positioning

เคาะ”ยูนิค”สร้างไฮสปีดไทย-จีน” ดอนเมือง-นวนคร ”1.05 หมื่นล. -โยธาปัญหาเพียบหวั่นกระทบงานระบบ

21 มิ.ย. 64
เคาะ”ยูนิค”สร้างไฮสปีดไทย-จีน” ดอนเมือง-นวนคร ”1.05 หมื่นล. -โยธาปัญหาเพียบหวั่นกระทบงานระบบ

บอร์ดรฟท.เคาะ”ยูนิค”สร้างไฮสปีดไทย-จีน ดอนเมือง-นวนคร 1.05 หมื่นล.ด้านอิตาเลียนไทย-เอ.เอสฯเลื่อนเข้าพื้นที่เหตุโควิดห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเตรียมประชุมร่วมJC 24-25 มิ.ย.เผยโยธาปัญหาเพียบส่อปรับไทม์ไลน์

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย(ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม.วงเงิน 10,590 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ สัญญา 4-2มี ราคากลาง10,917 ล้านบาท แต่เนื่องจากกลุ่มกิจการร่วมค้าSPTKประกอบด้วยบจ.ซิโนไฮโดร,บจ.สหการวิศวกร และบจ.ทิพากร ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลในวงเงิน8,626.8 ล้านบาท ไม่ยืนราคาตามกำหนดและไม่เข้าลงนามสัญญา จึงพิจารณาให้ บมจ. ยูนิคฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาในลำดับที่ 2 เข้ารับงานแทน โดยได้มีการชี้แจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงเปรียบเทียบราคาที่เหมาะสม ตามที่บอร์ดรฟท.ให้ไปดำเนินการก่อนหน้านี้อย่างครบถ้วนแล้ว ซึ่งพบว่าปัจจุบันราคาวัสดุได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ส่วนการออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP)เพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร นั้นจะต้องมีการเวนคืนพื้นที่ และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เช่น ท่อน้ำมันบางส่วน ซึ่งจะหารือกับ ปตท.และผู้รับจ้างเพื่อร่วมวางแผนในการเข้าพื้นที่ก่อสร้างก่อนลงนามสัญญา

@พิษโควิดห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน รับเหมา 2 สัญญาขอเลื่อนเข้าพื้นที่

สำหรับงานโยธา 3 สัญญา วงเงินค่าก่อสร้างรวม 2.75 หมื่นล้านบาท ที่มีการลงนามกับผู้รับจ้างไปเมื่อ วันที่ 29 มี.ค.2564 นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง โดยสัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มีบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับงาน วงเงิน 6,573 ล้านบาทกำหนดNTPในช่วงปลายปี 2564 เนื่องจากยังรอการเวนคืนพื้นที่ ส่วนสัญญาที่ 4-3ช่วงนวนคร-บ้านโพ มีบ. เอ.เอสแอสโซศซิเอท , บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ, บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด เป็นผู้รับจ้างวงเงิน 11,525.35 ล้านบาท และ สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี มีบมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้รับงาน วงเงิน 9,428.99 ล้านบาท กำหนดNTPวันที่17 มิ.ย. 2564ผู้รับเหมาขอขยายNTPเป็นวันที่ 30 ก.ค. 2564 เนื่องจาก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ จากกรณีปัญหาโควิดในแคมป์ก่อสร้างในขณะนี้

@โยธาปัญหาเพียบจับตาคณะกก.ร่วมไทย-จีน ประขุม 24-25 มิ.ย.นี้

แหล่งข่าวกล่าวว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint CommitteeหรือJC)ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 24-25 มิ.ย. 2564 โดยเป็นการประชุมทางไกลทางวิดีโอประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ (Video conference)เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีการรายงานประเด็นของงานโยธา 3 สัญญาที่ยังติดปัญหาเพื่อหาแนวทางร่วมกัน คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ติดประเด็นโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. มีประเด็นการปรับแบบช่วงผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการเป็นพื้นที่มรดกโลก และสัญญาที่ 3-1ช่วง แก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. ซึ่งมีประเด็น ฟ้องร้องที่ศาลปกครอง

ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะต้องปรับระยะเวลาก่อสร้างงานโยธาออกไป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสัญญา2.3งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633.5 ล้านบาท ที่จะต้องเลื่อนการออกNTPไปด้วยซึ่งต้องเจรจากับทางจีนเนื่องจากหากเลื่อนกรอบเวลาของสัญญา 2.3 จะกระทบต่อต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT