ไลฟ์สไตล์

‘bai lan’ วิถีเด็กจีนยุคใหม่ ‘ปล่อยชีวิตเน่าไป’ เมื่องานดีๆ มันหายาก

18 ก.ย. 65
‘bai lan’ วิถีเด็กจีนยุคใหม่ ‘ปล่อยชีวิตเน่าไป’ เมื่องานดีๆ มันหายาก

ในช่วงที่ผ่านมาหลายๆ คนอาจเคยเห็นคำว่า ‘Quiet Quitting’ ที่หมายถึง ‘การลาออกจากการทำงานหนัก(แบบเงียบๆ) ด้วยการทำงานเท่าที่จำเป็น’ หรืออาจจะเคยเป็น Quiet Quitter กันมาบ้าง เพราะเหนื่อยหน่ายกับการทุ่มเททำงานแบบไม่เห็นอนาคตหรือความก้าวหน้าแบบแน่นอนในยุคที่มีโรคระบาด เงินเฟ้อ ของแพง และสภาพเศรษฐกิจที่นับวันจะซบเซาลงเรื่อยๆ

แต่ล่าสุด คนหนุ่มสาวชาวจีนที่เคยเริ่มเทรนด์ ' ถ่างผิง’ (躺平) ที่แปลตรงๆ ว่า ‘นอนราบ’ (lying down) ที่เป็นต้นกำเนิดเทรนด์ Quiet Quitting ในฝั่งตะวันตกอีกที ก็ได้นำหน้าคนทั้งโลกไปอีกขั้นแล้ว ด้วยการเริ่มเทรนด์ ‘ป่ายล่าน’ (摆烂) แปลว่า ‘ปล่อยให้เน่า’ ที่หมายถึงการปล่อยวางเรื่องความสำเร็จ ไม่ทะเยอทะยานอยากได้งานรายได้สูง และหันมาทำงานก๊อกแก๊กเท่าที่หาได้เลี้ยงตัวเองไปวันๆ โดยไม่คิดอะไร

tang ping

โดยคำว่า ‘ป่ายล่าน’ เดิมทีเป็นคำสแลงที่แฟนจีนของการแข่งขัน NBA หรือการแข่งขันบาสเกตบอลใช้เพื่อพูดถึงทีมที่ถอดใจปล่อยให้ทีมฝั่งตรงข้ามทำคะแนนแซง ตอนรู้แน่แล้วว่าทำยังไงตัวเองก็ไม่ชนะ เหมือนเป็นการยอมแพ้ทั้งๆ ที่แมทช์การแข่งขันยังไม่จบ

ซึ่งเมื่อมีคนหยิบคำนี้มานิยาม ‘การยอมแพ้กับการใช้ชีวิต’ ปล่อยให้คนอื่นก้าวหน้าด้านหน้าที่การงานแซงไปแบบไม่ลงสนามกันมากขึ้น คำว่าป่ายล่านก็กลายเป็นคำที่หมายถึงการปล่อยตัวยอมแพ้ในแบบอื่นๆ ด้วย และถูกนำไปทำเป็นมีม และสติกเกอร์มากมายในโซเชียลมีเดีย

bai lan

let it rot

แต่ทั้งๆ ที่อยู่ในประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของโลก ทำไมคนรุ่นใหม่ในจีนถึงเหนื่อยหน่ายกับการใช้ชีวิตกันขนาดนี้ล่ะ?

นั่นก็เป็นเพราะถึงแม้การหางานทำเลี้ยงชีพในจีนอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความฝันที่จะประสบความสำเร็จ มีงานตำแหน่งสูงที่ตรงกับสาขาที่เรียน และมีรายได้มากพอจะมีรถมีบ้านเป็นทรัพย์สินเป็นของตัวเองดูเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมไปแล้วสำหรับคนรุ่นใหม่ในจีน

จากการรายงานของ CNA ปัจจุบันตลาดแรงงานในจีน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานระดับสูง มีการแข่งขันสูงมาก เพราะตำแหน่งงานในระบบลดน้อยลงจากเศรษฐกิจที่ยังคงหดตัว และการปฏิรูปธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ของจีน เช่น ในภาคส่วนการศึกษาและอสังหาริมทรัพย์ 

โดยจากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน อัตราการว่างงานของคนอายุ 16-24 ในจีนคิดเป็นเกือบ 20% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 16.2% ในเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกช่วงอายุที่อยู่ที่ 5.6% หลายเท่า

และในขณะที่งานหายากขึ้น เด็กจีนที่จบใหม่และกำลังหางานก็ถูกซ้ำเติมอีกด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ของแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาที่พัก ที่ปัจจุบันขึ้นไปสูงมากจนสัดส่วนราคาที่อยู่อาศัยต่อรายได้ (Housing Price-to-income Ratio) ไปอยู่ที่ 12 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 3-6 เท่า

ในภาวะแบบนี้ ความฝันที่จะมีอาชีพเงินเดือนสูงพอใช้ชีวิตแบบไม่ขัดสน หรือมีที่อยู่เป็นของตัวเองในเมืองใหญ่เหมือนคนรุ่นพ่อแม่จึงกลายเป็นเรื่องที่ ‘เกือบจะเป็นไปไม่ได้’ เพราะรายได้ที่ได้(ถ้าหางานได้)ก็แทบไม่พอรักษาระดับคุณภาพชีวิตให้คงเดิมอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงการเลื่อนระดับทางสังคมที่เคยใฝ่ฝันถึง

และเมื่อรู้สึกว่าพยายามให้ตายยังไงชีวิตก็คงจะดีขึ้นกว่านี้ยากแล้ว คนหนุ่มสาวในจีนจึงเกิดอาการท้อแท้ เลิกดิ้นรนแล้วปล่อยชีวิตตัวเองให้เป็นไปตามยถากรรม เลิกใช้แรงกายและแรงใจไขว่คว้าความสำเร็จในอุดมคติของจีน หรือ “cheng jia li ye” (成家立业) ที่หมายถึงการได้งานดีๆ ทำ มีเงินซื้อบ้าน และตั้งครอบครัว

และแน่นอนว่าสำหรับจีนซึ่งเป็นประเทศที่กำลังต้องการกำลังคนมากมายในการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว แนวคิดถ่างผิงและป่ายล่านถือว่าอันตรายมาก เพราะมันเป็นแนวคิดที่บ่อนทำลายพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่ควรจะตั้งใจทำงานหนัก และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ

ซึ่งเมื่อมีกระแส ‘ถ่างผิง’ เกิดขึ้นหลังมีคนเขียนกระทู้ชื่อว่า “การนอนราบคือความยุติธรรม (Tang Ping is Justice)” ลงเว็บ ‘ไป่ตู้’ เมื่อเดือนเมษายนปี 2021 เพื่อแชร์ประสบการณ์ไม่ทำงาน 2 ปีของตัวเอง สื่อจีนบางแห่งเช่น Southern Daily ที่เป็นสื่อของรัฐบาลก็ได้ออกบทความชื่อว่า “การนอนราบคือเรื่องน่าอับอาย (Lying Down is Disgraceful)” มาประนามแนวคิดดังกล่าว

นอกจากนี้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ยังได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์งานครบรอบ 103 ปีของขบวนการ 4 พฤษภาคม ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยม ไว้อีกด้วยว่าคนรุ่นใหม่ของจีนควรจะ “สร้างอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอง” เพื่อช่วยพัฒนาประเทศชาติ และย้ำว่า “คนรุ่นใหม่คือความหวังของจีน” เพื่อกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวทำงานหนัก และรู้หน้าที่ของตัวเองต่อประเทศ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับทั้งกระแสถ่างผิงและป่ายล่านที่เป็นที่พูดถึงทั่วไปแล้วขณะนั้น

ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่าในอนาคต รัฐบาลจีนจะทำยังไงเพื่อปลุกไฟของเยาวชนที่เหมือนใกล้จะมอดให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง และจะทำให้คนเหล่านี้เลิกนอนเน่าแล้วลุกขึ้นมาช่วยกันพาประเทศไปข้างหน้าเหมือนที่บรรพบุรุษเคยทำในอดีตสำเร็จหรือไม่

เพราะถ้าสถานการณ์ยังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆโดยไม่มีการแก้ไข เราก็อาจจะได้คำใหม่มาเขียนบทความอีก เพราะเหล่าคนรุ่นใหม่ในจีนก็อาจจะไม่ได้ทำแค่ ‘ปล่อยให้ตัวเองเน่าไป’ เพื่อรับมือกับแรงกดดันแล้วก็ได้

 

ที่มา: CNBC, CNA, The Epoch Times

 

advertisement

SPOTLIGHT