การเงิน

3 ทริคบริหารพอร์ตลงทุน รับมือ 'ค่าเงิน' อ่อนหรือแข็งค่า

11 ส.ค. 65
3 ทริคบริหารพอร์ตลงทุน  รับมือ 'ค่าเงิน' อ่อนหรือแข็งค่า

ผมได้รับคำถามจากนักลงทุนแทบทุกครั้งที่เปิดตัวแผนการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุน ในต่างประเทศ  อย่างล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัว Jitta Ranking ประเทศญี่ปุ่น เป็นจังหวะที่ค่าเงินเยนกำลัง อ่อนค่า ถือเป็นโอกาสในการลงทุนที่นักลงทุนจะซื้อหุ้นได้ในราคาถูก หรือแม้กระทั่งค่าเงินบาทเมื่อ เทียบดอลลาร์สหรัฐ เมื่อไม่กี่วันก่อนอ่อนค่าลงในรอบ 16 ปี ตอนนี้เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นแล้ว


หลายท่านสงสัยว่าในการลงทุนไปลงทุนต่างประเทศเราจะจัดการกับ ความเสี่ยงด้านอัตรา แลกเปลี่ยนหรือเรียกง่ายๆ ว่าความเสี่ยงด้านค่าเงินเหล่านี้อย่างไร เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ ที่ตัดสินใจ ไปลงทุนต่างประเทศจะรู้จักสินทรัพย์ที่ตัวเองลงทุนอย่างดีเยี่ยม รู้แนวโน้มเมกะเทรนด์ และรู้จักหุ้นแต่ละบริษัทว่าทำธุรกิจอะไรบ้าง แต่ผลกระทบเรื่องค่าเงินล่ะ? มีผลต่อการลงทุนต่าง ประเทศอย่างไร?  และเราควรมีแนวทางการรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร?



หากคุณเป็นคนหนึ่งที่จดจ้องการลงทุนในจังหวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า เพื่อให้ลงทุนได้มากขึ้น ผมอยากแนะนำวิธีที่มีประสิทธิภาพและทำตามได้ง่ายกว่าการจับจังหวะลงทุนในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเท่านั้น นั่นคือการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน แต่ก่อนอื่นนักลงทุนควรทำความเข้าใจ คำว่า ค่าเงินแข็งค่า และ ค่าเงินอ่อนค่ากันก่อน เพียงแค่รู้ความหมายของทั้งสองคำนี้ จะทำให้คุณเข้าใจเรื่องค่าเงินมากยิ่งขึ้น

  • ค่าเงินแข็งค่า หมายความว่า สกุลเงินนั้นมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุล จึงต้องใช้จำนวนที่ ‘น้อยลง’ ในการแลกเปลี่ยนเป็นอีกสกุลเงินนึง
  • ค่าเงินอ่อนค่า หมายความว่า สกุลเงินนั้นมีค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุล จึงต้องใช้จำนวนที่ ’มากขึ้น’ ในการแลกเปลี่ยนเป็นอีกสกุลเงินนึง


ตัวอย่างเช่น ในอดีต 30 บาทมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปัจจุบัน 36.50 บาทมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากตัวอย่างนี้มีความหมายว่า เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและ เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทนั่นเอง

 

จากตัวอย่าง คุณสามารถบอกได้ง่ายๆ ว่าสกุลเงินใดที่แข็งค่าขึ้นและสกุลเงินใดที่อ่อนค่าลง และจะสังเกตว่าการเปรียบเทียบค่าเงินนั้น ต้องเปรียบเทียบระหว่างสกุลเงิน 2 สกุลเสมอ



ผมขอยกตัวอย่างที่จะทำให้คุณเข้าใจเรื่องค่าเงินได้ใน 5 นาทีจากภาพข้างล่างนี้

ผลกระทบต่อนายจิตตะ และนายมั่งคั่ง เมื่อค่าเงินแข็ง-เงินอ่อน




935648

 คุณจะเห็นได้ว่าเพียงแค่ค่าเงินขยับเพียงเล็กน้อยจะส่งผลต่อค่าเงินที่นายจิตตะและนายมั่งคั่งในทันที ซึ่งจะทำให้แต่ละคนได้รับผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป หากคุณนำเงินออกไปลงทุนต่าง ประเทศนักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์เหมือนกับนายจิตตะแต่เมื่อแลกเงินกลับเข้าประเทศ นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์เหมือนนายมั่งคั่งหมายความว่านักลงทุนมีโอกาสได้รับประโยชน์ทั้ง ในช่วงค่าเงินแข็งค่าและอ่อนค่านั่นเอง



จริงอยู่ว่าโดยปกติแล้วจะมีวิธีในการลดความเสี่ยงจากค่าเงินด้วยการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน (Currency Hedging) นั่นเอง อย่างไรก็ตามการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจะเหมาะกับ การลงทุนในระยะสั้นมากกว่า แต่หากแผนการลงทุนของคุณเป็นการลงทุนระยะยาว เหมือนเช่นที่แผนการลงทุนของ Jitta Wealth ที่เน้นการเลือกหุ้นที่ดีและการกระจายความเสี่ยง อย่างเหมาะสม จะทำผลตอบแทนสะสมให้คุณได้มากกว่าในระยะยาว กล่าวคือผลตอบแทนรายปี ที่เพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1% ก็สามารถขจัดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้ลดลงได้แล้ว คุ้มค่ากว่าการเสีย ค่าธรรมเนียมในการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินที่อาจกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้การันตี ว่าคุณจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเสมอไป


ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำประกันค่าเงินในกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาเงินบาท กลับอ่อนค่าลง นั่นเท่ากับว่าคุณต้องเสีย ค่าธรรมเนียมการทำประกันค่าเงินไปฟรีๆ โดยไม่ได้อะไร ตอบแทนกลับมาเลยในปีนั้น



เอาล่ะครับพอจะเข้าใจและเห็นภาพผลกระทบของค่าเงินที่อ่อนค่าหรือแข็งค่ากันแล้ว ทีนี้ลอง มาดูกลยุทธ์การลงทุนเพื่อขจัดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินที่แสนง่ายดาย แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก



กลยุทธ์ลงทุน รับมือ ‘ค่าเงิน’ ผันผวน



904613

ผมขอแบ่งกลยุทธ์ลงทุนเพื่อขจัดความเสี่ยงค่าเงินออกเป็น 3 วิธีด้วยกัน ดังนี้

1.Dollar-Cost Averaging (DCA) ทางเลือกที่ดีต่อใจในทุกสถานการณ์

หลายคนเมื่อเข้ามาในแวดวงการลงทุน คงจะได้ยินคำว่า DCA จนเบื่อ แต่ด้วยประสิทธิภาพของ การลงทุนด้วยวิธีนี้ที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าช่วยขจัดความเสี่ยงด้านจากการจับจังหวะซื้อขายและด้านค่า เงินในระยะยาวได้จริง รวมไปถึงยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นให้คุณได้อีกด้วย

การ DCA จะช่วยเฉลี่ยต้นทุนค่าเงินในแต่ละช่วง ทำให้ผลกำไรและขาดทุนจากค่าเงินเบาบางลง และยังทำให้คุณได้ถัวเฉลี่ยราคาหุ้นอีกต่อ เป็นกลยุทธ์ลงทุนที่เรียบง่ายที่ไม่ว่าใครก็สามารถ ทำตามได้ ด้วยการแบ่งเงินลงทุนเท่าๆ กัน และเติมเข้าพอร์ตลงทุนในช่วงเวลาที่กำหนดไว้

 

2.Value Averaging (VA) ล้ำไปอีกขั้น ซื้อให้มูลค่าเป็นไปตามที่ต้องการ

การลงทุนด้วยกลยุทธ์ VA จะเหมือนกับการลงทุนด้วย DCA นั่นคือการเติมเงินเข้าพอร์ตเป็นงวดๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ทุกเดือน ทุกไตรมาส ทุกครึ่งปี หรือทุกปี โดยวิธี DCA นั้นจะเป็นการกำหนดจำนวนเงินที่ลงทุนในแต่ละงวด เช่น เติมเงิน 10,000 บาท เข้าพอร์ตลงทุนทุกเดือน

แต่สำหรับ VA จะเป็นการลงทุนเพื่อให้พอร์ตลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาตามที่คุณต้องการ ไม่ว่า ในช่วงเวลานั้นค่าเงินจะแข็งหรืออ่อนค่า และราคาหุ้นจะปรับขึ้นหรือปรับลง ยกตัวอย่างเช่น คุณเปิดพอร์ตด้วยเงิน 50,000 บาท ในเดือนถัดมาคุณต้องการให้มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาท

แต่ระหว่างนั้นค่าเงินและราคาหุ้นส่งผลให้พอร์ตลงทุนของคุณตกลงมาเหลือ 45,000 บาท หากคุณใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบ VA คุณต้องเติมเงินให้พอร์ตลงทุนอีก 35,000 บาท เพื่อให้มูลค่า พอร์ตเป็น 80,000 บาทตามแผนที่วางเอาไว้นั่นเอง

ในทางกลับกัน หากพอร์ตลงทุนของคุณปรับตัวสูงขึ้นเป็น 55,000 บาท คุณต้องเติมเงินให้พอร์ต ลงทุนของคุณเพียง 25,000 บาท เพื่อให้พอร์ตลงทุนของคุณเป็นมูลค่า 80,000 บาท ตามที่คุณ ต้องการเช่นกัน

ทั้งกลยุทธ์ DCA และ VA จะทำให้ได้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเหมือนกัน แต่ VA จะทำให้คุณได้จำนวนหุ้น เพิ่มมากกว่า เพราะต้องเพิ่มเงินลงทุนเมื่อหุ้นปรับตัวลง แต่เมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น การลงทุนแบบ VA จะลดจำนวนเงินลงทุนที่ซื้อลง หรือกล่าวได้ว่าเมื่อของแพงขึ้น ก็จะซื้อน้อยลงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ลงทุนแบบ VA ต้องใช้วินัยสูงและติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลก เปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อเติมเงินในจำนวนที่พอดี รวมไปถึงระยะเวลาในการซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ อาจทำให้ใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบ VA ไม่ได้ตามที่คุณต้องการอย่างสมบูรณ


3.จับจังหวะลงทุน (Market Timing) รอให้ค่าเงินเป็นไปตามที่ต้องการ แล้วค่อยลงทุน

เป็นวิธีที่หลายคนพยายามทำ ซึ่งการรอให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อยเข้าไปลงทุนช่วยลดความ เสี่ยงจากค่าเงินได้จริง และช่วยความรุนแรงในการขาดทุนจากค่าเงินด้วยเช่นกัน แต่ทว่ากลยุทธ์นี้ มีจุดอ่อนอยู่พอสมควร การที่คุณต้องรอให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก่อนค่อยลงทุน ทำให้คุณพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทน จากการลงทุนระยะยาว และกว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอาจต้องใช้เวลานาน และไม่มีใคร สามารถให้คำตอบได้อย่างถูกต้องว่าช่วงเวลาใดที่ค่าเงินจะแข็งค่ากลับมา


รวมไปถึงในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า หากดูทิศทางของราคาหุ้นในช่วงนั้นคุณอาจจะพบว่า หุ้นอยู่ในช่วงราคาที่ถูกมาก การเฝ้ารอค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น จะทำให้คุณเสียโอกาสสร้าง ผลตอบแทนที่ดีงามไปอย่างน่าเสียดาย แต่หากถามว่าวิธีใดที่ง่ายที่สุด คำตอบคือวิธีนี้ เพราะคุณแค่รอจนกว่าจะถึงเวลาที่ค่าเงินอยู่ ในกรอบที่คุณต้องการเท่านั้น หากไม่คำนึงถึงการเสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทน


ทั้งหมดนี้คือวิชา ค่าเงิน101’ ในการลงทุนต่างประเทศ ที่จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจเกี่ยวกับค่าเงิน กับการลงทุนเพิ่มมากขึ้นแล้ว หากคุณยังมีความสนใจเรื่องราวการลงทุนต่างประเทศ  สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ https://blog.jittawealth.com/

 

หลังจากนี้ผมคิดว่านักลงทุนทุกท่านน่าจะพอเลือกแนวทาง การลงทุนต่างประเทศภายใต้ ความผันผวนของค่าเงินได้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของคุณเองแล้วนะครับ

 

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

advertisement

SPOTLIGHT