อินไซต์เศรษฐกิจ

เมืองไทยแพงเกินไป ดัน "อินเดีย" เป็นฮับใหม่ "การผ่าตัดแปลงเพศ"

25 พ.ค. 65
เมืองไทยแพงเกินไป ดัน "อินเดีย" เป็นฮับใหม่ "การผ่าตัดแปลงเพศ"

ถ้า "เกาหลีใต้" คือ Destination ของการผ่าตัดศัลยกรรมความงาม

"อินเดีย" ก็คือฮับแห่งใหม่ของวงการ "การผ่าตัดแปลงเพศ" ที่ว่ากันว่ากำลังเบียดแชมป์เดิมอย่าง "ประเทศไทย" ให้เอาท์ไปแล้ว



เปิดประสบการณ์ผ่าตัดแปลงเพศ ทำไมต้อง "อินเดีย"


AFP ยกเคสตัวอย่างของ Dale Archer ทหารเกษียณอเมริกันวัย 64 ปี ในแอริโซนา ที่ต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามานานหลายสิบปี ก่อนจะได้เกิดใหม่ในฐานะผู้หญิงสมใจ ที่คลีนิคในกรุงนิวเดลี พร้อมชื่อใหม่ว่า Betty Ann Archer
 
เบตตี้เคยป่วยหนักเข้าขั้นเฉียดตายมาในปี 2011 แต่ก็รอดมาได้พร้อมปณิธานแน่วแน่ว่า ต้องผ่าตัดแปลงเพศให้ได้ก่อนแล้วค่อยตาย สุดท้ายก็ได้เป้าหมายเป็นคลีนิคที่ชื่อว่า Olmec Centre ทางตอนเหนือของเดลี โดยยอมรับว่าจริงๆ ก็เล็ง "ประเทศไทย" เอาไว้เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ต้องตัดออกเพราะ "แพงเกินไป"
 
"อินเดียเป็นราคาที่พอจ่ายไหว และเป็นทางเลือกสำหรับชาวทรานส์ที่ไม่ต้องฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินพอจะผ่าตัดแปลงเพศ" เบตตี้ กล่าว
 
สาวข้ามเพศในอินเดีย

ขณะที่สำนักข่าว Wired ยกเคสตัวอย่างของ Kate Gillingan ในเวอร์จิเนีย ซึ่งเลือกไปผ่าตัดแปลงเพศที่นครมุมไบ ว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะไปผ่าตัดแปลงเพศที่อินเดีย แต่จากการลองหาข้อมูลก็พบข้อเสนอที่น่าสนใจในอินเดีย และเธอยังรู้สึกคุ้นเคยกับแพทย์เชื้อสายอินเดียมาระดับหนึ่งด้วย
 
เคทเป็นอีกรายที่หาข้อมูลในไทยก่อน เพราะมีชื่อเสียงในด้านนี้มาอย่างยาวนาน แต่สุดท้ายก็จบที่เหตุผลเดียวกันคือ "แพงเกินไป" และรู้สึกว่างานศัลยกรรมยังไม่น่าดึงดูดมากพอ
 

มีค่าใช้จ่ายเท่าไร?

 

เบตตี้จ่ายค่าผ่าตัดไป 6,000 ดอลลาร์ (ราว 204,780 บาท) ซึ่งถูกกว่าราคาในอเมริกาถึง 5 เท่า
 
แต่หากมีงบมากกว่านั้นและอยากรับบริการแบบครบครันสบายๆ ทางคลีนิคก็มีทริปผ่าตัดในราคาเหมาๆ 22,000 ดอลลาร์ (ราว 682,600 บาท) ซึ่งรวมถึงค่าที่พัก รถรับส่งสนามบิน การพักฟื้นหลังผ่าตัด รวมถึงพาไปเที่ยวทริปสั้นๆ ชมทัชมาฮาลและช้อปปิ้งแบบครบจบในคอร์ส
 
ส่วนเคทเสียค่าใช้จ่ายไปเบ็ดเสร็จแบบแพ็กเกจ 25,000 ดอลลาร์ (ราว 850,000 บาท) ซึ่งรวมทั้งค่าผ่าตัด ค่านัดหมอ ค่ายา ค่าที่พัก อาหาร การเดินทาง ซึ่งบริการทั้งหมดนี้ถ้าทำในสหรัฐ จะต้องจ่ายแพงกว่าหลายเท่าถึง 125,000 - 150,000 ดอลลาร์ (ราว 4.2 - 5.2 ล้านบาท)

การผ่าตัด
 
นอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว "เวลา" ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มทรานส์ (Transgender) หรือกลุ่มคนข้ามเพศตัดสินใจไปผ่าตัดที่เมืองนอกแทน เพราะหากเลือกผ่าตัดในบ้าน เช่น ที่อังกฤษ ต้องรอกระบวนการนานถึงประมาณ 2 ปีเลยทีเดียว เพื่อให้คนไข้ได้มีเวลาพิจารณาเพศใหม่ที่เลือกอย่างแท้จริง
 


อินเดีย ฮอตขนาดไหน
 
ในภาพรวมแล้ว ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนที่บอกได้ว่าอินเดียแซงหน้าไทย ที่เป็นศูนย์กลางของการศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศไปแล้ว (Gender Affirmation Surgery (GAS) แต่ในรายงานข่าวมีตัวเลขหลายด้านที่บ่งชี้ถึง "เทรนด์" ที่กำลังมาในอินเดีย
 
เฉพาะที่คลีนิค Olmec Centre เพียงแห่งเดียว บอกว่า รับเคสผ่าตัดแปลงเพศสูงสุดประมาณ 200 คน/ปี แต่ทางคลีนิคกำลังเห็น "เทรนด์" ที่ชาวต่างชาตินิยมมาผ่าแปลงเพศที่อินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะจากชาติตะวันตกอย่าง สหรัฐ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ที่มองหา Destination ราคาย่อมเยาว์ และทำให้ยอดคนไข้ต่างชาติพุ่งจากประมาณ 5 คน เป็น 20 คนต่อปี
 
แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า My Medi Travel ซึ่งเชื่อมต่อคนไข้กับโรงพยาบาลต่างๆ ระบุว่า คนไข้ที่เข้าคิวรอรับการผ่าตัดแปลงเพศในอินเดียมีประมาณ 36 ราย ตามมาด้วยเม็กซิโก 34 ราย มาเลเซีย 31 ราย และฟิลิปปินส์ 29 ราย ซึ่งอินเดียถืเป็นประเทศเป้าหมายเบอร์ แม้ว่าจะยังห่างชั้นหลายเท่ากับแชมป์เบอร์ 1 อย่างไทย ซึ่งอยู่ที่ 268 รายก็ตาม 

สาวข้ามเพศในอินเดีย



รัฐบาลช่วยโปรโมต "ท่องเที่ยวการแพทย์"
 
รัฐบาลอินเดียมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ทั้งในเชิงการแพทย์ทั่วไป ศัลยกรรม จนถึงการผ่าตัดแปลงเพศ เช่น มีการยกเครื่องระบบการขอวีซ่า M-visa ที่มีอายุ 1 ปี ให้สะดวกรวดเร็วทันใจขึ้น
 
สมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในอินเดีย ซึ่งเคยมีมูลค่าการตลาดประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ อาจเติบโตมากกว่า 2 เท่า ภายในปี 2020 ขณะที่บริษัทที่ปรึกษา Patients Beyond Borders ระบุว่า มีคนไข้ต่างชาติเลือกมารับการรักษาในอินเดียมากกว่า 250,000 คน/ปี

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT