การเงิน

เย็นแบบไหน ? ถึงจะเรียก "เงินเย็น"

15 ต.ค. 65
เย็นแบบไหน ? ถึงจะเรียก "เงินเย็น"

 

เรามักได้ยินคำแนะนำในการเริ่มต้นลงทุนอยู่บ่อยๆ ว่าให้เอา ‘เงินเย็น’ มาลงทุนแต่กลับไม่มีใครมาสอนเราว่าอะไรคือ ‘เงินเย็น’ มีเงินเย็นแล้วต้องมี ‘เงินร้อน’ ด้วยไหม แล้วถ้ามีจริงๆ ขึ้นมา เงินร้อนจะหมายถึงเงินแบบไหนใช้ทำอะไร

วันนี้ผมจะมาแก้ปมปัญหาที่ฟังดูเรียบง่าย แต่ก็ชวนให้ขบคิดอยู่ไม่น้อย ‘เงินเย็น’ คืออะไร ต้องเย็นแค่ไหน ไปหาคำตอบกันได้เลยครับ

เงินร้อน - เงินเย็น มาจากไหน?

คำว่าเงินร้อนหรือเงินเย็น มีต้นกำเนิดมาจากวงการนักวางแผนการเงินครับโดยในวงการนี้ จะมีชื่อเล่นของเงินแต่ละก้อนที่ถูกจัดสรรออกมาเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เป็นศัพท์ที่คนทำงานในวงการนี้จะรู้กันดีว่าหมายถึงอะไร

ถ้าเป็นเงินส่วนที่ถูกจัดสรรเอาไว้ใช้จ่าย เช่น ใช้กินใช้อยู่ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร หรือค่าใช้จ่ายประจำ ส่วนนี้จะเรียกว่า ‘เงินร้อน’ ซึ่งอาจจะเพราะว่าเป็นเงินที่รับเข้ามาแล้วต้องจ่ายออกไป ถือไว้นานๆ ไม่ได้

และรายได้อีกส่วนที่นอกเหนือจากเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายทั่วไป เป็นเงินที่ไม่ได้มีจุดประสงค์การใช้ชัดเจน เก็บเอาไว้เฉยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ในบัญชี ส่วนนี้นี่แหละครับที่เราเรียกว่า ‘เงินเย็น’

แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งรีบพุ่งตัวไปแบ่งเงินเก็บในบัญชีครับเพราะก่อนจะแยกแยะ ‘เงินร้อน-เงินเย็น’ ออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ คุณต้องเข้าใจเรื่องการเงินส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานซะก่อน เพื่อไม่ให้เงินร้อนและเงินเย็นผสมปนเปกันมั่วไปหมดไม่เช่นนั้น อาจจะเป็นตัวคุณเองที่ต้องทน ‘ร้อนๆ หนาวๆ’ กับการพยายามก้าวกระโดดข้ามขั้นไปลงทุน ทั้งๆ ที่สถานะการเงินของตัวเองยังไม่พร้อมครับ

ลำดับการจัดสรรเงินที่ทำให้อุ่นกาย สบายใจ

ก่อนจะมีเงินไปลงทุนให้งอกเงย คุณต้องแน่ใจว่าคุณมีเงินสำหรับกินอยู่ตามปกติ เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานไปทำงานหรือทำกิจกรรมระหว่างวันได้โดยไม่ติดขัดเสียก่อนครับซึ่งเงินส่วนนี้ก็มักถูกแบ่งเป็นรายจ่ายที่แยกย่อยออกมาเป็น 3 ก้อนอีกที คือ

  1. รายจ่ายประจำ (ค่าใช้จ่ายที่จ่ายเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน)
  2. รายจ่ายผันแปร (ค่าใช้จ่ายที่ใช้มากจ่ายมาก ใช้น้อยจ่ายน้อย)
  3. รายจ่ายเพื่อออมและลงทุน

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ อาจจะโฟกัสไปที่การจัดการรายจ่าย 2 ก้อนแรกให้ลงตัวก่อนด้วยการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายให้สม่ำเสมอ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีเครื่องมือช่วยจดมากมาย เป็นแอปติดตั้งในมือถือก็สะดวกดีครับ

พอทำงานไปเรื่อยๆ เริ่มมีรายได้มากขึ้น สกิลการจัดการรายจ่าย 2 ก้อนแรกเริ่มนิ่งแล้ว ค่อยมาโฟกัสกับเจ้ารายจ่ายก้อนสุดท้าย คือ ‘รายจ่ายเพื่อออมและลงทุน’ ที่ถ้าคุณเก็บไปเรื่อยๆ มันจะค่อยๆ ‘เย็น’ มากขึ้น

เย็นทั้งใจ เย็นทั้งเงินในกระเป๋า

 แต่ชื่อก็บอกอยู่ว่า ‘เพื่อออมและลงทุน’ แปลว่ามันมีอีกขั้นตอนนึงขวางหน้าการลงทุนอยู่ นั่นก็คือ ‘การออม’ ที่คุณต้องผ่านด่านไปก่อน อย่าเพิ่งเหนื่อยกันนะครับก่อนจะเริ่มลงทุน ต้องมี ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ ให้มากพอก่อน

ปราการด่านสุดท้าย ก่อนที่คุณจะไปถึงขั้นตอน ‘การลงทุน’ ได้ ก็คือเจ้า ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ ครับ ที่ผมอยากแนะนำให้คุณทยอยเก็บเงินก้อนนี้ให้ได้จำนวนสัก 3-6 เท่าของรายจ่ายประจำกับรายจ่ายผันแปรรวมกัน

เงินก้อนนี้จะเอาไว้ใช้สำหรับ ‘เหตุฉุกเฉิน’ ในชีวิตเท่านั้น ถ้ายังไม่เจอเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤติจริงๆ ก็ห้ามถอนเงินก้อนนี้ออกไปใช้เด็ดขาด ทำได้แค่ใส่เพิ่มมาเรื่อยๆ เมื่อค่าใช้จ่ายข้อ 1. และ 2. มากขึ้นเท่านั้น

และต้องเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่ถอนออกมาใช้ได้รวดเร็ว แปลงเป็นเงินสดได้ง่ายโดยไม่เสียมูลค่า เช่น เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง กองทุนรวมตลาดเงิน สลากออมทรัพย์ ฯลฯ

ประโยชน์ของ ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ ที่เห็นกันชัดๆ ล่าสุดก็ตอนเกิดวิกฤติ Covid-19 ที่หลายคนถูกให้ออกจากงานหรือลดเงินเดือน ทำให้ขาดรายได้ ถ้าใครมีเงินเก็บส่วนนี้อยู่ก็จะยังพอมีเวลา 3-6 เดือนให้คิดหาทางหนีทีไล่ได้ว่าชีวิตจะเอายังไงต่อไป

เห็นไหมครับว่าเงินก้อนนี้มีประโยชน์มาก เพราะจะช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้แบบอุ่นใจ และยังช่วยให้คุณวางแผนการลงทุนได้ทุกกระบวนท่า ไม่ต้องคอยมาห่วงหน้าพะวงหลังว่าจะต้องถอนเงินลงทุนออกมาใช้เมื่อไร

เงินสำรองฉุกเฉินก็เหมือนประกันชีวิตครับ มีไว้ดีกว่าไม่มี จะรอไปซื้อ-ไปเก็บเงินตอนที่ต้องใช้ก็สายเสียแล้ว

สรุป: เงินเย็นแค่ไหนคือเย็น?

จากที่ผมปูทางมา ถ้าคุณมีเงินที่เหลือจากรายจ่ายในชีวิตประจำวัน และเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้ครบถ้วนถูกต้องทุกประการแล้ว เงินส่วนที่เหลือ ที่คุณไม่มีแผนจะใช้ไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปีก็คือ ‘เงินเย็น’ ครับ ยิ่งไม่ต้องใช้อีกนานหลายๆ ปี เงินก้อนนี้ก็จะยิ่ง ‘เย็นมาก’ จนหนาวยะเยือก และจะทำให้คุณลงทุนได้หลากหลาย ถ้าวางแผนจะลงทุนระยะยาวก็ยิ่งเข้าทาง ให้ผลตอบแทนทบต้นได้หลายปีครับ

แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีเงินเย็นแล้วจะกระโดดเข้าไปสนามการลงทุนเลยนะครับ คุณจะโดน ‘รับน้อง’ เอาได้ ผมแนะนำให้คุณเริ่มศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนให้เข้าใจซะก่อน มีวิชาเป็นอาวุธครบถ้วน เมื่อเงินพร้อม ความรู้พร้อม และใจพร้อม คุณถึงพร้อม แล้วค่อยเริ่มขยับมาลิ้มลองรสชาติของการลงทุนจริงครับ   ขอให้มีความสุขกับการลงทุนครับ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

advertisement

SPOTLIGHT