อินไซต์เศรษฐกิจ

BBC ประกาศ 'เลิกทำทีวี' เตรียมผันเป็นสื่อออนไลน์เต็มตัวใน 10 ปี

14 ธ.ค. 65
BBC ประกาศ 'เลิกทำทีวี' เตรียมผันเป็นสื่อออนไลน์เต็มตัวใน 10 ปี

หากพูดถึงยักษ์ใหญ่ในวงการวิทยุโทรทัศน์ที่ใครๆ ก็น่าจะรู้จัก ชื่อของ BBC (ที่ย่อมาจาก British Broadcasting Corporation) น่าจะเป็นชื่อที่เข้ามาในใจของหลายๆ คน 

แต่หลังจากทำกิจการมาเป็นเวลาถึง 100 ปี ในวันนี้เจ้าของกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมเจ้าใหญ่ของอังกฤษอาจจะต้องเอาตัวบีตัวที่ 2 หรือ broadcasting ออกไปจากชื่อเสียแล้ว เพราะ Tim Davie ผู้อำนวยการใหญ่ของ BBC ออกมาประกาศว่า BBC จะค่อยๆ เปลี่ยนจากผู้กระจายเสียงทางวิทยุหรือโทรทัศน์ (broadcastor) เป็นสื่อออนไลน์เต็มตัวในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าจากแนวโน้มผู้ชมโทรทัศน์ที่ลดลง

istock-1168432415

โดยเขากล่าวว่า ในอนาคต BBC จะทยอยยกเลิกช่องย่อยของ BBC เช่น BBC One และ BBC Radio 4 ก่อนจะยกเลิกการออกอากาศรายการทางโทรทัศน์และวิทยุทั้งหมดภายใน 10 ปีข้างหน้า และโยกคอนเทนต์ทั้งหมดไปไว้ในแพลตฟอร์มออนไลน์เดียว โดย BBC อาจคงบางรายการที่มีฐานผู้ชมอยู่ต่อไป แต่เมื่อยกเลิกกิจการโทรทัศน์แล้ว รายการเหล่านั้นจะถูกนำเสนอและออกอากาศในรูปแบบรายการออนไลน์แทน 

แม้ว่าการปรับตัวของกิจการโทรทัศน์ และสื่อแบบดั้งเดิมจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วในยุคดิจิทัล การประกาศเลิกทำกิจการโทรทัศน์ของ BBC ในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะ BBC ถือเป็นกิจการ broadcasting ที่ใหญ่และมีชื่อเสียงมากของโลก จนถ้าจะมีโทรทัศน์ช่องไหนล้มหายตายจากไปเพราะการเข้ามาของสื่อออนไลน์ BBC ก็น่าจะเป็นรายท้ายๆ ในหมู่พรรคพวก 

 

การเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนไป

จากการรายงานของ The Guardian การประกาศแผนการเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ BBC ในครั้งนี้เป็นการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดในโลกที่ผู้ชมรุ่นใหม่เปลี่ยนพฤติกรรมไปเสพสื่อทางออนไลน์กันมากขึ้น และผู้ชมรุ่นเก่าที่เติบโตมากับการเสพสื่อในทีวีกำลังค่อยๆ มีอายุสูงขึ้น และเสียชีวิตไป

Tim มองว่าในอนาคต ผู้ชมส่วนมากจะหันไปดูสื่อในโลกอินเทอร์เน็ต 100% และจะมีผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้ชมมีทางเลือกในการรับชมสื่อไม่จำกัด เพราะฉะนั้นในความคิดของเขา สื่อเก่าจึงต้องเร่งปรับตัว เปลี่ยนรูปแบบเนื้อหารายการให้ทันความต้องการและรสนิยมของผู้ชมที่เปลี่ยนไปให้เร็วที่สุด

โดยจากสถิติ ถึงแม้สื่อของ BBC ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุจะยังเข้าถึงผู้ชมชาวอังกฤษหลายสิบล้านคนต่อเดือน Tim กล่าวว่าจำนวนผู้ชมรายการสดของ BBC มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในระยะยาว จนทางบริษัทเห็นแนวทางแล้วว่าหากต้องการครองส่วนแบ่ง และตำแหน่งสื่อประจำชาติของอังกฤษต่อไป พวกเขาก็จำเป็นต้องเปลี่ยนคอนเทนต์และวิธีการนำเสนอให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้ชมที่เน้นความรวดเร็ว และความสะดวกสบายที่จะเข้าถึงคอนเทนต์ที่ชื่นชอบเมื่อไหร่ หรือในอุปกรณ์ไหนก็ได้

 

ผู้ชมอังกฤษหันไปชมคลิปสั้น และบริการสตรีมมิ่ง ดูทีวีเฉลี่ยแค่วันละ 3 ชั่วโมง

จากงานวิจัยของ Office of Communications หน่วยงานที่กํากับดูแลควบคุมสื่อทั้งหมดในสหราชอาณาจักรซึ่งมีอำนาจหน้าที่คลายคลึงกับ กสทช. ในประเทศไทย ในปี 2022 ผู้ชมในอังกฤษใช้เวลาดูรายการโทรทัศน์เฉลี่ยเพียงละ 3 ชั่วโมงต่อวัน ลดลง 20% จากในปี 2020 และ 5% จากปี 2019 โดยในช่วงมีการระบาดของโควิด จำนวนผู้ชมโทรทัศน์ได้ดีดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เพราะมีผู้ชมอยู่บ้านกันมากขึ้น

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังมีแนวโน้มดูโทรทัศน์ลดลง โดยจากการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ชมอายุ 16-24 ปีใช้เวลาดูโทรทัศน์ลดลงถึง 23% จากปีก่อนหน้า และใช้เวลาดูน้อยโทรทัศน์น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ คือเพียง 1 ชั่วโมง 52 นาที ต่อวันเท่านั้น

ในทางกลับกัน ผู้ใช้บริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix และ Amazon Prime กลับมีจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด โดยจากการวิจัยพบว่า ประชาชนในอังกฤษกว่า 60% มีสมาชิกของ Netflix และถึง 46% มีสมาชิกของ Amazon Prime ในขณะที่ 23% มีสมาชิกของ Disney+ ถึงแม้ผู้สมัครสมาชิกบริการเหล่านี้จะมีแนวโน้มเติบโตช้าลงเพราะการแข่งขัน และตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคที่มากขึ้น

istock-1218623710_1

แต่ในขณะที่โทรทัศน์มีแนวโน้มซบเซา และบริการสตรีมมิ่งมีแนวโน้มคงตัวและลดลง สื่อที่ยังเติบโตได้อย่างรวดเร็วก็คือสื่อในรูปแบบของ “คลิปสั้น” เช่น TikTok และ YouTube Reels ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้ชมอายุ 15-24 ปี โดยพวกเขาใช้เวลาเฉลี่ยถึงเกือบ 1 ชั่วโมงในแต่ละวันในการดูคลิป TikTok ซึ่งถือเป็นเลขที่ค่อนข้างสูง เพราะคลิป TikTok ส่วนมากมีความยาวไม่กี่นาที 

 

โทรทัศน์ไทยยังรอดท่ามกลางแพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่ง

อย่างไรก็ตาม หากกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทย กิจการโทรทัศน์ของไทยถือว่าเป็นผู้เล่นที่ปรับตัวได้รวดเร็ว โดยเฉพาะกิจการโทรทัศน์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ช่องวัน 31, ช่อง 33, ช่อง 23  เวิร์คพอยท์ และ ช่อง 34 อมรินทร์ทีวี ที่สามารถทำกำไรได้ทั้งหมดในปี 2021 จากการเน้นสร้างคอนเทนต์ที่สามารถเผยแพร่ได้ในหลายแพลตฟอร์ม เช่น ละครที่สามารถออนแอร์ได้ทั้งทางโทรทัศน์ และเผยแพร่ได้ในช่องทางออนไลน์

istock-1311244693

โดยจากข้อมูลที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ช่องวัน 31 ทำกำไรได้สูงสุดที่ 828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากปี 2020 

ช่อง 33 ทำกำไรได้ 761 ล้านบาท เพิ่ม 455.5% จากตัวเลขขาดทุนที่ 241 ล้านบาทในปี 2020

ช่อง 23 ทำกำไรได้ 324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104% จากปี 2020

ช่อง 34 ทำกำไรได้ 392.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.62% จากปี 2020

นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Nielsen ซึ่งรวบรวมโดย TV Digital Watch มูลค่าของโฆษณาทีวีดิจิทัลในเดือนสิงหาคมยังเพิ่มขึ้น 9.57% ในปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว โดยเพิ่มขึ้นเป็น 5,313.32 ล้านบาท จาก 4,849.02 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ Nielsen ปัจจัยหลักที่ทำให้กิจการโทรทัศน์ไทยยังอยู่รอดเป็นเพราะในปี 2021 คนไทยยังใช้เวลาส่วนมากในการรับชมรายการโทรทัศน์อยู่ คือใช้เวลา 4.10 ชั่วโมงต่อวันในการชมโทรทัศน์ ในขณะที่ใช้เวลา 3.45 ชั่วโมงต่อวันบนอินเทอร์เน็ต และใช้ 1.37 ชั่วโมงต่อวันในการฟังวิทยุ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คนไทยจะยังนิยมชมรายการโทรทัศน์อยู่ พฤติกรรมในการรับคอนเทนต์ก็เปลี่ยนไป เพราะจากผลสำรวจ อัตราผู้ชมรายการสดตามผังรายการมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ เพราะผู้ชมบางส่วนหันไปดูรายการโทรทัศน์บนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบออนดีมานด์ 

ซึ่งจากจุดนี้ ก็คงต้องมาดูกันต่อไปว่ากิจการโทรทัศน์ของไทยจะปรับตัวกันอย่างไรต่อไปเพื่อรักษาหรือเพิ่มฐานผู้ชม เพราะถึงแม้ในปัจจุบันคนไทยยังคงเคยชินกับการรับสื่อในรูปแบบรายการโทรทัศน์ หากความต้องการของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลสื่อโทรทัศน์ไทยก็อาจต้องออกมาประกาศเปลี่ยนกิจการเป็นสื่อออนไลน์เต็มตัวกันบ้างก็ได้




ที่มา: The Guardian, Forbes, TV Digital Watch

 




 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT