ไลฟ์สไตล์

ผู้เชี่ยวชาญชี้โควิดยังเสี่ยง ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรรับยาต้านไวรัส ลดการตาย-นอนโรงพยาบาล-ลองโควิด

4 ธ.ค. 66
ผู้เชี่ยวชาญชี้โควิดยังเสี่ยง ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรรับยาต้านไวรัส ลดการตาย-นอนโรงพยาบาล-ลองโควิด

ในปัจจุบัน ที่โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) หลายๆ คนอาจจะมองว่าการป่วยเป็นโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอีกต่อไป แต่เป็นการติดเชื้อไข้หวัดธรรมดา ที่เมื่อกินยาและพักผ่อนไปสักพักก็สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล กักตัว หรือกินยาต้านไวรัส ทำให้ความตื่นตัวด้านผลกระทบของโควิดที่มีต่อสุขภาพในระยะยาวลดลง ลามไปทำให้ประชาชนไม่สนใจฉีดวัคซีนเหมือนในช่วงที่มีการระบาดแรกๆ ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ของไฟเซอร์ในงาน Pfizer Media Roundtable ณ โรงแรม Conrad Centennial ประเทศสิงคโปร์ แม้ผู้ที่ป่วยเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ส่วนมากอาการป่วยจะไม่ร้ายแรงและหายได้เองจริง ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือมีอาการหนักจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจะเพิ่มภาระในการทำงานให้กับบุคลากรทางแพทย์ และผู้ป่วยทั่วไปก็ยังเสี่ยงที่จะมีอาการลองโควิด (Long Covid) ที่จะลดคุณภาพในการใช้ชีวิตของประชาชนในระยะยาวอยู่

ดังนั้น ประชาชนทั่วไปจึงยังควรตื่นตัว ระมัดระวังการใช้ชีวิต และฉีดวัคซีนกระตุ้นอยู่ประจำเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงศึกษาว่าผู้ป่วยกลุ่มใดบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และควรมองหายาต้านไวรัสที่จะสามารถเข้ามาช่วยลดอาการป่วยได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่หลังป่วยเป็นโควิด และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตและป่วยหนัก

 

ทำไมผู้ป่วยต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น หรือทานยาต้านไวรัสหากหายเองได้?

จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะได้ยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ของโควิด-19 ไปแล้วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โควิด-19 ยังเป็นโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนทั้งโลกอยู่ เพราะยังมีโอกาสกลายพันธุ์ รวมไปถึงยังสามารถทำให้ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางเสียชีวิตหรืออาการหนักจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้อยู่

จากข้อมูลของ ดร. Egemen Ozbilgili รองประธาน และหัวหน้าด้านการแพทย์ ของ Pfizer Emerging Markets Asia เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีพัฒนาการที่ไม่แน่นอน และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นไวรัสที่แพร่ได้รวดเร็ว และสามารถหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดีกว่าเดิม ดังนั้น มาตรการในการป้องกันต่างๆ เช่นการฉีดวัคซีนจึงยังมีความจำเป็นในการลดการแพร่ระบาด และช่วยเปลี่ยนให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น

ขณะที่ ดร. Leong Hoe Nam แพทย์ที่ปรึกษาด้านโรคติดต่อ ณ โรงพยาบาล Mt Elizabeth Novena ประเทศสิงคโปร์ มองว่า นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การใช้ ‘ยาต้านไวรัส’ ยังมีความสำคัญ เพราะว่าเชื้อโควิดในปัจจุบันนั้นยังกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนยังอาจติดเชื้อได้อยู่แม้ฉีดวัคซีนกระตุ้นแล้ว ดังนั้น เพื่อลดอาการป่วยและโอกาสการเกิดอาการลองโควิดของผู้ป่วย ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิจึงมีความสำคัญมากในการลดผลกระทบด้านสุขภาพของโควิด-19 และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้รวดเร็ว

 

ใครบ้างที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางสำหรับโควิด-19?

จากสถิติของ WHO ผู้ป่วยกลุ่มที่เปราะบางและอาจเสียชีวิตจากโควิด-19 และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ได้มากที่สุดคือผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ทั้งกลุ่มที่ไม่มี และมีโรคประจำตัว เช่นโรคปอด โรคหัวใจ และเบาหวาน หรือภาวะภูมิต้านทานต่ำ (immunocompromised conditions)

โดยในปัจจุบัน ผู้ป่วยโควิดที่อายุมากกว่า 65 ปี คิดเป็น 50% ของผู้ป่วยโควิดที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยอายุ มากกว่า 54 ปี แต่น้อยกว่า 65 ปี ถึง 62 เท่า สะท้อนว่าโอกาสในการเสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นมากหากผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี 

นอกจากนี้ จากการศึกษาหนึ่ง โควิด-19 ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าไข้หวัดธรรมดา โดยโควิดมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 4.16 คนต่อผู้ป่วย 8,996 คน ขณะที่ไข้หวัดธรรมดามีอัตราการเสียชีวิตที่ 2.33 คนต่อผู้ป่วย 2,403 คน ทำให้โควิด-19 ยังถือเป็นโรคที่ร้ายแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา

ดังนั้น การฉีดวัคซีนและให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางจึงมีความสำคัญมากในการช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต ลดความรุนแรงของโรค และลดการใช้อ็อกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยลดการใช้ทรัพยากรและเครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถนำใช้กับผู้ป่วยหนักอื่นๆ ที่มีความจำเป็นกว่าได้

 

ปัจจุบันมียารักษาโควิด-19 อะไรบ้าง? หาได้ที่ไหน?

ปัจจุบันมียาต้านไวรัสโควิดหลายประเภทที่แพทย์นำมาช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ทั้งยารับประทาน เช่น ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) และ เนียร์มาเทรลเวียร์ (nirmatrelvir) กับริโทนาเวียร์ (ritonavir) ภายใต้ชื่อการค้า แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) และยาฉีดสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาทางปากได้ เช่น เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)

ยาทั้งสามประเภทนี้นี้มีกลไกในการยับยั้งการติดเชื้อแตกต่างกันไป โดยยาฟาวิพิราเวียร์จะออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อยจนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้อีก

ขณะที่ เนียร์มาเทรลเวียร์กับริโทนาเวียร์ หรือ แพ็กซ์โลวิด ทำงานควบคู่กัน โดยเนียร์มาเทรลเวียร์ทำงานเป็น peptidomimetic inhibitor ที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง coronavirus 3C-like (3CL) protease ของเชื้อไวรัสซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าตัดสายโปรตีนในกระบวนการเพิ่มจำนวนของไวรัส ส่งผลให้หากได้รับยานี้เข้าไปแล้วไวรัสจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ ส่วนริโทนาเวียร์ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเมแทบอลิซึมของเนียร์มาเทรลเวียร์ทำให้ยาเนียร์มาเทรลเวียร์อยู่ในกระแสเลือดนานขึ้น

ปัจจุบัน ยาแพ็กซ์โลวิดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิต-19 โดยจากการศึกษา ยาแพ็กซ์โลวิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในผู้ป่วยได้เกือบ 90% โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ

นอกจากนี้ จากการศึกษา The Antiviral Effect of Nirmatrelvir and Ritonavir during Covid-19  Pandemic Real-World Data ซึ่งวัดประสิทธิภาพในผู้ป่วยจริงของยาแพ็กซ์โลวิดยังพบอีกว่า ยาแพ็กซ์โลวิดสามารถลดอาการป่วย และลดจำนวนวันในการนอนโรงพยาบาลได้จริง โดยเฉลี่ยแล้วผู้ทีไ่ด้รับยาต้องนอนโรงพยาบาลเพียง 3 วัน และใช้เวลาพักฟื้นเพียง 5 วัน ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับยาต้องนอนโรงพยาบาลเฉลี่ย 10 วัน และใช้เวลาพักฟื้น 9 วัน

ทั้งนี้ ยาแพ็กซ์โลวิดจะใช้ได้ผลดีหากผู้ป่วยรับประทานยานี้ภายใน 5 วันหลังมีอาการ ดังนั้น หากตรวจพบเชื้อโควิดแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับประทานยาทันที 

ในปัจจุบัน โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วไทยประมาณ 50 แห่งได้สั่งยาแพ็กซ์โลวิดหรือยาต้านไวรัสโควิดมาเพื่อใช้บริการผู้ป่วยแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้มีโรงพยาบาลรัฐเท่านั้นที่ได้ซื้อยาดังกล่าว

จากข้อมูลของไฟเซอร์ ราคาขายของแพ็กซ์โลวิดในประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 18,700 บาทต่อ 1 คอร์สไม่รวม vat โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วันติดต่อกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

advertisement

SPOTLIGHT