อินไซต์เศรษฐกิจ

บทวิเคราะห์ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น เกี่ยวอะไรกับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท

10 ต.ค. 66
บทวิเคราะห์ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น เกี่ยวอะไรกับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท

เหตุใดรัฐบาลควรพัก “โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ที่ต้องทุ่มงบประมาณกว่า  560,000 ล้านบาทไว้ก่อน ถือเป็นประเด็นสำคัญระดับประเทศที่ต้องใช้เงินงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนทุกคนใช้จ่าย ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะที่พุ่งจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศก็เป็นได้ นโยบายนี้ควรจะเร่งเดินหน้าต่อ หรือพอแค่นี้ วันนี้ SPOTLIGHT จะพาไปหาคำตอบกัน…

บทวิเคราะห์ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น เกี่ยวอะไรกับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท

แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท

เงินทุนไหลออกผลจากดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าสหรัฐ

อัตราดอกเบี้ยสหรัฐได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ต่ำมากเหลือเพียง 0% ในช่วงต้นปี 2564 มาถึงปัจจุบันอยู่ที่ 5.50% สูงสุดในรอบ 22 ปี สาเหตุหลักมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้น เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed มีผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก 

ขณะที่ประเทศไทยนั้น ก็มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ 2.5% เพื่อดุแลอัตราเงินเฟ้อ และให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมจากเดิมที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ แต่ก็ยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐถึงเท่าตัว ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศไทยไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา หากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบเศรษฐกิจโลกเพิ่มเติม มีโอกาสสูงที่ Fed จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไป ทำให้นักลงทุนหันไปถือสินทรัพย์สหรัฐมากขึ้น ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่มากขึ้น และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้อีกในอนาคต

 

บอนด์ยีลพุ่ง หลังกระแสข่าวกู้เงินมาใช้นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

การแจกเงินดิจิทัล ราว  560,000 ล้านบาท รัฐบาลต้องหาแหล่งเงินทุนมาใช้ และแหล่งเงินทุนนี้รัฐบาลก็บอกแล้วว่า ต้องมาจากการกู้เงิน อย่างที่ เราทราบการกู้เงินไม่ว่าจะเป็นการกู้โดยตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้ได้เงินทุนเหล่านี้มา ซึ่งก็มีกระแสข่าวว่า แนวโน้มจะเป็นการกู้เงินจากธนาคารออมสินที่รัฐบาลเองก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ดังนั้น ทุกทางเลือก รัฐบาลต้องเป็นหนึ่งในผู้ค้ำประกันจำนวนเงินกู้นี้อยู่ดี   

สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ทราบ การกู้เงินของรัฐบาล จะมีการออกพันธบัตรรัฐบาลให้ตลาด เพื่อมาให้ประชาชนซื้อ เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐบาลใช้ในการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป พันธบัตรรัฐบาลเป็นตราสารหนี้ที่รัฐบาลออกจำหน่ายเพื่อระดมเงินกู้ โดยรัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือพันธบัตรเป็นรายปี และคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุ

พันธบัตรรัฐบาลนั้นครบกำหนดอายุรัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องคืนเงินต้นทั้งหมดให้กับ ตลาดพันธบัตรไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสถาบันการเงิน หรือองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรที่เรากำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียว แต่ว่ายังขึ้นอยู่กับความคาดหวังของนักลงทุนในอนาคตด้วย ซึ่งปัจจัยหนึ่งในนั้น คือ ความต้องการใช้เงินจากภาครัฐในอนาคตเมื่อตลาดคาดหวังว่ารัฐบาลนั้นจะกู้เงิน 560,000 ล้าน มาแจก ก็ยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเนี่ยปรับตัวสูงขึ้นหรือในทางการเงินที่เราเรียกว่า อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด ยีลด์ของพันธบัตรระยะยาวของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยยีลด์ของพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.87% ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เป็น 3.38% ในวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ยีลด์ของพันธบัตรอายุ 30 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.32% ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เป็น 3.90% ในวันที่ 8 ตุลาคม 2566  และหลังจากมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่รัฐบาลไทยนั้นจะเริ่มการแจกเงินจำนวนมากนี้ซึ่งแปลว่าต้นทุนของรัฐบาลไทยตอนนี้ ที่จริงๆแล้วก็ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทย แต่น่าจะหมายถึงประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้น รัฐบาลก็จะมีต้นทุนไม่ใช่แค่เงินต้น 560,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลอยากเอาไปแจกจ่ายประชาชน แต่ยังต้องบวกค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไปด้วย

 

ไทยมีหนี้ต้องจ่าย FIDF อีกกว่า 600,000 ล้านบาท

แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท

หากมองย้อนไปเหตุการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อ 25 ปีที่แล้วเราเองก็เคยมีหนี้ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นเหมือนกัน เพราะจากอดีตรัฐบาลไทยมีหนี้มูลค่า 1 ล้านล้านบาทในกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย (FIDF)แม้ว่าจะผ่านมาเป็น 20 ปีแล้ว รัฐบาลไทยยังเป็นหนี้ FIDF อยู่โดยเหลือเงินต้นสูงถึง 6 แสนล้านบาท และดอกเบี้ยปี 2565 ที่ผ่านมาก็สูงถึง 19,000 ล้านบาท รัฐบาลคาดว่ากว่าหนี้ก้อนนี้จะหมดต้องใช้เวลาอีกอย่างต่ำ 10 ปี

ท่านผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า รัฐบาล เอาเงินจากไหนไปจ่าย คำตอบคือ คือ เงินฝากของพวกเราคนไทยทุกคนอย่างไง อยู่ที่ 0.46% หรือเรียกง่ายๆ ว่า ถ้าไม่เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง เราจะได้ ดอกเบี้ยปกติบวกกับอีก 0.46% ดังนั้นเราจึงเรียกได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ได้สร้างภาระให้กับคนไทยทั้งประเทศมา 25 ปีนับว่ายาวนานจนถึง คนรุ่นเราในยุคนี้และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนี้ก้อนนี้ปัจจุบันสร้างภาระให้กับคนไทยทุกคน

 

นักวิชากรมองเศรษฐกิจยังไม่วิกฤตถึงขั้น ต้องมีมาตรการกระตุ้นการบริโภค

งบประมาณที่ใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น ใช้ถึง 560,000 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับงบประมาณสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ 120,000 ล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 310,000 ล้านบาท รถไฟฟ้าทุกโครงการที่มีมูลค่ารวมกว่า 315,000 ล้านบาท จากที่เล่ามาจะเห็นว่าเงิน 560,000 ล้านบาทที่รัฐบาลจะแจกนั้น สามารถนำไปใช้สร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ทั้งหมดได้ และยังมีเงินเหลืออีก รัฐบาลแจกเงินก้อนนี้เพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น โดยคาดหวังว่าจะทำให้เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจ (multiplier) หมายความว่าทุก 100 บาทที่ใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ จะเกิดการใช้จ่ายตามมาอีก 2-3 เท่า

ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน มองว่า นโยบายนี้สามารถทำได้ แต่ควรทำในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดภาวะวิกฤต เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน และประเทศไทยไม่ได้กำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 

ในทางตรงกันข้าม ทั่วโลกอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง การที่รัฐบาลตัดสินใจแจกเงิน จะส่งผลให้เงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจไทยปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจของภาคเอกชนต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย จะมีผลต่อภาคธุรกิจที่ระดมเงินทุนผ่านการออกหุ้นกู้ เจอปัญหาอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้น บางธุรกิจประสบปัญหาถึงขนาดไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ยและขาดสภาพคล่องแล้ว ถึงแม้ว่าข้อดีของการแจกเงินเข้ามาในระบบที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะเกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจ (multiplier) ที่มากกว่าหนึ่ง แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะมากกว่าหนึ่งได้จริงหรือไม่

 

99 นักวิชาการคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

 แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท

เมื่อเร็วๆนี้มี นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์  99 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล โดยให้เหตุผลดังนี้

  • เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว จีดีพีมีแนวโน้มขยายตัว 2.8% ในปีนี้และ 3.5% ในปีหน้า การบริโภคภายในประเทศขยายตัวถึง 7.8% สูงที่สุดในรอบ 20 ปี จึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการกระตุ้นการบริโภค
  • การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่ 2.9% ในขณะที่ราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
  • เงินงบประมาณของภาครัฐมีจำกัด การใช้จ่าย 5.6 แสนล้านบาทในการแจกเงินดิจิทัล เท่ากับเป็นการเสียโอกาสในการลงทุนของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  • การแจกเงินดิจิทัลเป็นการคาดหวังที่เกินจริง จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ตัวทวีคูณทางการคลังมีค่าต่ำกว่า 1 และประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอไม่ว่าจะในรูปแบบของภาษี หรือราคาสินค้าที่แพงขึ้นจากเงินเฟ้อ
  • ประเทศไทยกำลังอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น การก่อหนี้จำนวนมากก็ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หนี้สาธารณะของรัฐในปัจจุบันอยู่ที่ 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของ จีดีพี ในขณะที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงจำเป็นต้องลดหนี้สาธารณะลง
  • การแจกเงินดิจิทัลเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคม คนรวยก็ได้รับ คนไม่มีจะกินก็ได้รับ เจตนาและวัตถุประสงค์ในการใช้เงินของคนรวยกับคนจน คนที่มีอายุ 16 ปีกับคนวัยทำงาน กับคนว่างงาน กับผู้สูงอายุย่อมแตกต่างกัน

แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และหันมาใช้เงินงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบอื่น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือมาตรการช่วยเหลือผู้ตกงานและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

 

กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ ทิ้งภาระไว้ให้ลูกหลาน

แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท

แต่สิ่งที่เรารู้กันแน่ๆ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน จะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ไม่กี่ปีก็หมดฤทธิ์ เนื่องจากผู้ผลิตและร้านค้าจะเร่งผลิตและขายสินค้าเพื่อรองรับความต้องการ เมื่อความต้องการหมดลง สินค้าคงคลังก็จะล้นตลาดและกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ

อีกประเด็นหนึ่ง คือ การพัฒนาระบบ blockchain เพื่อรองรับการแจกเงิน ต้องใช้เงินทุนและเวลาในการพัฒนา รวมถึงความเสถียรของระบบการจ่ายเงินด้วย blockchain สำหรับคน 50 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อน ประเทศไทยจึงต้องกลายเป็นหนูทดลองขนาดใหญ่ 

สุดท้ายนี้ รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นกับการทิ้งภาระหนี้สาธารณะไว้ให้ลูกหลาน หรือนำเงินไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

ทำไมถึงควรชะลอการที่จะแจกเงินก้อนนี้ไว้ก่อน

แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท

ดังนั้น นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ด้วยวงเงิน 560,000 ล้านบาทของรัฐบาลไทย เห็นว่า รัฐบาลไทยควรชะลอการแจกเงินก้อนนี้ไว้ก่อน เพื่อพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างรอบคอบ เพราะถึงแม้ว่าการแจกเงินจะมี ผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะการแจกเงินก้อนใหญ่ให้กับประชาชน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้จริง ซึ่งควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ

โดยประชาชนจะนำไปใช้จ่ายสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ และทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้ มักได้ผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากเมื่อความต้องการสินค้าและบริการลดลง เงินก้อนนี้ก็จะถูกเก็บออมหรือนำไปลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

ขณะที่ผลเสีย คือ การเพิ่มภาระหนี้สาธารณะจะมากขึ้นเพราะ การแจกเงินก้อนใหญ่ให้กับประชาชน ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะจะต้องมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศหรือประชาชนในประเทศ ส่งผลให้ภาระหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น เพราะภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ประเทศมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากประเทศจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ

รัฐบาลควรใช้โอกาสในการนำไปใช้อย่างคุ้มค่ามากกว่า เพราะเงิน 560,000 ล้านบาท สามารถนำไปใช้อย่างคุ้มค่ากว่าการแจกเงินให้กับประชาชน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทักษะแรงงาน หรือช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพราะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างงานให้กับประชาชน ในขณะที่การพัฒนาทักษะแรงงาน จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ หรือนำเงินไปให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ที่มา ธปท. : https://www.bot.or.th/th/our-roles/special-measures/Tom-Yum-Kung-lesson.html

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT