ไลฟ์สไตล์

"สุนัขบางแก้ว" จากวัดบางแก้วสู่สายพันธุ์ระดับโลก สุนัขพันธุ์แท้จากไทย

30 ส.ค. 65
"สุนัขบางแก้ว" จากวัดบางแก้วสู่สายพันธุ์ระดับโลก สุนัขพันธุ์แท้จากไทย
ไฮไลท์ Highlight

หมาไทยสายพันธุ์“บางแก้ว”ได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์สุนัขโลกจากคณะกรรมการสหพันธุ์สุนัขนานาชาติ  (FCI – The Fédération cynologique internationale) ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กลายเป็นสุนัขสายพันธุ์ไทยที่ 2 ต่อจาก “หลังอาน” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้วก่อนหน้านี้

หูตั้ง ขนหนา หางเป็นพวง ปากแหลม และดุหวงถิ่น อาจจะเป็นลักษณะเด่นของสุนัขพันธุ์บางแก้วที่คนไทยรู้จักดีข่าวใหญ่ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมชมรมสุนัขบางแก้ว และชาวบ้านบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกได้แถลงข่าวแสดงความยินดีที่สุนัขบางแก้วได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสายพันธุ์ระดับโลก 

หมาไทยสายพันธุ์“บางแก้ว”ได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์สุนัขโลกจากคณะกรรมการสหพันธุ์สุนัขนานาชาติ  (FCI – The Fédération cynologique internationale) ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กลายเป็นสุนัขสายพันธุ์ไทยที่ 2 ต่อจาก “หลังอาน” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้วก่อนหน้านี้

FCI ขึ้นทะเบียนสุนัขบางแก้ว

สหพันธุ์สุนัขนานาชาติ หรือ FCI คืออะไร

FCI  คือ องค์กรสุนัขโลกที่มีสมาชิกและพันธมิตรใน 98 ประเทศทั่วโลก จะทำหน้าที่ในการให้การรับรองมาตรฐานสายพันธุ์ของสุนัขจากแหล่งต่างๆ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น  เป็นเกณฑ์ในการการประกวด การตัดสินว่าเป็นสุนัขพันธุ์แท้หรือไม่ ซึ่งในเว็บไซต์ของ FCI ได้ให้การยอมรับสุนัขทั้งหมด  355 สายพันธุ์  ใน 10 หมวด SPOTLIGHT จะพาไปรู้จัก “สุนัขบางแก้ว”ของไทยว่าถูกขึ้นทะเบียนเป็นสุนัขโลกในหมวดไหนอย่างไร 

FCI แบ่งสุนัขเป็น 10 กลุ่ม ตามลักษณะของสุนัข 

1.Sheepdogs and cattle dogs หรือ กลุ่มสุนัขต้อนแกะ
2.กลุ่มสายพันธุ์ Pinschers and schnauzers - molossoid  /Swiss mountain /cattle dogs 
3.กลุ่มสายพันธุ์ Terriers (เทอเรีย) 
4.กลุ่มสายพันธุ์ Dachshunds (ดัชชุน) 
5.กลุ่มสายพันธุ์ Spitz and primitive types  (บางแก้ว และ ไทยหลังอาน อยู่ในกลุ่มที่5) 
6.กลุ่มสายพันธุ์ เซนท์ฮาวด์และสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง7Pointers and setters
8.กลุ่มสายพันธุ์ รีทรีฟเวอร์ 
9.กลุ่มสายพันธุ์ สุนัขเล็ก
10.กลุ่มสายพันธุ์ Sighthounds


สำหรับกลุ่มสายพันธุ์ที่ 5  Spitz and primitive types 
บางแก้ว และ ไทยหลังอาน อยู่ในกลุ่มนี้ โดยในกลุ่ม5 มีการแตกย่อยออกเป็น 7 Section 

Section 1 : Nordic Sledge Dogs
Section 2 : Nordic Hunting Dogs
Section 3 : Nordic Watchdogs and Herders
Section 4 : European Spitz
Section 5 : Asian Spitz and related breeds
Section 6 : Primitive type
Section 7 : Primitive type - Hunting Dogs
**บางแก้ว เป็นSection ที่ 5 สุนัขสายพันธุ์อาเซียน ส่วนหลังอาน เป็น Section  ที่ 6  Primitive type**

 

สุนัขบางแก้ว

ลักษณะสำคัญของสุนัขบางแก้วแท้ 
โดยลักษณะสำคัญของบางแก้วที่ถูกเผยแพร่ใน FCI คือ บางแก้วมีลักษณะเป็นสุนัขขนยาว หนา และมักมีขนสีขาว หูแหลมและปากแหลม หางมักจะม้วนตั้งขึ้นหรือห้อยลงมา หากขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก ในขณะที่สายพันธุ์ที่ใหญ่กว่านั้นคล้ายกับหมาป่า 

สุนัขบางแก้ว


ย้อนประวัติสุนัขพันธุ์บางแก้วถือกำเนิดเมื่อ 160 ที่ผ่านมา  

ข้อมูลจากวารสารสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสต์ เรื่อง กำเนิดและประวัติของสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วOrigin and History of the Thai Bangkaew dog โดย อุคเดช บุญประกอบ ระบุว่า  ต้นกำเนิดของสุนัขบางแก้วยังคงเป็นเพียงคำบอกเล่าของคนรุ่นปัจจุบันเป็นหลัก โดยอาศัยข้อมูลตามความเชื่อและการรับฟังเรื่องเล่าสืบทอดต่อกันมา แต่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างชัดเจน จึงเป็นไปได้ว่าข้อมูลบางส่วนอาจขาดหายไป

จากข้อมูลพบว่า “บรรพบุรุษรุ่นแรกของสุนัขบางแก้วถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดบางแก้ว บ้านบางแก้ว ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อหลวงปู่ มาก สุวัณณโชโต (เมธาวี) เจ้าอาวาส วัดบางแก้ว (ช่วงเวลาประมาณ พ.ศ. 2405) หรือ 160 ปีที่แล้ว  เลี้ยงสุนัขบ้านพันธุ์ไทยเพศเมียและสุนัขดังกล่าวได้รับการผสมข้ามสายพันธุ์จากสุนัขป่าเพศผู้ ตามคำบอกเล่าเชื่อกันว่าเป็น สุนัขจิ้งจอก หรือ หมาใน เพราะไม่มีสุนัขป่า วูล์ฟ (wolf) ที่มีชีวิตเคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงให้กำเนิดสุนัขพันธุ์ ไทยที่มีหน้าแหลม หูเล็กตั้งชัน ขนยาว หางเป็นพวง และดุมาก  นั่นคือบรรพบุรุษของสุนัขบางแก้ว

 วัดบางแก้ว ถิ่นกำเนิดสุนัขบางแก้ว

เริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้างเมื่อ 40 ปีที่แล้ว 
หลังจากนั้นชาวบ้านบางแก้ว บางระกำ และใกล้เคียงก็นิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์ดังกล่าวจนเรียกว่าเป็นสุนัขบางแก้วตามถิ่นกำเนิด ต่อมาเมื่อมีเจ้าหน้าที่และประชาชนจากภายนอกเข้ามาพบเห็นสุนัขบางแก้วที่มีลักษณะรูปร่างสวยงามนิสัยดุ และรักเจ้าของ จึงเกิดความประทับใจและต้องการนำไปเลี้ยง

สุนัขบางแก้ว

ซึ่งจากคำบอกเล่าระบุว่า “สมัยนั้นผู้มาขอลูกสุนัขบางแก้วไปเลี้ยงต้องแลกด้วยกระสุนปืนลูกซอง 1 กล่อง” เมื่อมีการนำสุนัขบางแก้วออกจากลุ่มนำบางแก้วไปสู่สังคมภายนอก จึงเป็นผลให้กิติศัพท์ชื่อเสียงของสุนัขบางแก้วเป็นที่รู้จัก มีผู้คนเลี้ยงสุนัขบางแก้วเพิ่มมากขึ้นจนในที่สุดรู้จักกันอย่างกว้างขวาง   และผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้สุนัขบางแก้วเป็นที่รู้จักของสังคมภายนอก ก็คือการเริ่มจากการทำงานประสานกันระหว่างนายยุทธศักดิ์ ศศิมณฑล สมัยดำรงตำแหน่งเป็นปศุสัตว์อำเภอบางระกำ และนายสัตวแพทย์ นิสิต ตั้งตระการพงษ์ สมัยดำรงตำแหน่งเป็นปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปีพ.ศ. 2525 หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

ต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น 

นายนิยม ช่างพินิจ อดีตนายกสมาคมชมรมสุนัขบางแก้ว จังหวัดพิษณุโลก พร้อมชาวบ้านบางระกำ จัดแถลงข่าวว่า “จากที่เรามองสุนัขบางแก้วเป็นสุนัขธรรมดา แต่วันนี้ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เพราะทั่วโลกวันนี้ยอมรับในตัวสายพันธุ์สุนัขบางแก้วแล้ว หลังจากนี้เรารวมชาวบ้านท่านางงาม ไม่อยากให้เสียโอกาส เพราะเรามีต้นทุนจากแหล่งต้นกำเนิดอยู่ที่นี่ เป็นความภาคภูมิใจที่ซื้อสุนัขบางแก้วจากถิ่นกำเนิดเลยนะ ชาวบ้านจะมีรายได้ดีจากการเลี้ยงสุนัขบางแก้วเป็นสัตว์เศรษฐกิจ”  โดยปัจจุบันราคาสุนัขบางแก้วอยู่ที่ 3-4 พันบาทต่อตัว  แต่สำหรับสุนัขที่ผ่านเวทีการประกวด ได้รับการขึ้นทะเบียนของคอก อาจสูงถึง 5-7 หมื่นบาท

 

แถลงข่าว สุนัขบางแก้วขึ้นทะเบียน

“ผมภูมิใจมาก ต้องขอขอบคุณนักวิชาการที่ไปต่อยอด ศึกษาพัฒนาสายพันธุ์ สุขภาพจิตของสุนัข ผมเคยซื้อสุนัขบางแก้วฝากผู้ใหญ่ ต้องบอกว่าอย่าขังไว้ เพราะสายพันธุ์เป็นสุนัขป่าสุนัขจิ้งจอก มีความดุอยู่ในสายเลือดแม้จะมีความรักเจ้าของ แต่เวลาแขกมาบ้านก็อาจถูกกัด เพราะความที่สุนัขรักและหวงเจ้าของ ถ้าไม่รู้นิสัยใจคอสุนัขก็จะเลี้ยงยาก แต่ปัจจุบันสุนัขบางแก้วได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาตลอดกว่า 20 ปี ทำให้เป็นสุนัขที่ไม่ดุมากนัก” นายนิยมกล่าวทิ้งท้าย   

สัตว์เลี้ยง นอกจากจะเป็นเพื่อน เป็นสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยุคสมัยปัจจบันกลายเป็นธุรกิจที่มูลค่าสูงมากในแต่ละปี เกิดการต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้มากมาย การที่ประเทศไทยมีสายพันธุ์สุนัขที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกจึงเป็นโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน 

 

advertisement

SPOTLIGHT