positioning

“สุรพงษ์”ลงพื้นที่ อุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู เร่งรถไฟทางคู่ พัฒนาโลจิสติกส์ภาคอีสาน เชื่อมไทย – ลาว - จีน

3 ธ.ค. 66
“สุรพงษ์”ลงพื้นที่ อุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู เร่งรถไฟทางคู่ พัฒนาโลจิสติกส์ภาคอีสาน เชื่อมไทย – ลาว - จีน
สุรพงษ์”ลงพื้นที่ อุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำพู เร่งรถไฟทางคู่ขอนแก่น - หนองคาย สั่งยกระดับแยกบ้านจั่น แก้จุดตัดถนน พร้อมเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอีสาน เชื่อมไทย-ลาว–จีน ด้านรฟท.จ่อชงบอร์ดเคาะ PPP ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 7,212 ล้านบาท

วันนี้ 3 ธันวาคม 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า และรถไฟทางคู่ภาคอีสาน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภูประกอบด้วย พื้นที่ย่านสถานีหนองตะไก้ สถานีนาทา สถานีหนองคาย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างเชื่อมทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้ เข้าสู่พื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมทั้งแผนพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) สถานีนาทา และแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคายที่จะเชื่อมไปยังสถานีท่านาแล้ง และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รองรับการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ผ่านแดนระหว่างไทย – ลาว - จีน

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า และรถไฟภาคอีสาน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำพู จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งและการค้าของไทย-ลาว-จีน ได้อย่างสะดวก ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจภูมิภาคในอนาคต
ทั้งนี้ ได้มีการรับฟังการบรรยายโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ เข้าสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2566 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยโครงการนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมาก
@ปรับแบบทางคู่ขอนแก่น - หนองคาย ยกระดับแยกบ้านจั่น แก้ปัญหาจุดตัดถนน

จากนั้น เดินทางโดยขบวนรถไฟไปที่สถานีนาทา ผ่านจุดตัดบริเวณทางแยกบ้านจั่น ซึ่งเป็นแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย โดยได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ แก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟ กับ ทล. 216 บริเวณแยกบ้านจั่น โดยปรับรูปแบบการสร้างรถไฟทางคู่ช่วงดังกล่าว เป็นทางยกระดับข้ามจุดตัดทางหลวง 216 อยู่ในระดับที่ 2 รองจากรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับคงทางรถไฟทางเดี่ยวระดับพื้นดิน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถยนต์ - รถไฟ ให้กับประชาชน

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ครม.ได้อนุมัติให้การรถไฟฯ ดำเนินการก่อสร้างโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 และมีกำหนดเวลาดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน คาดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2570
@สรุป PPP พัฒนาย่านสถานี และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา มูลค่าการร่วมลงทุน 7,212 ล้านบาท ชงบอร์ด รฟท.

หลังจากนั้น รมช.คมนาคมได้รับฟังบรรยายโครงการพัฒนาย่านสถานี และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า ขนาดเนื้อที่ 379 ไร่ มูลค่าการร่วมลงทุน 7,212 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ระหว่างประเทศไทย – ลาว – จีน โดยขณะนี้การรถไฟฯ ได้ให้ที่ปรึกษาโครงการ ดำเนินการทบทวนรูปแบบการร่วมลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ก่อสร้างไปพร้อมกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยจะใช้กรอบวงเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 มูลค่าการร่วมลงทุน 7,212 ล้านบาท

โดยอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ ให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบหลักการและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุน และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571
ช่วงบ่ายคณะเดินทางไปยังบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – ลาว เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งฝ่ายไทย และ สปป.ลาว จะร่วมลงทุนก่อสร้างร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ซึ่งขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12 เดือน
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุง รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการ คาดว่าเปิดให้บริการปี 2572

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการระบบโลจิสติกส์และรถไฟทางคู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยให้มีความสะดวก รวดเร็ว ส่งเสริมการเติบโตทางการท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดน การค้าผ่านแดนให้ขยายตัวได้อย่างมั่นคง เกิดการกระจายรายได้ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตลอดแนวเส้นทาง และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งคมนาคมของภูมิภาคได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT