การเงิน

สิ่งที่ต้องเช็ก ก่อนหมดเวลายื่นภาษี 2565

25 ก.พ. 66
สิ่งที่ต้องเช็ก ก่อนหมดเวลายื่นภาษี 2565

ม.ค.-มี.ค. ของแต่ละปี ถือเป็นฤดูกาลยื่นภาษีประจำปีที่หลายคนคุ้นชิน ในขณะที่หลายคนก็ยังรู้สึกว่าการยื่นภาษีเป็นเรื่องที่ไกลตัวไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ตนเองอาจอยู่ในข่ายที่ต้องยื่นภาษีโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อไม่ให้พลาดต้องจ่ายภาษีย้อนหลังพร้อมเงินเพิ่มอีกไม่น้อย ก่อนที่จะหมดช่วงยื่นภาษีตอนสิ้นเดือนมีนาคม มีสิ่งที่ทุกคนต้องเช็กก่อนเพื่อให้มั่นใจก่อน ดังนี้

 1.มีรายได้อะไรบ้าง 

หลายคนที่มีรายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือนและโบนัส เช่น ขายของออนไลน์บนแพลตฟอร์มฮิต ไรเดอร์ส่งอาหาร ฯลฯ มักเข้าใจผิดว่ารายได้เหล่านี้ไม่ต้องยื่นภาษี เพราะอาจคิดว่าสรรพากรไม่รู้ว่าเรามีรายได้ส่วนนี้ หรือรายได้นี้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องยื่นภาษีอีก แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับคนที่มีรายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือนและโบนัส กรณีเป็นคนโสดแล้วมีรายได้รวมทั้งปีเกิน 60,000 บาท หรือกรณีแต่งงานแล้วมีรายได้รวมกับคู่สมรสทั้งปีเกิน 120,000 บาท ก็ล้วนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี อีกทั้งแม้ว่ารายได้ที่ได้รับจะถูกภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว แต่ก็ยังคงต้องนำรายได้เหล่านั้นไปยื่นภาษีอยู่ดี

  2.มีสิทธิอะไรอยู่บ้าง  

นอกจากสิทธิลดหย่อนภาษีที่เกิดจากความตั้งใจ เช่น กองทุน SSF กองทุน RMF ประกันชีวิต ประกันบำนาญ ประกันสุขภาพ ฯลฯ แล้ว ยังมีสิทธิลดหย่อนภาษีที่หลายคนมีโดยไม่ตั้งใจ และบางคนอาจลืมที่จะใช้สิทธิตอนยื่นภาษี ดังนั้นก่อนครบกำหนดวันยื่นภาษี ลองเช็กสิทธิเหล่านี้ให้ดีว่ามีอะไรบ้าง เพื่อจะได้ไม่พลาดตอนยื่นภาษี เช่น

  • “ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร” ลดหย่อนได้ตามค่าใช้จ่ายจริง ไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง

  • “บุตร” ที่อายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 21-25 ปี แต่ยังเรียนระดับอุดมศึกษาอยู่ ลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อบุตร 1 คน และสำหรับบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 61 ลดหย่อนเพิ่มได้อีก 30,000 บาทต่อบุตร 1 คน (ลดหย่อนได้เฉพาะบุตรที่มีรายได้ทั้งปี น้อยกว่า 30,000 บาท)

  • “บิดา และ/หรือ มารดา” ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาท ลดหย่อนได้ท่านละ 30,000 บาท (โดยพี่น้องไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดา ซ้ำซ้อนกันได้)

  • “ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน/คอนโด” ลดหย่อนได้ตามดอกเบี้ยที่จ่ายจริงทั้งปี ไม่เกิน 100,000 บาท โดยสามารถเช็กยอดดอกเบี้ยที่ใช้สิทธิได้ จากหนังสือรับรองดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านของธนาคารที่ผ่อนอยู่ หรือระบบของสรรพากรซึ่งธนาคารมีการส่งข้อมูลดอกเบี้ยดังกล่าวไปแล้ว

 3. ขอคืนภาษีส่วนไหน ได้บ้าง  

สำหรับผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยจาก เงินฝาก/พันธบัตร/หุ้นกู้ หรือเงินปันผลจากกองทุน/หุ้นสามัญ ที่ถูกหักภาษี ณ จ่าย 15% หรือ 10% หากปัจจุบันยังมีรายได้ไม่สูงมาก อาจสามารถขอคืนภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยการนำดอกเบี้ย และ/หรือ เงินปันผล มารวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อยื่นภาษี เช่น มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (กรณีไม่มีรายได้อื่น เช่น เงินโบนัส) ดังนี้

  • รายได้เฉลี่ยน้อยกว่า เดือนละ 38,333 บาท มีโอกาสขอคืนภาษีจากเงินปันผลกองทุนรวม ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% ได้

  • รายได้เฉลี่ยน้อยกว่า เดือนละ 55,000 บาท มีโอกาสขอคืนภาษีจากดอกเบี้ย เงินฝาก/พันธบัตร/หุ้นกู้ ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% ได้

  • รายได้เฉลี่ยน้อยกว่า เดือนละ 180,000 บาท มีโอกาสขอคืนภาษีจากเงินปันผลหุ้นสามัญ (ของบริษัทที่มีอัตราภาษีนิติบุคคล 20%) ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% ได้

ทั้งนี้ การนำรายได้ดังกล่าวไปยื่นภาษี หากจะนำเงินปันผลไปยื่นแล้ว ต้องนำเงินปันผลของทุกกองทุนและทุกษริษัทไปยื่น จะเลือกยื่นแค่บางกองทุนหรือบางบริษัทไม่ได้ ส่วนการยื่นดอกเบี้ยก็ต้องยื่นดอกเบี้ยจากทุกเงินฝากทุกพันธบัตรและทุกหุ้นกู้ที่มีด้วย แต่การยื่นดอกเบี้ยนั้นไม่จำเป็นต้องยื่นเงินปันผลก็ได้

 4.จ่ายภาษีทั้งที ต้องรู้จักเลือกช่องทาง 

สำหรับเงินได้ปี 2565 การยื่นภาษีออนไลน์สามารถยื่นได้ตั้งแต่ต้นปี 66 ไม่ต้องรอจนถึงวันสุดท้าย โดยไม่ว่าจะยื่นวันไหนหากเป็นการจ่ายภาษีเพิ่ม ก็สามารถจ่ายได้สุดท้ายถึงวันที่ 10 เม.ย. 66 และสามารถเลือกชำระภาษีด้วยบัตรเครดิตของบางธนาคารได้ ทำให้สามารถชะลอการควักหรือโอนเงินสดออกจากบัญชีเงินฝากได้อีก 15-55 วัน อย่างบัตรเครดิตที่สรุปยอดก่อนวันที่ 10 เช่น วันที่ 5 เม.ย. หากชำระภาษีด้วยบัตรเครดิตดังกล่าวระหว่างวันที่ 6-10 เม.ย. ก็จะรอสรุปยอดอีกครั้งวันที่ 5 พ.ค. โดยอาจมีวันครบกำหนดชำระหนี้บัตรเครดิตในวันที่ 20 พ.ค. เป็นต้น

อีกทั้งบัตรเครดิตบางธนาคารหลังจากชำระภาษีแล้ว ยังสามารถเลือกเปลี่ยนยอดดังกล่าวเป็นยอดผ่อน 0%ได้ เช่น 0% x 3 เดือน ทำให้เงินในบัญชีที่ชะลอการจ่ายออกไป ยังคงได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารอยู่ ซึ่งปัจจุบันเงินฝากดอกเบี้ยสูงอย่าง e-Savings ของบางธนาคารก็ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 1.5%-2%ต่อปี ทำให้เงินที่ฝากไว้สามารถเติบโตไปอีก 15-55 วัน  หรือ 3 เดือน แล้วแต่กรณี ซึ่งใครที่มีภาษีที่ต้องชำระสูง ผลประโยชน์ที่ได้จากดอกเบี้ยเงินฝากก็จะยิ่งสูงตาม

  ยื่นและชำระภาษี ถือเป็นหน้าที่ของคนที่มีรายได้ทุกคน ไม่ใช่แค่เพียงให้รัฐนำเงินภาษีนั้นไปทำประโยชน์ต่อคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา แต่ยังทำให้ลดหรือหมดความกังวลหากสรรพากรมีการขอตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้  

 

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

SPOTLIGHT