การเงิน

ของขวัญแทนใจ...สไตล์คนใส่ใจการเงิน

10 ธ.ค. 65
ของขวัญแทนใจ...สไตล์คนใส่ใจการเงิน
ไฮไลท์ Highlight
สำหรับการซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ที่มีรายได้ไม่เกินปีละสามหมื่นบาท โดยมีชื่อเราเป็นผู้ชำระเบี้ยประกัน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 15,000 บาทด้วย

ปีใหม่ทีไรเรื่องหาของขวัญให้คนที่รักเป็นสิ่งที่ต้องคิดกันทุกปี แล้วปีนี้ได้เตรียมหรือคิดไว้แล้วหรือยังว่าจะมอบของขวัญอะไรให้กับคนที่รักดี ถ้ายัง... บทความนี้มีของขวัญดีๆ มาแนะนำ ที่ซื้อให้แล้วเป็นประโยชน์กับคนรับ ที่สำคัญไม่ว่าจะปีนี้หรือปีไหนก็ซื้อให้ได้ทุกปี ได้แก่

ของขวัญ เพื่อเป็นเงินเก็บให้คนอื่น

เก็บเงิน

เพื่อให้คนที่รักมีเงินเก็บเป็นของตนเอง โดยเราเป็นผู้ออกเงินเก็บให้ และเมื่อถึงเวลาคนที่รักนั้นจะนำเงินเก็บไปใช้ทำอะไรก็ได้ เพราะเงินเก็บนั้นเป็นสิทธิหรือมีชื่อเขาเป็นเจ้าของ ได้แก่

   1.เก็บเป็น เงินก้อน

ด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากประจำ หรือซื้อสลากออมทรัพย์ ที่มีระยะเวลาการฝากชัดเจน โดยหากเป็นเงินฝากประจำเมื่อครบระยะเวลาฝาก เช่น 3-12 เดือน เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยก็จะยังคงถูกฝากใหม่อย่างต่อเนื่อง สำหรับสลากออมทรัพย์เมื่อครบระยะเวลา เช่น 1-3 ปี ต้องนำเงินนั้นไปซื้อสลากใหม่หรือเก็บในรูปแบบอื่นแทน

ส่วนผลตอบแทนที่ได้ หากเป็นสลากออมทรัพย์เงินส่วนต่างที่ได้รับตอนครบอายุหรือรางวัลที่รับมักได้ยกเว้นภาษี ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากประจำต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งหากชื่อเจ้าของบัญชีที่เป็นลูกหรือพ่อแม่ เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้น้อยอยู่ ก็สามารถขอคืนภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนที่ถูกหักไปได้ ผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับก็สูงขึ้น

   2.ทยอยเก็บ รายเดือนหรือรายปี

อาจเริ่มด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี ที่ต้องฝากเท่าๆ กัน เป็นเวลาอย่างน้อย 24 เดือน โดยมีชื่อคนที่รักเป็นเจ้าของบัญชี ดอกเบี้ยที่ได้รับนอกจากยกเว้นภาษีแล้ว ยังมักสูงกว่าเงินฝากทั่วไปด้วย เหมาะกับคนที่อยากเก็บเงินให้คนที่รัก ที่ยังเก็บได้ไม่เยอะ ต้องเริ่มจากทยอยเก็บทีละน้อยทุกๆ เดือน

หากมั่นใจว่าเก็บเงินได้มากขึ้นและเก็บได้สม่ำเสมอแน่นอน อาจลองเปลี่ยนเป็นเก็บเงินด้วยประกันชีวิตในรูปแบบเบี้ยประกันรายเดือนหรือรายปี โดยมีชื่อคนที่รักเป็นผู้เอาประกัน ผลตอบที่ได้จะอยู่ในรูปแบบของเงินคืนและเงินครบสัญญาที่โดยทั่วไปจะรู้เป็นจำนวนที่แน่นอน อีกทั้งหากชื่อผู้เอาประกันและผู้ชำระเบี้ย คือ คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ด้วยแล้ว เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิตที่คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้นั้นเป็นผู้จ่ายได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท) หรือหากคู่สมรสเป็นผู้มีเงินได้อยู่แล้ว เงินที่เราออกให้เป็นค่าเบี้ย คู่สมรสก็สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท)

ของขวัญ เพื่อเป็นหลักประกันให้คนอื่น

 ทำประกัน

เพื่อบรรเทาผลกระทบกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นเหตุรุนแรงที่ต้องใช้เงินก้อนโต หรือเหตุเล็กน้อยถึงปานกลางที่อาจไปกวนใจเงินในกระเป๋าของคนที่เรารักได้ เช่น

   1.หลักประกัน เป็นเงินมรดกก้อนโต

ด้วยประกันชีวิตตลอดชีพ ที่มีชื่อตนเองเป็นผู้เอาประกัน และมีชื่อคนที่รักเป็นผู้รับผลประโยชน์ ที่สามารถสร้างหลักประกันเงินก้อนหลักแสนหลักล้าน ให้กับคนที่รักหากเราเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยเบี้ยประกันปีละหลักพันหลักหมื่นเท่านั้น แถมเบี้ยประกันที่จ่ายไปสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 100,000 บาทด้วย

   2.วงเงิน ค่ารักษาพยาบาล

ด้วยประกันสุขภาพ (หรือประกันอุบัติเหตุ) ที่มีชื่อคนที่รักเป็นผู้เอาประกัน เพื่อให้เมื่อคนที่รักเจ็บป่วยโดยเฉพาะเมื่อต้องนอนโรงพยาบาลซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง สามารถเบิกค่าใช้จ่ายนั้นจากบริษัทประกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันสุขภาพให้ลูกเล็กที่มักเจ็บป่วยบ่อย ตามเพื่อนๆ วัยเดียวกันที่โรงเรียน หรือพ่อแม่สูงอายุที่มักเจ็บป่วยตามวัย ก็ช่วยให้คนที่รักรีบไปรักษาตัวทันทีที่รู้สึกว่าไม่สบายหรือประสบอุบัติเหตุ ไม่อิดออดเพราะเสียดายเงินอีกต่อไป

สำหรับการซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ที่มีรายได้ไม่เกินปีละสามหมื่นบาท โดยมีชื่อเราเป็นผู้ชำระเบี้ยประกัน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 15,000 บาทด้วย

 

ของขวัญ เพื่อเป็นเงินลงทุนให้คนอื่น

istock-157475134 

การลงทุนจำเป็นต้องเรียนรู้ แต่เมื่อเงินลงทุนต้องเผชิญกับความเสี่ยง ก็ทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะเรียนรู้ หนึ่งในของขวัญคือการจ่ายค่าต้นทุนการเรียนรู้ ด้วยการนำเงินของเราไปให้คนที่รักเปิดบัญชีลงทุนโดยมีชื่อคนที่รักเป็นเจ้าของบัญชี ซึ่งอาจเป็นบัญชีกองทุนรวม เพื่อให้คนที่รักโดยเฉพาะลูกในวัยเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ได้มีโอกาสเห็นถึงผลตอบแทนที่สูงกว่าการเก็บเงินทั่วไป โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงที่เผชิญ เพราะแม้เงินนั้นจะขาดทุนก็ไม่ใช่เงินที่เป็นตนเองออกเอง

ยิ่งการลงทุนนั้นเป็นกองทุน SSF/RMF ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้คนที่รักหันมาสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น เช่น ถ้าเป็นลูกวัยทำงาน การได้เงินคืนภาษีจะยิ่งเป็นแรงจูงใจให้เขาอยากลงทุนผ่านกองทุน SSF/RMF มากขึ้น หรือถ้าเป็นพ่อแม่วัยใกล้เกษียณ ซึ่งเป็นวัยที่มีรายได้และเสียภาษีสูง การนำเงินไปให้เขาลงทุนกองทุน RMF จะช่วยให้เขาได้เงินคืนภาษีในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินที่ลงทุนไป เกิดแรงจูงใจให้อยากลงทุนเองมากขึ้น ที่นอกจากจะได้เงินคืนภาษีมากขึ้นแล้ว ยังทำให้พ่อแม่มีเงินก้อนในวัยเกษียณมากยิ่งขึ้นด้วย 

ของขวัญให้คนที่รัก คุณค่าอยู่ที่ความใส่ใจจากเราที่เป็นคนให้ แม้อาจยังดูเป็นของขวัญที่ไม่ค่อยมีใครให้กัน แต่หากเชื่อว่าของขวัญนั้นจะเป็นประโยชน์แก่คนที่เรารัก ก็ถือเป็นของขวัญที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

SPOTLIGHT