ไลฟ์สไตล์

'ไทย' ติดอันดับที่ 12 ประเทศที่ไปแล้ว 'เสี่ยงตาย' มากที่สุดของโลก

8 ธ.ค. 65
'ไทย' ติดอันดับที่ 12 ประเทศที่ไปแล้ว 'เสี่ยงตาย' มากที่สุดของโลก

เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหน สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนน่าจะนำมาประกอบการตัดสินใจเป็นอันแรกๆ น่าจะเป็นความปลอดภัย และถึงแม้นักเดินทางมีสิทธิไปถึงฆาตได้ในทุกประเทศ ก็มีบางประเทศที่ไปแล้ว ‘เสี่ยงตาย’ มากที่สุดในทางสถิติ

istock-1410205367

The Swiftest ทีมวิจัยด้านประกันภัยการท่องเที่ยวได้จัดทำดัชนี “Travel Safety Index” ขึ้นเพื่อจัดอันดับความอันตรายต่อชีวิตของประเทศทั่วโลก โดยใช้ข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ ในประเทศที่มีคนไปท่องเที่ยวมากที่สุด 50 ประเทศ (ยกเว้นประเทศที่มีเหตุไม่สงบ หรือสงครามอยู่ เช่น รัสเซีย และยูเครน) มาเพื่อประเมินว่าประเทศไหนทำให้ผู้ไปเยือนเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากที่สุด

โดยทีมผู้วิจัย ใช้ข้อมูลผู้เสียชีวิตจาก 7 สาเหตุด้วยกัน ได้แก่

  1. เหตุฆาตกรรม โดยใช้ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 คน จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime)
  2. อุบัติเหตุบนท้องถนน โดยใช้ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อประชากร 100,000 คน จากองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization)
  3. สารพิษ โดยใช้ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากสารพิษต่อประชากร 100,000 คน จากองค์กรอนามัยโลก 
  4. สุขลักษณะที่ย่ำแย่ โดยใช้ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากสุขลักษณะที่ไม่ดี เช่น การขาดแคลนน้ำสะอาด หรือสัตว์รังควาน ต่อประชากร 100,000 คน จากธนาคารโลก (World Bank)
  5. โรคติดต่อ โดยใช้ปีที่เสียไปจากโรคติดต่อต่อประชากร 100,000 คน หรือจำนวนช่วงชีวิตที่หายไปจากผู้เสียชีวิตที่จากไปก่อนวัยอันควร จากเว็บไซต์ Our World in Data
  6. การบาดเจ็บ โดยใช้ปีที่เสียไปจากการบาดเจ็บต่อประชากร 100,000 คน จากเว็บไซต์ Our World in Data
  7. ภัยธรรมชาติ โดยใช้ดัชนีชี้ความเสี่ยงจากการเกิดภัยธรรมชาติและความสามารถของแต่ละประทเศในการรับมือภัยธรรมชาติจาก Bündnis Entwicklung Hilft องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของเยอรมนี และ United Nations University Institute for Environment and Human Security

และเมื่อรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของทุกประเทศได้แล้ว ทีมผู้วิจัยก็ได้นำตัวเลขทั้งหมดมาแบ่งกลุ่มให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง ลบ 100 ในแต่ละปัจจัย และประเทศไหนที่ได้คะแนนลบสูงที่สุดก็จะถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อนักเดินทางที่สุด โดยจากการวิจัย ประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักเดินทางได้แก่

  1. แอฟริกาใต้ ได้คะแนน -507.55 
  2. อินเดีย ได้คะแนน -367.92
  3. สาธารณรัฐโดมินิกัน ได้คะแนน -316.77
  4. เม็กซิโก ได้คะแนน -285.82
  5. บราซิล ได้คะแนน -268.05
  6. กัมพูชา ได้คะแนน -254.74
  7. ฟิลิปปินส์ ได้คะแนน -243.41
  8. ซาอุดีอาระเบีย ได้คะแนน -231.37
  9. เวียดนาม ได้คะแนน -229.64
  10. อินโดนีเซีย ได้คะแนน -226.46
  11. จีน ได้คะแนน -220.11
  12. ไทย ได้คะแนน -209.24

screenshot2565-12-08at09.

ในขณะที่ประเทศที่ปลอดภัยสำหรับนักเดินทางที่สุด ได้แก่

  1. สิงคโปร์ ได้คะแนน -43.43
  2. เดนมาร์ก ได้คะแนน -57.37
  3. เนเธอร์แลนด์ ได้คะแนน -58.48
  4. สวิตเซอร์แลนด์ ได้คะแนน -59.10
  5. อิสราเอล ได้คะแนน -60.22
  6. สวีเดน ได้คะแนน -63.60
  7. ออสเตรีย ได้คะแนน -65.72
  8. ไอร์แลนด์ ได้คะแนน -66.43
  9. อิตาลี ได้คะแนน -70.79
  10. เยอรมนี ได้คะแนน -72.55screenshot2565-12-08at10.

 

'ยากจนและเหลื่อมล้ำ' สาเหตุหลักของประเทศเสี่ยงตาย

istock-125144353

"แอฟริกาใต้" และ "อินเดีย" คือ 2 ประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักเดินทาง และสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยและผู้เดินทางไปในสองประเทศมีความเสี่ยงสูงกว่าประเทศอื่นที่จะเสียชีวิตก็คือ ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ประชาชนบางส่วนต้องหันไปเป็นอาชญากรเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ หรืออยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่มีสุขลักษณะที่ไม่ดีทำให้เสียชีวิตจากโรคติดต่อมาก

สำหรับแอฟริกาใต้ สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของประชากรในประเทศคือ เหตุฆาตกรรม และโรคติดต่อ เพราะประเทศนี้มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมสูงถึง 36.4 คนต่อประชากร 100,000 คนและมีจำนวนปีที่เสียไปจากโรคติดต่อสูงถึง 23,778 ปีต่อประชากร 100,000 คน โดยจากสถิติ จะมีคนเสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมในแอฟริกาใต้ถึงวันละ 68 คน

จากการข้อมูลของ The Swiftest และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ สาเหตุที่ทำให้แอฟริกาใต้มีความรุนแรงไม่ว่าจะเป็น การขโมย ปล้น จี้ หรือฆ่า เกิดขึ้นมากเป็นเพราะความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีสูง ทำให้ประชาชนบางส่วนต้องทำผิดกฎหมายหรือเข้าแก๊งอาชญากรรมเพื่อหาเงิน ประชาชนเข้าถึงอาวุธได้ง่าย ระบบยุติธรรมอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีการประท้วงบ่อย ทำให้เกิดเหตุไม่สงบที่ทำให้คนเสียชีวิตได้บ่อยครั้ง

ส่วนอินเดีย ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมและสารพิษที่ค่อนข้างต่ำ ประชาชนในอินเดียยังมีความเสี่ยงมากที่จะเสียชีวิตจากสุขลักษณะที่ไม่ดี ซึ่งเกิดจากความยากจน ที่ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่สามารถมีบ้านอยู่อาศัย น้ำ หรืออาหารที่ถูกลักษณะบริโภคได้ นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำสูงจากระบบชนชั้น ทำให้ประชาชนส่วนมากของประเทศคือถึง 1.3 พันล้านต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมย่ำแย่ที่ทำให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยอื่นๆ

 

'ไทย' เสี่ยงตายสุดอันดับ 3 บนท้องถนน

istock-969500140

ในฐานะประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง อันดับของ "ประเทศไทย" ถือว่าอยู่ค่อนข้างสูงจนน่าเป็นห่วง โดยขึ้นทำเนียบประเทศเสี่ยงตายอันดับ 12 ของโลก และอยู่ในกลุ่ม D- 

สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งที่ฉุดคะแนนของเรามากที่สุดก็คือ อุบัติเหตุบนท้องถนน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 32.2 คนต่อประชากร 100,000 คน ทำให้เราเป็นที่ 3 ของโลก เป็นรองเพียงสาธารณรัฐโดมินิกัน และซาอุดิอาระเบีย

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก และศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสะสมในปี 2022 แล้วถึง 13,590 คน หรือประมาณ "วันละ 40 คน"

นอกจากนี้ เรายังครองอันดับ 6 ของโลกในกลุ่มการเสียชีวิตจากสุขลักษณะที่ไม่ดี และครองอันดับที่ 7 ในกลุ่มการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุ สิ่งก่อสร้างที่ไม่ปลอดภัย และความรุนแรงส่วนบุคคล ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยยังไม่สามารถเข้าถึงสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดได้ และยังมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันในระดับที่ต่ำอีกด้วย

 

ที่มา: The Swiftest, ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ

advertisement

SPOTLIGHT