวได้น้อยลง

ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซีย 91,714 ตัน มูลค่า 42.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,511.55 ล้านบาท) มูลค่าการส่งออกไปอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วน 1.06% ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด และอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับที่ 20 ของไทย

นายนภินทรกล่าวว่า สนค. ยังได้ศึกษาข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ซึ่งรายงานว่า ผลผลิตข้าวอินโดนีเซียในฤดูฝนอาจลดลง เนื่องจากฤดูมรสุมล่าช้า โดยคาดการณ์ผลผลิตข้าวของอินโดนีเซีย ปี 2566/67 อยู่ที่ 33.5 ล้านตัน (ข้าวสีแล้ว) ลดลง 3% จากที่คาดการณ์เมื่อเดือนต.ค.2566 ขณะที่พื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว อยู่ที่ 11.3 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 70.6 ล้านไร่) ลดลง 3% จากคาดการณ์เมื่อเดือน ต.ค.2566 ส่วนผลผลิตคาดว่าจะอยู่ที่ 4.67 ตันต่อเฮกตาร์ ลดลงเล็กน้อยจากคาดการณ์เมื่อเดือน ต.ค.2566

ปัจจุบัน อินโดนีเซียปลูกข้าวได้ 3 รอบในหนึ่งปี รอบแรกปลูกในฤดูฝนเป็นหลัก ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. สัดส่วนประมาณ 45% ของการปลูกข้าวทั้งหมด และเก็บเกี่ยวช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. และปลูกในฤดูแล้งอีก 2 รอบ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวหลักของอินโดนีเซียจะปลูกบริเวณพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่สูงทั่วประเทศ มีทั้งนาชลประทานและนาน้ำฝน แต่การทำนาส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียอาศัยน้ำจากระบบชลประทานถึง 85% โดยจะใช้ในพื้นที่เพาะปลูกเป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อเติมปริมาณน้ำให้กับระบบชลประทานอยู่เสมอ

สำหรับการคาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกข้าวของอินโดนีเซียมีแนวโน้มลดลงในปี 2566/67 มีสาเหตุหลักมาจากความล่าช้าของฤดูมรสุมและปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณเกาะชวา ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลัก รวมทั้งบางส่วนของเกาะสุมาตราตอนใต้ ในช่วงตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. ที่ปริมาณน้ำฝนสะสมมีแนวโน้มต่ำกว่าปกติ ขณะที่ฤดูฝนปี 2566 ก็มีความล่าช้าออกไป ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเริ่มปลูกข้าวได้ตามช่วงเวลาที่เคยเป็น และทำให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตปลูกข้าวพื้นที่ราบสูงที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยลง เช่น ข้าวโพด เป็นต้น

นายนภินทรกล่าวว่า การส่งออกข้าวของไทย ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 มีปริมาณการส่งออกรวม 6,922,649 ตัน เพิ่มขึ้น 11.4% มูลค่า 3,967.31 ล้านเหรียญสหรัฐ (136,289.84 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 24.7 โดยตลาดส่งออกข้าวของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อินโดนีเซีย สัดส่วน 13.19% ของมูลค่าการส่งออกข้าวของไทย 2.สหรัฐฯ สัดส่วน 13.03% 3.แอฟริกาใต้ สัดส่วน 10.47% 4.อิรัก สัดส่วน 9.38% และ 5.จีน สัดส่วน 4.41% ตามลำดับ

โดยปัจจุบันความต้องการข้าวจากประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง และการให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เกิดความพยายามในการนำเข้าเพื่อสำรองปริมาณข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ รวมทั้งการระงับการส่งออกข้าวของอินเดียและเมียนมา จึงถือเป็นโอกาสที่จะผลักดันและขยายตลาดส่งออกข้าวไทย ตลอดจนสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของข้าวไทยให้ผู้บริโภครายใหม่ ๆ ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ไทยยังต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพิ่มความหลากหลาย เน้นให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับข้าวไทย และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ขณะเดียวกันเกษตรกรควรเตรียมความพร้อมหาแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย ทำนาแบบยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งต้องติดตามมาตรการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเพาะปลูก เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญให้ได้มากที่สุด

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT