การเงิน

เตรียมตัวให้พร้อม ! เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษี

8 มิ.ย. 67
เตรียมตัวให้พร้อม ! เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษี

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ครม. มีมติมาตรการลดหย่อนภาษี 2567 สำหรับบุคคลธรรมดา และ เป็นหักรายจ่ายได้เพิ่มขึ้นสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ผ่านการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 2567 

บทความนี้เลยจะชวนมาวิเคราะห์มาตรการดังกล่าวว่าเหมาะกับใคร และเราควรรู้อะไรบ้าง ? โดยแยกออกเป็นสองส่วนระหว่าง บุคคลธรรมดา กับ นิติบุคคล ครับ 

เริ่มกันที่บุคคลธรรมดากันก่อน รายการนี้เรียกว่า ค่าลดหย่อน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • สามารถนำ ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน จังหวัดท่องเที่ยวรอง ไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท
  • ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) เท่านั้น 
  • สามารถใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 2567 

สำหรับหลักการสำคัญของบุคคลธรรมดาที่อยากให้สนใจนั้น มีประเด็นสำคัญอยู่ 3 เรื่องครับ

  • รายการดังกล่าวเป็นรายการ “ค่าลดหย่อน” แต่ไม่ใช่การ “ลดภาษี” ทั้งจำนวน ดังนั้นสิทธิ์สูงสุดจำนวน 15,000 บาทนั้นจะลดภาษีได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับฐานเงินได้สุทธิที่แต่ละบุคคลมี ซึ่งผู้ที่มีรายได้สูงและเสียภาษีในอัตราสูงกว่า ก็จะได้รับความคุ้มค่ากว่าในส่วนนี้ 
  • เอกสารที่ใช้ คือ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นใบกำกับภาษีแบบกระดาษหมดสิทธิ์ใช้ลดหย่อน อย่าลืมเช็คเรื่องเอกสารให้ดี เพื่อที่จะได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ครบถ้วน
  • ค่าใช้จ่ายที่ว่า หมายความถึง ค่าบริการให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และ ค่าที่พัก เท่านั้น แต่ไม่รวมค่าเดินทาง และคาดว่าต้องจ่ายให้กับผู้ประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ผู้ประกอบกิจการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือ ผู้ประกอบการโรงแรมหรือจดทะเบียนเป็นโฮมสเตย์ถูกต้องตามกฎหมายที่อยู่ใน จังหวัดท่องเที่ยวรอง เท่านั้นครับ
     
    เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษี

จบฝั่งของบุคคลธรรมดาไปแล้ว เรามาที่เงื่อนไขของฝั่งนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) กันต่อเลยครับ โดยมาตรการนี้เรียกว่า  มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้

  • ต้องเป็นรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว 
  • สามารถ หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
  • สามารถ หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด หรือหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด
  • เอกสารหลักฐานต้องเป็น ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) เท่านั้น 

จะเห็นว่าในฝั่งของนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) นั้น จะสามารถใช้เป็น “รายจ่ายได้เพิ่มทางภาษี” จากรายจ่ายปกติที่จ่ายไป เช่น จ่ายรายจ่ายค่าอบรมสัมมนาให้แก่ลูกจ้างในประเทศจำนวน 20,000 บาท หากเป็นจังหวัดท่องเที่ยวรอง จะสามารถใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้เพิ่มอีก 20,000 บาท และในกรณีจังหวัดอื่นจะใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้เพิ่มอีก 10,000 บาท ซึ่งมีผลกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องจ่าย

เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษี

ดังนั้นหากมองในฝั่งของนิติบุคคล จะยึดกับการ อบรมสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งต่าง ๆ ที่จ่ายให้กับลูกจ้างเป็นหลัก และให้สิทธิ์ทั้งจังหวัดรอง (2 เท่า) และจังหวัดอื่น (1.5 เท่า) เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศที่กว้างกว่าฝั่งของบุคคลธรรมดา และเหมาะกับบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการจัดอบรมสัมมนาให้กับลูกจ้างอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งการลดภาษีเงินได้จะคุ้มค่าหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ และเสียในอัตราใด เพราะรายจ่ายดังกล่าวก็ไม่สามารถลดภาษีได้ทั้งจำนวนเช่นเดียวกัน 

สุดท้ายสิ่งที่ผมอยากฝากไว้ในประเด็นสำคัญของมาตรการเหล่านี้ มีประเด็นเดียวที่ต้องพิจารณาไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ตาม นั่นคือ เงินที่เราจ่ายไปนั้น มันคุ้มค่าได้รับประโยชน์ตามที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ภาษีที่ลดได้ก็คือโบนัสส่วนเพิ่มที่เรานำไปใช้ประโยชน์ได้อีกต่อหนึ่งครับ 

ป.ล. เงื่อนไขทั้งหมดนี้เป็นเพียงมติ ครม. ดังนั้นรอกฎหมายที่ประกาศอย่างเป็นทางการด้วยนะครับ 

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT