สภาพตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาเต็มไปด้วยปัจจัยลบที่มากดดันบรรยากาศการลงทุน หุ้นไทยไหลลงอยู่ในระดับราว 1,200 จุด นอกเหนือจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเหนือการควบคุมแล้วช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดทุนไทยมีคดีใหญ่ ๆซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุนเกิดขึ้นหลายคดีมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมากและมีผลกระทบในวงกว้าง เช่น กรณีหุ้น MORE STARK เป็นต้น
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ร่วมมือกับทั้ง ก.ล.ต. ป.ป.ง. ดีเอสไอ ในการดูแลนักลงทุนมากขึ้นด้วยการยกเครื่องครั้งใหญ่ ปรับกฏเกณฑ์การลงทุนในตลาดทุนไทยหลายเรื่อง เพราะเป็นโอกาสและจังหวะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ โดยมีคุณอัสสเดช เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนใหม่ แทนคุณภากร ปิตะธวัชชัย ที่ครบวาะลง ขณะเดียวกันก็มีประธานคณะกรรมกาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนใหม่ คือ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ที่มากด้วยฝีมือและประสบการณ์ด้านกฏหมายธุรกิจ มาร่วมเดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย
กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรายการ SPOTLIGHT Live Talk ซึ่งท่านได้ยอมรับว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงนี้ จนลุ้นแตะ 1,500 จุดนั้นส่วนหนึ่งเพราะการยกเครื่องครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นไทยนั่นเอง
SET ยกเครื่องครั้งใหญ่ฟื้นความเชื่อมั่น
คุณกิติพงศ์ บอกกับทีม SPOTLIGHT ถึงภาระกิจฟื้นความเชื่อมั่นในตลาดทุนว่า เรื่องแรกที่สําคัญมากคือการแก้ปัญหาความเชื่อมั่น เพราะตลาดทุนไทยถูกกระทบจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตของบางบริษัทจดทะเบียน รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่ผ่านมา มีส่วนกระทบความเชื่อมั่นเช่นกัน มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯนำมาใช้ เช่น เกณฑ์การทำชอร์ตเซล มาตรการ Uptick Rule ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้การขายชอร์ตจำนวนมาก การจัดการ Naked Short ซึ่งผิดกฏหมาย โดยทันทีที่มาตรการ Naked Short หายไปตลาดหุ้นดีขึ้นอย่างชัดเจน และสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังจะต้องดำเนินการต่อไปคือ มาตรการดูแลระบบราคาหุ้นที่มีความผิดปกติด้วย
นอกจากการยกเครื่องปรับกฏเกณฑ์การซื้อขายไปบ้างแล้ว ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า จะพยายามปรับปรุงขั้นตอนในการจัดการกับบริษัทจดทะเบียนที่กระทำความผิดให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะการอยู่ในตำแหน่งกรรมการตลาดหลักทรัพย์ดป็นสมัยที่ 4 พบว่า กว่าจะเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ใช้เวลานานและมีหลายขั้นตอน บางกรณีนานหลายปี เช่น การส่งคดีปั่นหุ้น คดี insider ทีมกฎหมายต้องดูเบื้องต้นแล้ว จะนำส่งข้อมูลนี้ไปที่ก.ล.ต. จากนั้นต้องมีการรวบรวมข้อมูลอีกทีเพื่อจะส่งไปที่ตํารวจและอัยการ หรือตํารวจหรือ DSI แล้วก็อัยการนำส่งถึงศาล
ประธานกรรมการตลท. บอกว่า เราจะเปลี่ยนวิธีการทํางานให้รวดเร็วมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์มีอำนาจในการตรวจสอบมากขึ้นแชร์ข้อมูลให้กับหน่วยงานได้ทันที และหากพบว่าความผิดปกติ ปปง.สามารถทำการยึดทรัพย์ได้ก่อนเลยถึง 90 วัน เพราะตามกฎหมายหลักทรัพย์เป็นความผิดมูลฐานเหมือนการฟอกเงิน ซึ่ง ปปง.สามารถยึดทรัพย์ก่อนโดยที่ไม่ต้องไปรอศาล หากผู้ถูกกว่าวหาไม่มาพิสูจน์ว่าเงินของคุณมาจากไหนก็สามารถยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดินได้เลย วิธีการนี้จะทําให้คนกลัว และแตกต่างจากการปฏิบัติในอดีต
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะมีการนำเอาระบบ AI มาใช้ในกระบวนการมอนิเตอร์ บริษัทที่มีงบการเงินผิดปกติ รวมถึงการซื้อขายที่เคลื่อนไหวผิดปกติด้วยเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่คอยเตือนภัยได้เร็วมากยิ่งขึ้น
“ ปีนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครบ 50 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะมากนะครับ อย่างที่ผมเล่าให้ฟังว่าผมมีโอกาสไปเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์สมัยที่ 4 และเห็นตั้งแต่ 2558 นะครับผ่านโลกมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย ถ้าตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่เปลี่ยนแปลงเราก็จะแข่งขันยากมากเพราะว่าคู่แข่งเราในภูมิภาคเอเชียเริ่มมีการปรับปรุงกระบวนการ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดหุ้นมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทั้งมีประธานตลาดหลักทรัพย์คนใหม่ การมีกรรมการและผู้จัดการตลท.คนใหม่บวกกับการมีรัฐบาลใหม่ เป็นจังหวะที่ดีที่จะขับเคลื่อนเรื่องใหม่ๆได้ ” ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว
บ่มเพาะธุรกิจ New S Curve ให้แข็งแรงพร้อมจดทะเบียนในตลาดทุนไทย
เรื่องที่สอง คือ การเพิ่มขีดความสามารถในตลาดทุน เพราะบริษัทจดทะเบียนไทยกว่า 800 บริษัทยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทย เช่น พลังงาน ธนาคาร การสร้างสินค้าใหม่ๆในตลาดทุนไทยหรือการพัฒนาธุรกิจในกลุ่ม New Economy จึงถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทางประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯยืนยันว่ากำลังดำเนินการอยู่
สำหรับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในตลาดทุนไทย จะเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตใหม่ๆ เช่น สตาร์ทอัพ Healthcare , Tourist & Hospitality ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นอยู่แล้ว เพียงแต่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้หากยังขาดแหล่งเงินทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพัฒนาให้มีตลาดเพิ่มหรือพัฒนาจากตลาดเดิมที่มีอยู่แต่รูปแบบอาจมีความยืดหยุ่นกว่า เช่น ตลาด mai ที่ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนอยู่ราว 200 บริษัท หรือ Live Exchange ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 7 บริษัท แต่ทั้ง 2 ตลาดยังมีข้อจำกัดหลายด้านที่อาจยังไม่มีนัยยะต่อธุรกิจที่ต้องการระดมทุนมากนักจึงเป็นโจทย์ของตลาดหลักทรีพย์ฯที่ต้องพัฒนาตลาดให้เอื้อต่อธุรกิจมากขึ้น ภายในช่วง 6-9 เดือนจากนี้
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องของการเอาบริษัทที่มีธุรกิจที่คล้ายกันมารวมกันเป็น Holding Company ทั้งหมดเหมือนเป็นแนวทางในการบ่มเพาะธุรกิจ ทำให้โอกาสในการที่ธุรกิจรายเล็กๆเหล่านี้จะเแข็งแรงขึ้นเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย สามารถทำได้เร็วขึ้น ไม่ต้องใช้เวลานานนับ10 ปีกว่าจะพร้อมเข้าตลาดทุนหมือนธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากข้อมูลของธุรกิจที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เป็นบริษัทจํากัดมีอยู่ 300,000 กว่าบริษัท แต่ข้อมูลคนที่ทำธุรกิจจริงๆมีมากกว่านั้น เพราะกลุ่มธุรกิจในรูปแบบมีห้างหุ้นส่วนอีก ธุรกิจพ่อค้าแม่ขาย มีปริมาณถึง 3 ล้านราย ซึ่งประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เป็นรากฐานสําคัญ ที่ต้องช่วยกันปรับปรุงและพัฒนาให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น
“ตลาดหลักทรัพย์ฯเราจะทํายังไงให้ช่วยธุรกิจรายกลางรายเล็กเหล่านี้มีสภาพคล่องที่ดีขึ้นอาจจะหาพาร์ทเนอร์ให้ ถ้าเราสามารถสร้างบริษัทใหม่ๆที่เป็น New Economy แล้วช่วยช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น หา big player ทั้งในและต่างประเทศเข้ามา ผมเชื่อว่านักลงทุนไทยที่เป็นสถาบันหรือพร้อมจะเสี่ยงแล้วก็อาจจะมีนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนด้วยนะครับ สิ่งนี้กําลังศึกษาอยู่ว่าทําอย่างไรได้”
อยากพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทย เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ธุรกิจครอบครัวไทย 6-7% ในจดทะเบียนวันนี้เป็น family business คือครอบครัวถือหุ้นเกินครึ่ง ซึ่งเป็นบทบาทที่ ตลท.จะทําให้ธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในตลาดทรัพย์เข้มแข็งขึ้น รวมไปถึงการให้ธุรกิจครอบครัวที่เข้มแข็งนอกตลาด เข้ามาจดทะเบีบนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายมาช่วยกันพัฒนา องค์ความรู้ แหล่งเงินทุน
ตลาดทุนไทย ต้องเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับการพัฒนาตลาดทุนให้พัฒนาอย่างยั่งยืน หรือแนวทาง ESG เป็นเรื่องทุกธุรกิจทั้งในและนอกตลาดฯต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ E-Environment หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ประเด็น ESG เป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด ซึ่งความยั่งยืนต้องเริ่มจากบริษัทใหญ่ๆก่อนแล้วก็กําหนดเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือกับคู่ค้าให้ทําตามเกณฑ์ ถ้าสิ่งเหล่านี้ตลาดไม่เริ่ม บังคับกับบริษัทใหญ่ๆ800- 900 บริษัท มันก็จะเริ่มไม่ได้และเมื่อเริ่มด้วยความสมัครใจก่อน ในอนาคตเกณฑ์บริษัทที่ดำเนินการ ESG ก็จะมีความเข้มข้นมากขึ้นแน่นอน
“ต่อไปนี้บริษัทจดทะเบียนในหลักทรัพย์เราจะมีการให้เรตติ้ง ของเดิมตลท.ให้บริษัทจดทะเบียนกรอกรายละเอียดการดำเนินการด้าน ESG แต่ต่อมาก็มีการตั้งคำถามว่า ทำไมบางบริษัทไม่ถูกถอดออกจาก ESG ซึ่งต่อไปภายใน 2569 จะมีการให้องค์กภายนอกเข้ามาประเมินเพื่อให้บริษัทดำเนินการเรื่อง ESG อย่างแท้จริง”
นี่คือ 3 ภารกิจหลักของศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เข้ามาในจังหวะของการเปลี่ยนแปลงในหลายวาระสำคัญ แต่เชื่อแน่ว่า ภารกิจตลาดหลักทรัพย์จากนี้จะเป็นความหวังให้กับนักลงทุนได้กลับมาเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยมากขึ้น
ชมคลิปรายการ SPOTLIGHT LIVE TALK ได้ที่ลิงก์นี้