การเงิน

เปิดแผนรับมือ 'ภาษีขายหุ้น' ตระหนักได้ แต่ไม่ตระหนก

12 ธ.ค. 65
เปิดแผนรับมือ 'ภาษีขายหุ้น' ตระหนักได้ แต่ไม่ตระหนก
ไฮไลท์ Highlight
ดังนั้น ‘ภาษีขายหุ้น’ ที่ไทยกำลังจะเก็บเพิ่ม ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หลายๆ ประเทศก็ทำกัน

และแล้วก็ประกาศอย่างเป็นทางการสำหรับ ‘ภาษีขายหุ้น’ หรือ Financial Transaction Tax (FTT) ที่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)  เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่ xx พ.ศ. xx (การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง 

ทั้งนี้ร่างกฎหมายนี้ยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่งนักลงทุนจะมีเวลาหลังจากประกาศอีก 90 วัน เป็นระยะเวลาผ่อนผัน (Grace Period) ให้ทุกๆ ฝ่ายได้เตรียมตัวเตรียมใจ ก่อนจะเก็บภาษีขายหุ้นจริงๆ

จากร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคาดว่า ปี 2566 นักลงทุนทุกกลุ่มที่มีการขายหุ้นไทย ต้องถูกเก็บภาษีขายหุ้นเพิ่มอีก 1 รายการ นอกเหนือจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ถูกเก็บจากค่านายหน้า (Commission) โดยรัฐบาลจะเก็บภาษีขายหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในอัตรา 0.10% ของมูลค่าขาย ตั้งแต่บาทแรก (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น 0.01%) โดยให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล. หรือ โบรกเกอร์) เป็นผู้เก็บภาษีรายการนี้นำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน

หากเป็นไปตามกระบวนการต่างๆ นี้ ในช่วงปี 2566 หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะเริ่มเก็บภาษีในอัตรา 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่น 0.005%) และปี 2567 เป็นต้นไปจะจัดเก็บในอัตรา 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น 0.01%)

วันนี้ผมจึงขอพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีขายหุ้น เพื่อให้คุณเตรียมตัวรับมือโลกการลงทุนในหุ้นไทยเอาไว้ล่วงหน้า

ภาษีลงทุน ‘หุ้นไทย’ มีอะไรบ้าง?

ปกติแล้วเราทุกคนมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมายอยู่แล้ว ทีนี้มาดูกัน การลงทุนใน ‘หุ้นไทย’ ด้วยตัวเอง มีภาษีที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง ผมได้รวบรวมภาษีต่างๆ ที่นักลงทุนรายย่อย (Individuals) ต้องรู้ก่อนลงทุน ดังนี้

  1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มี 2 ประเภท คือ

    1. กำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gains Tax) ในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ได้รับการยกเว้นภาษี

    2. เงินปันผล (Dividend) มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% (Withholding Tax) แต่จะได้รับการยกเว้นภาษีได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

  2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

    ในที่นี้หมายถึง ‘ภาษีขายหุ้น’ อัตรา 0.11% ที่กำลังจะถูกเรียกเก็บในปี 2566 เป็นต้นไป เป็นภาษีที่จัดเก็บจากกิจกรรมซื้อขายสินค้าและบริการ ในกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จะเป็นคนละส่วนกับ VAT ไม่เก็บซ้ำซ้อนกัน

  3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

    จะถูกเรียกเก็บจากโบรกเกอร์ที่ให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ รวมไปถึงตราสารอนุพันธ์ อัตรา 7% ของค่านายหน้า (Commission Fee) ซึ่งเป็นภาษีที่เกิดจากค่าบริการของโบรกเกอร์เท่านั้น เพราะการซื้อขายหุ้น ไม่ถือเป็นการซื้อขายสินค้า จึงไม่ต้องเสีย VAT

  4. อากรแสตมป์

    จะใช้ในกรณีที่มีการโอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ และพันธบัตรที่มีตราสารการโอน ผู้โอนต้องติดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท สำหรับทุกจำนวน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาท คำนวณตามราคาหุ้นที่ชำระแล้วหรือตามราคาในตราสาร เว้นแต่เป็นการโอนหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) เป็นนายทะเบียน หรือการโอนพันธบัตรรัฐบาล

สำหรับ Capital Gains Tax (ภาษีกำไรส่วนทุนจากการขายสินทรัพย์) กระทรวงการคลังยังไม่ได้พิจารณาถึงภาษีรายการนี้ เพราะในแง่ของการปรับแก้กฎหมายต่างๆ จะมีความยุ่งยากมากกว่า FTT หรือภาษีขายหุ้น ซึ่งขั้นตอนไม่ซับซ้อนมาก และร่างกฎหมายเสนอต่อครม. ได้เร็วกว่า

ใครได้ ใครเสีย และผลกระทบ ‘ภาษีขายหุ้น’

รู้หรือไม่ ภาษีขายหุ้น เดิมชื่อ ภาษีการค้า เคยเก็บจากการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยมาแล้วในช่วงปี 2521 ในอัตรา 0.1% (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) แต่มายกเว้นให้ในปี 2525 เป็นต้นมา เพื่อสนับสนุนการซื้อขายหุ้นและการเติบโตในตลาดหุ้นไทย ก่อนเปลี่ยนมาเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ ในปี 2534 และออกกฎหมายยกเว้นการจัดเก็บมาจนถึงปัจจุบัน

ถ้านับย้อนจนถึงชื่อเดิม คือ ภาษีการค้า ภาษีขายหุ้นยกเว้นจัดเก็บมานานถึง 40 ปีแล้ว

ครได้ประโยชน์จากภาษีขายหุ้น ก็คือ รัฐบาล จากคาดการณ์ว่า จะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอีก 16,000 ล้านบาทต่อปี (อัตรา 0.11%) นำรายได้ส่วนนี้มาวางแผนจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี จัดสรรไปตามหน่วยงานต่างๆ ถ้ารัฐบาลบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ผลประโยชน์ก็อยู่กับประชาชนในประเทศนั่นเอง

ครเสียประโยชน์จากภาษีขายหุ้น ก็คือ นักลงทุนทุกกลุ่ม รายย่อย กองทุน สถาบัน และต่างชาติ ต้องเสียภาษีส่วนนี้ เมื่อทำรายการขาย ซึ่งก็เสียภาษี 2 รายการอยู่แล้ว คือ ภาษีเงินได้จากเงินปันผล และภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่านายหน้า

ส่วนผลกระทบด้านบวก คือ แรงเทขายหุ้นไทยมีแนวโน้มบรรเทาลงมาได้ในอนาคต เมื่อต้องเสียภาษีขายหุ้น นักลงทุนจะคิดมากขึ้นก่อนจะส่งคำสั่งขาย เพราะต้นทุนทำรายการสูงขึ้น ส่งผลให้ความผันผวนลดลงได้บ้าง และมีการถือครองหุ้นบริษัทที่นานขึ้น

ขณะที่ผลกระทบด้านลบ ใช่ว่าจะไม่มี สภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มลดลง เมื่อต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น แต่ผลตอบแทนเท่าเดิม โอกาสเติบโตน้อย ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยก็ลดลงได้ ยิ่งถ้ามีตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ทำผลตอบแทนได้ดีกว่า ต้นทุนการลงทุนต่ำ เม็ดเงินจากนักลงทุนก็จะไหลไปลงทุนตลาดหุ้นนั้นได้ มูลค่าซื้อขายหมุนเวียนในตลาดหุ้นไทยก็อาจจะลดลงในอนาคต

แต่จะมีกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น ‘ภาษีขายหุ้น’ ได้แก่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนให้กองทุนบำนาญต่างๆ

วิธีคำนวณค่าธรรมเนียมและภาษีของ ‘หุ้นไทย’

หากคุณได้อ่านใบยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์ที่โบรกเกอร์ไทยส่งให้คุณในทุกสิ้นวันที่คุณทำรายการซื้อขาย เอกสารนี้เป็นเหมือนใบกำกับภาษี ซึ่งโบรกเกอร์จะแจกแจงรายการต่างๆ ดังนี้

  1. ค่านายหน้า (Commission Fee) มีหลายๆ อัตรา ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 0.107-0.257% ก่อน VAT โบรกเกอร์บางรายอาจจะมีค่านายหน้าถูกมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับประเภทบัญชีซื้อขาย ช่องทางการซื้อขาย และมูลค่าซื้อขายต่อวัน โบรกเกอร์บางรายอาจจะคิดค่านายหน้า ขั้นต่ำต่อวัน 30-50 บาทด้วย
  2. ค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ (SET Trading Fee) อัตรา 0.005% ของมูลค่าการซื้อขายต่อวัน
  3. ค่าธรรมเนียมชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (TSD Clearing Fee) อัตรา 0.001% ของมูลค่าการซื้อขายต่อวัน
  4. ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล (Regulatory Fee) อัตรา 0.001% ของมูลค่าการซื้อขายต่อวัน
  5. ภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตรา 7% ของค่านายหน้า
  6. ภาษีขายหุ้น อัตรา 0.11% ของมูลค่าขาย ที่จะเพิ่มเข้ามาอีก 1 รายการ เมื่อคุณทำรายการขาย

กรณีที่คุณเป็นนักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนสถาบัน และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริหารกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล ค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นไทย จะขึ้นอยู่กับการตกลงกับโบรกเกอร์ที่ใช้บริการ

หากคุณเป็นนักลงทุนรายย่อย จะเห็นต้นทุนต่างๆ ที่ถูกคำนวณจากราคาซื้อขายหุ้นของคุณในวันนั้น บวกเข้ามาด้วย แม้จะเป็นจำนวนน้อย แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายรวมที่เกิดขึ้น และเมื่อคุณขายหุ้นนั้น ค่าใช้จ่ายรวมในปัจจุบัน จะต้องบวกเพิ่มอีก 0.11% (ภาษีขายหุ้น) ในอนาคต

สูตรการคำนวณค่าค่าธรรมเนียมและภาษีของหุ้นไทยภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ แบ่งได้ดังนี้

  • กรณีซื้อ (ค่านายหน้า × VAT) + Trading Fee + Clearing Fee + Regulatory Fee
  • กรณีขาย (ค่านายหน้า × VAT) + Trading Fee + Clearing Fee + Regulatory Fee + ภาษีขายหุ้น

ยกตัวอย่าง คุณทำธุรกรรมของหุ้น 1 บริษัทเป็นมูลค่าซื้อขายวันนั้น 100 บาท ค่านายหน้า (Commission Fee) บัญชี Cash Balance ทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 0.157% จะคำนวณต้นทุนการลงทุน ‘หุ้นไทย’ ได้ดังนี้

  • กรณีซื้อ (0.157 × 1.07) + 0.005 + 0.001 + 0.001 = 17499 บาท
  • กรณีขาย (0.157 × 1.07) + 0.005 + 0.001 + 0.001 + 0.11 = 28499 บาท

คุณจะเห็นว่า ภาษีขายหุ้นจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 63% สำหรับค่านายหน้า 0.157% เพราะเป็นสัดส่วนต้นทุนที่สูงรองจากค่านายหน้านั่นเอง

หากค่านายหน้าของโบรกเกอร์ที่คุณใช้บริการอยู่น้อยกว่านี้ เช่น 0.107% ต้นทุนค่าธรรมเนียมและภาษีต่างๆ กรณีขายหุ้นจะเป็น 91% เพราะภาษีขายหุ้นเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ใกล้เคียงกัน

อธิบายง่าย คือ ถ้าค่านายหน้าซื้อขายหุ้นน้อยกว่า 0.11% ต้นทุนธุรกรรมกรณีขายหุ้นไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 1 เท่าตัว แต่ถ้าค่านายหน้าสูงอยู่แล้ว เช่น 0.257% กรณีส่งคำสั่งขายหุ้นผ่านทางเจ้าหน้าที่การตลาด ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 40%

ไม่ว่าจะมีค่านายหน้าจะมากหรือน้อยแค่ไหน ‘ภาษีขายหุ้น’ คือ ต้นทุนที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคตอยู่ดี

ลงทุนหุ้นต่างประเทศ มีต้นทุนอะไรบ้าง?

หากคุณเป็นนักลงทุนรายย่อยต้องการมีพอร์ตลงทุนหุ้นต่างประเทศและเลือกลงทุนด้วยตัวเอง การเข้าไปลงทุนแต่ละประเทศ ย่อมมีต้นทุนที่แตกต่างกัน ตามกฎหมายของตลาดหุ้นและหน่วยงานกำกับดูแล

ผมได้สรุปค่าธรรมเนียมและภาษีต่างๆ ของตลาดหลัก 5 ประเทศ จาก 29 ประเทศที่แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta ได้ให้บริการศึกษาและเลือกหุ้นอยู่ ดังนี้

สหรัฐอเมริกา

  • Commission Fee ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ที่คุณใช้บริการ อาจจะคิดเป็นเปอร์เซนต์ของมูลค่าซื้อขายหรือต่อหุ้น รวมทั้งมีค่านายหน้าขั้นต่ำ
  • SEC Fee หรือค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ อัตรา 0.00229% ของมูลค่าขาย
  • ADR Fee กรณีลงทุนหุ้นต่างประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ส่วนอัตราขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (หุ้น) กำหนด
  • Withholding Tax อัตรา 30% ของเงินปันผล

จีน (A-share)

  • Commission Fee อัตรา 0.2-0.3% ของมูลค่าซื้อขาย ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ที่คุณใช้บริการ รวมทั้งมีค่านายหน้าขั้นต่ำ
  • Securities Management Fee อัตรา 0.002% ของมูลค่าซื้อขาย
  • Handling Fee อัตรา 0.00487% ของมูลค่าซื้อขาย
  • Transfer Fee อัตรา 0.003% ของมูลค่าซื้อขาย
  • Stamp Duty อัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย
  • Withholding Tax อัตรา 10% ของเงินปันผล

ญี่ปุ่น

  • Commission Fee อัตรา 0.2-0.3% ของมูลค่าซื้อขาย ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ที่คุณใช้บริการ รวมทั้งมีค่านายหน้าขั้นต่ำ
  • Withholding Tax อัตรา 15.315% ของเงินปันผล

ฮ่องกง

  • Commission Fee อัตรา 0.2% ของมูลค่าซื้อขาย ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ที่คุณใช้บริการ รวมทั้งมีค่านายหน้าขั้นต่ำ
  • Trading Fee อัตรา 0.005% ของมูลค่าซื้อขาย
  • Transaction Levy อัตรา 0.0027% ของมูลค่าซื้อขาย
  • Stamp Duty อัตรา 0.13% ของมูลค่าซื้อขาย
  • Clearing Fee อัตรา 0.002% ของมูลค่าซื้อขาย
  • Handling Fee อัตรา 0.00015% ของมูลค่าซื้อขาย
  • Withholding Tax อัตรา 10% ของเงินปันผล กรณีลงทุนในหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง (H-share) แต่บริษัทฮ่องกงส่วนใหญ่จะไม่มีการหักภาษีเงินปันผล

เวียดนาม

  • Commission Fee อัตรา 0.3% ของมูลค่าซื้อขาย ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ที่คุณใช้บริการ รวมทั้งมีค่านายหน้าขั้นต่ำ
  • Tax Regulation Fee อัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย
  • Sales Tax อัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย

หากมองในภาพใหญ่ ด้านต้นทุนค่าธรรมเนียมและภาษีการลงทุนในหุ้นของแต่ละประเทศ คุณจะเห็นว่า มีรายละเอียดปลีกย่อยไม่แตกต่างกับไทยสักเท่าไร บางประเทศเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมซื้อเยอะกว่าธุรกรรมขาย บางประเทศเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีเมื่อขายหุ้นเช่นเดียวกัน 

ดังนั้น ‘ภาษีขายหุ้น’ ที่ไทยกำลังจะเก็บเพิ่ม ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หลายๆ ประเทศก็ทำกัน

สำหรับ Capital Gains Tax ของแต่ละประเทศ ปัจจุบันยังไม่ถูกคำนวณภาษี เหมือนกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่คุณจะมีค่าธรรมเนียมโอนเงินไปและกลับจากต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมแปลงสกุลเงิน และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากค่าธรรมเนียม ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ที่คุณใช้บริการเช่นเดียวกัน

วิธีรับมือ ‘ภาษีขายหุ้น’ ใหม่

เอาล่ะครับ ถึงเวลาที่เราต้องตระหนักถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นแน่แท้แล้ว แต่ระหว่างที่คุณเฝ้ารอร่างกฎหมาย ‘ภาษีขายหุ้น’ ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา และนับไปอีก 90 วันนับจากนี้  คุณยังมีเวลาทบทวนแนวทางและเป้าหมายการลงทุนของคุณเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับมือต้นทุนการขายหุ้นไทยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ผผมอยากจะบอกว่าหากเราเตรียมตัววางแผนและปรับแนวทางการลงทุนไว้แต่เนิ่นๆ เมื่อถึงเวลาที่กฎหมายบังคับใช้ เราก็จะไม่ตระหนกกับตัวเลขต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำอย่างไร ไปดูกันครับ 

ข้อที่ 1 ปรับแนวทางการลงทุน

หากคุณเป็นนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นไทยบ่อย สายเดย์เทรด หรือสายเทคนิควิเคราะห์กราฟราคาแท่งเทียน ก็เตรียมใจสำหรับภาษีขายหุ้นที่สูงกว่าเพื่อน ดังนั้นคุณอาจจะเปลี่ยนแนวทางการลงทุนหุ้นไทย เป็นพอร์ตลงทุนระยะยาวแทน เน้นการลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth Stock) และหุ้นคุณค่า (Value Stock) ที่พื้นฐานกิจการแข็งแกร่ง กระจายความเสี่ยงอย่างน้อย 5 บริษัท ปรับพอร์ตลงทุนน้อยครั้ง ลดธุรกรรมขาย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้พอร์ตลงทุนและเงินปันผล

ข้อที่ 2 เลือกหุ้นที่ใช่ ลงทุนได้ยาว

ต่อเนื่องจากข้อที่ 1 หากคุณไม่มั่นใจ ที่จะต้องจัดพอร์ตหุ้นเอง คุณสามารถใช้เครื่องมือฟรีๆ อย่างแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta มาประกอบการตัดสินใจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย   AI และอัลกอริทึมจะจัดอันดับความน่าลงทุนผ่าน Jitta Ranking อัปเดตทุกวัน ทริกง่ายๆ คุณสามารถติดตามหุ้นไทยที่สนใจ ดูอันดับใน Jitta Ranking และเลือกลงทุนหุ้นไทยในอันดับแรกๆ ได้เลย

สำหรับระยะเวลาลงทุนและปรับพอร์ต คุณสามารถใช้แนวทางการลงทุนเมื่อครบ 1 ปี โดยพิจารณาในหลายๆ มุมมอง ดังนี้

  • อัปเดตคุณภาพกิจการจาก Jitta Score และมูลค่าที่เหมาะสมจาก Jitta Line ของหุ้นที่อยู่ในพอร์ต
  • วิเคราะห์คะแนนคุณภาพกิจการจาก Jitta Factors และสัญญาณความแข็งแกร่งของธุรกิจจาก Jitta Signs
  • สำรวจคู่แข่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันจาก Key Stats และอ่านงบการเงินเชิงลึกใน Jitta FactSheet

หากคุณวิเคราะห์แล้วว่า หุ้นไทยที่ลงทุนอยู่มีการเติบโตลดลง ส่งผลให้อันดับที่เคยอยู่ต้นๆ เริ่มตกลงไป และมีหุ้นที่น่าลงทุนกว่าเข้ามาติดอันดับแทน คุณสามารถปรับพอร์ต ตัดสินใจขายหุ้นเก่า และซื้อหุ้นใหม่เข้ามาแทน ดังนั้นคุณจะขายหุ้นปีละ 1 ครั้ง ต้นทุนจากภาษีขายหุ้นจะไม่สูงมาก

แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta ถูกพัฒนาจากหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment) ยึดหลักคิดของ Warren Buffett คือ Buy a wonderful company at a fair price (ลงทุนในธุรกิจที่ดีในราคาที่เหมาะสม) เมื่อหุ้นนั้นเป็นสินทรัพย์ที่ดี ลงทุนในราคาที่ไม่แพงเกินไป ย่อมมีโอกาสที่จะได้กำไรมากกว่าขาดทุน และสามารถชดเชยต้นทุน ‘ภาษีขายหุ้น’ เมื่อถึงเวลาขาย

หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้ที่ https://jitta.co/3Heq1bc

ข้อที่ 3 ลงทุน ‘หุ้นไทย’ ผ่านกองทุนรวม

วิธีการนี้ เป็นการจ่าย ‘ภาษีขายหุ้น’ ทางอ้อม เพราะกองทุนรวมก็ต้องมีต้นทุนภาษีนี้ เมื่อขายหุ้นออกจากพอร์ตลงทุนเช่นเดียวกัน และต้นทุนก็จะถูกรวมมาในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value - NAV)

แต่คุณสามารถเลือกลงทุนกองทุนรวมที่มีนโยบาย Passive Investment เช่น กองทุนดัชนี SET50 หรือ SET100 และกองทุนดัชนีรายอุตสาหกรรม อย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มพลังงาน ซึ่งกองทุนเหล่านี้จะปรับพอร์ตไม่บ่อย เน้นลงทุนให้ผลตอบแทนไปตามดัชนีอ้างอิง

เมื่อขายไม่บ่อย ค่าธรรมเนียมกองทุนก็จะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก หรืออาจจะไม่เพิ่มเลย ไม่ผลักภาระไปให้นักลงทุน เพื่อให้แข่งขันในตลาดกองทุนรวมไทยได้

กองทุนรวม ถือเป็นนักลงทุนสถาบัน ย่อมมีการต่อรองค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ไทยกับโบรกเกอร์อยู่แล้ว ดังนั้นต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ บลจ. แต่ละรายจะบริหารจัดการได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ คุณสามารถลงทุนกองทุนดัชนีผ่าน ETF (Exchange Traded Fund) ในตลาดหุ้นไทยได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ความหลากหลายและจำนวนกองทุน อาจจะไม่มากเท่ากับตลาดกองทุนรวม

สำหรับกองทุนรวมที่มีนโยบาย Active Investment ที่ลงทุนหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีอ้างอิง อาจจะมีการซื้อขายหุ้นบ่อยครั้ง ค่าธรรมเนียมบริหารกองทุนรวมจะสูงอยู่แล้ว เพราะผู้จัดการกองทุนต้องติดตามภาวะตลาดหุ้นและความเคลื่อนไหวของหุ้นในพอร์ตตลอดเวลา

ข้อที่ 4 ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล

การลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล ไม่ได้เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อนหลักล้าน ใครๆ ก็เริ่มต้นลงทุนได้ เงินหลักพัน หลักหมื่น หรือหลักแสน ก็ทำได้แล้ว

กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มีการกำกับดูแลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เช่นเดียวกับกองทุนรวม แต่นักลงทุนในฐานะเจ้าของพอร์ต สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ต้องการ บนความเสี่ยงที่ยอมรับได้

นอกจากนี้ การซื้อขายสินทรัพย์อย่างหุ้นไทย ขึ้นอยู่กับนโยบายและกลยุทธ์ลงทุนที่คุณเลือกไว้กับบลจ. นั้นๆ สำหรับ Jitta Wealth เน้นไปที่การลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 3-10 ปี หรือนานกว่านั้น สร้างผลตอบแทนทบต้นไปเรื่อยๆ ผ่านระบบลงทุนอัตโนมัติ (Automated Investing)

นโยบาย Jitta Ranking คือ การจัดพอร์ตลงทุนตามแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta เป็นหลัก มองการเติบโตลงทุนระยะยาว ดังนั้นผลตอบแทนที่เกิดขึ้นเมื่อคุณลงทุนนานพอ จะสามารถชดเชยต้นทุน ‘ภาษีขายหุ้น’ ได้อยู่แล้ว

ข้อที่ 5 หาโอกาสลงทุน ‘หุ้นต่างประเทศ’

โอกาสลงทุนมีอยู่ทั่วโลก สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว เพราะได้กระจายความเสี่ยงไปในตลาดหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตประเทศอื่นๆ ด้วย

การลงทุนต่างประเทศก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนไทย เพราะโบรกเกอร์หลายๆ รายมีบริการลงทุน ทั้งหุ้นและ ETF ขณะเดียวกันธุรกิจบริหารกองทุนส่วนบุคคลก็มีบริการจัดพอร์ตลงทุนต่างประเทศเช่นเดียวกัน และมีค่าธรรมเนียมต่ำ เริ่มต้นลงทุนได้ไม่ยาก

Jitta Wealth ก็มีนโยบาย Global ETF และ Thematic สำหรับ ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา รวมทั้งนโยบาย Jitta Ranking ในประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ให้คุณเลือกกระจายความเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน

คุณสามารถเลือกได้ว่า จะให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นประเทศไหนมากกว่า เชื่อมั่นในโอกาสเติบโตของตลาดหุ้นไหน หรือคงสัดส่วนในหุ้นไทยไว้ แต่ไปเน้นลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนก็ได้

หากคุณชื่นชอบกองทุนรวม ก็เลือกลงทุน FIF (Foreign Investment Fund - กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนต่างประเทศ) ถ้าคุณต้องการค่าธรรมเนียมกองทุนต่ำๆ ก็ลงทุนในกองทุน Feeder Fund ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนต่างประเทศเพียงกองเดียว แต่ต้องเป็นนโยบายแบบ Passive Investment

ทั้งหมดนี้คือ ภาพรวมของ ‘ภาษีขายหุ้น’ ที่นักลงทุนไทยกำลังจะถูกเรียกเก็บในอนาคต รวมถึงแนวทางการรับมือที่ผมแนะนำ

อย่าลืมนะครับ การศึกษาที่มาที่ไปและหลักการคิดคำนวณต้นทุนค่าธรรมเนียมและภาษีด้านการลงทุนต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ พอๆ กับการวิเคราะห์และค้นหาหุ้นที่น่าลงทุนมาจัดพอร์ต ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังอยู่ในระดับที่เราสามารถจัดการและรับมือได้ครับ

เพราะทุกครั้งที่มีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา ย่อมต้องมีฝ่ายที่ได้ประโยชน์และฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ เหรียญมี 2 ด้าน ฉันใดฉันนั้น ตระหนัก…แต่ไม่ตระหนกนะครับ

 

 

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

advertisement

SPOTLIGHT