การเงิน

วิกฤตแบงก์ล้ม ลามหรือไม่? จุดวัดใจธนาคารกลาง

18 มี.ค. 66
วิกฤตแบงก์ล้ม  ลามหรือไม่?  จุดวัดใจธนาคารกลาง

เพียงแค่ 1 สัปดาห์โลกก็ต้องระทึกกับเหตุการณ์ภาคธนาคารที่มีปัญหามากถึง 5 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นแบงก์ในสหรัฐที่ล้มหรือถูกสั่งปิด 3 แห่ง คือ Silvergate Bank (8 มี.ค.), Silicon Valley Bank- SVB (10 มี.ค.) , Signature Bank (12 มี.ค.) ส่วนอีก 2 แห่งที่อาการน่าเป็นห่วงคือ First Republic ธนาคารในสหรัฐเช่นกัน และ  Credit Suisse ธนาคารใหญ่อันดับ2ของสวิสเซอร์แลนด์

คำถามว่า ยังมีธนาคารไหนมีปัญหาอีกมั้ย? คำตอบ คือ มี หากว่าธนาคารกลางของประเทศที่ธนาคารมีปัญหาเอาไม่อยู่ ปัญหาก็อาจจะบานปลายได้ 

“สาเหตุสำคัญที่เป็นเช่นนั้น เพราะ “ขาดความเชื่อมั่น”  มันคือสิ่งเดียวที่สามารถทำให้แบงก์ใหญ่แค่ไหนก็ล้มได้” 

ปัญหาลามหรือไม่ลาม ขึ้นอยู่กับธนาคารกลาง

“ความเชื่อมั่น” นี้เองที่ทำให้เมื่อแบงก์เกิดปัญหา ปุ๊ป!  ธนาคารกลาง ต้อง Take Action ปั๊ป ! ซึ่งเราเห็นชัดเจนว่า ธนาคารกลางสหรัฐ รีบจัดการ SVB ,  Signature ทันทีโดยใช้กลไกของ FDIC และ Bank Term Funding  ประชาชนสามารถถอนเงินได้เต็ม100 %  หรือ กรณีของ Credit Suisse ธนาคารใหญ่อันดับ2ของสวิสเซอร์แลนด์ ธนาคารกลางสวิส ก็รีบประกาศปล่อยกู้ให้แน่นอน และยืนยันว่า สถานะของ  Credit Suisse ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  

นั่นเพราะการแก้ปัญหาที่เร็ว ตรงจุด และแรงเพียงพอ นอกจากเป็นการช่วยแก้สถานการณ์แบงก์ที่มีปัญหาแล้ว ยังเป็นการฟื้นความเชื่อมั่นให้คน หยุดขาย หยุดถอนเงิน ได้ ยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามบานปลาย 

มีการเปิดเผย งบดุล Balance Sheet  ของธนาคารกลางสหรัฐ ที่เป็นตัวบ่งบอกว่า เฟดได้เข้าไปช่วยเหลือภาคธนาคารที่มีปัญหาอย่างไรแล้วบ้างโดยพบว่า เฟดมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์ นั่นคือ  297,381 ล้านดอลลาร์ หากเทียบระหว่างวันที่ 8 มีนาคม ก่อนเกิดปัญหา SVB และ 15 มีนาคม  2566 

เพจเฟซบุ๊กของ ดร.กอปศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)  มีการโพสตั้งข้อสังเกตุการเพิ่มขึ้นของขนาดงบดุลเฟดว่า  

3 แสนล้านดอลลาร์ใน 1 สัปดาห์ !!! คือจำนวนเงินที่เฟดต้องอัดฉีดออกไป เพื่อช่วยกอบกู้แบงค์ ไม่ให้ล้มเป็นลูกโซ่ สำหรับหลายคนที่อยากรู้ว่าหลังจากผ่านไป  1 สัปดาห์แบงค์ในสหรัฐเป็นอย่างไรสถานการณ์ปัจจุบันแย่แค่ไหนดีขึ้นบ้างหรือไม่ จากข้อมูล Balance Sheet ของเฟดล่าสุด พบว่าเมื่อเทียบระหว่างวันที่ 8 มีนาคม ก่อนเกิดปัญหา SVB และ 15 มีนาคม เฟดมียอดสินเชื่อเพิ่ม 297,381 ล้านดอลลาร์ จะเห็นได้ว่า ส่วนมากที่เพิ่มมาจาก

  1. สินเชื่อหมวด Primary Credit ที่เป็นหน้าต่าง Discount Window ที่เฟดให้กู้ยืมกับสถาบันการเงินที่มีฐานะไปได้ (generally sound financial condition) ซึ่งก็คือ แบงค์ทั่วๆ ไปที่ยังไม่โดนปิดหมวดนี้ เพิ่มขึ้นจาก 4,581 ล้านดอลลาร์ เป็น 152,853 ล้านดอลลาร์

  2. สินเชื่อหมวด Other Credit Extension เป็นหน้าต่างที่เฟดให้กู้กับแบงค์ที่ FDIC ดูแล พูดง่ายๆ แบงค์ที่มีปัญหาเช่น Silicon Valley Bank และ Signature Bank เป็นต้น หมวดนี้ เพิ่มขึ้นจาก 0 ดอลลาร์ เป็น 142,800 ล้านดอลลาร์ 

  3. สินเชื่อหมวด Bank Term Funding ที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อให้สถาบันการเงินเอาพันธบัตรมาแลกเป็นสภาพคล่องหมวดนี้
    ใช้ไปแล้ว 11,943 ล้านดอลลาร์ จากที่ตั้งไว้ 25,000 ล้านดอลลาร์  หรือใช้ไปแล้วประมาณ 50% ของเงินที่ตั้งเอาไว้

ตัวเลขเหล่านี้ เป็นดัชนีที่สามารถใช้ติดตามสถานการณ์แบงค์ในสหรัฐได้ทั้งนี้ เงินที่แบงค์ที่ยังปกติอยู่กู้ยืมจากเฟดในหมวดแรก คิดเป็นประมาณ 1% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของแบงค์ในสหรัฐอยู่ที่ 22 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ เป็นของแบงค์ใหญ่ๆ ในสหรัฐ 15 แห่งประมาณ 13.4 ล้านล้านดอลลาร์

งบดุล ธนาคารกลางสหรัฐ

และสำหรับในกลุ่มแบงค์ที่มีปัญหาที่เราได้ยินชื่อกันSilicon Valley Bank ใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐSignature Bank ใหญ่เป็นอันดับที่ 29  First Republic Bank ใหญ่เป็นอันดับที่ 14 คงต้องมาดูว่าต่อไปจะมีใครอีกที่มีปัญหาจะมีแบงค์ใหญ่กว่านี้อีกหรือไม่เฟดจะขยาย Bank Term Funding เพิ่มอีกไหม เมื่อใช้ครบที่ตั้งไว้แล้วสุดท้าย ทั้งหมดจะมีนัยยะกับการประชุมเฟดและสัญญาณต่างๆ ที่จะถูกสื่อออกมา ในวันที่ 22 มีนาคมอย่างไร โดยกรรมการเฟดจะได้เห็นข้อมูลเพิ่มในอีก 4-5 วันที่เหลือว่า สถานการณ์แบงค์ทั้งหมดเป็นอย่างไร และคงนำมาประกอบการพิจารณา


จับตา FRB  หลัง 10 แบงก์ใหญ่ช่วยเสริมสภาพคล่อง  

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ ณ วันนี้ ( 18 มีนาคม 2566) ภาวะตลาดเงิน ตลาดทุน รวมไปถึงบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ก็ยังเต็มไปด้วยความกังวล ความระแวง และความไม่มั่นใจ แถมยังขุดคุ้ย ค้นหาข้อมูลความเคลื่อนไหวสภาพและอาการของธนาคารต่างๆอย่างใกล้ชิด 

First Republic

โดยแบงก์ล่าสุดที่ต่อสู้กับภาวะเสี่ยงล้ม คือ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ First Republic Bank หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ แต่มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับที่ 14 ของสหรัฐทรุดตัวลง 32.8% หลังธนาคารประกาศระงับการจ่ายเงินปันผล แม้ว่าธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐประกาศอัดฉีดเม็ดเงินรวมกันถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ FRB ก็ตาม


ทั้งนี้ 10 ธนาคารขนาดใหญ่ที่ลงขันกันฝากเงินใน FRB  คือ แบงก์ ออฟ อเมริกา, เวลส์ ฟาร์โก, ซิตี้กรุ๊ป และเจพีมอร์แกน ฝากรายละ 5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ฝากเงินรายละ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ฟากธนาคารทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล, พีเอ็นซี, ยูเอส แบงคอร์ป, สเตทสตรีท และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน ฝากเงินใน FRB รายละ 1 พันล้านดอลลาร์

ส่วนทาง SVB  (Silicon Valley Bank)  เมื่อคืนนี้ก็มีรายงานว่า SVB Financial Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ได้ทำการยื่นเรื่องต่อศาลนิวยอร์กเพื่อขอรับการพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลาย โดยบริษัทมีสภาพคล่อง 2.2 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์มูลค่า 2.09 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เป็นการเปิดทางเลือกเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาสถานการณ์ของบริษัทได้มากขึ้น  

สินทรัพย์ทั่วโลก ยังตกอยู่ในความกังวล 

ขณะที่ สินทรัพย์ทั่วโลก ยังตกอยู่ในความกังวล  สะท้อนได้จากภาวะสินทรัยพ์ต่างๆที่บ่งบอกว่า ยังกังวล กับเหตุการณ์ธนาคารล้มตลาดหุ้นสหรัฐ  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,861.98 จุด ลดลง 384.57 จุด หรือ -1.19%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,916.64 จุด ลดลง 43.64 จุด หรือ -1.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,630.51 จุด ลดลง 86.76 จุด หรือ -0.74% หากดูในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.1%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.4% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 4.4% หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ โดยกลุ่มการเงินร่วงลงมากที่สุด

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันศุกร์ (17 มี.ค.) และร่วงลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่มาตรการสนับสนุนภาคธนาคารของรัฐบาลสหรัฐและยุโรปไม่ได้ช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตธนาคารระดับโลก โดยดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 436.31 จุด ลดลง 5.33 จุด หรือ -1.21% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,925.40 จุด ลดลง 100.32 จุด หรือ -1.43%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,768.20 จุด ลดลง 198.90 จุด หรือ -1.33% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,335.40 จุด ลดลง 74.63 จุด หรือ -1.01%

ตลาดหุ้นไทย  ในวันศุกร์ (17 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,563.67 จุด ลดลง 2.25% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 79,285.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.57% จากสัปดาห์ก่อน SET Index ร่วงลงหนักท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสถาบันการเงินบางแห่งในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์

เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันเงินดอลลาร์ฯ จากปัญหาของแบงก์บางแห่งในสหรัฐฯ และการคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่สามารถส่งสัญญาณคุมเข้มได้มากนักในการประชุม FOMC วันที่ 21-22 มี.ค. นี้

ส่วนราคาทองคำ พุ่งขึ้น 500 บาทต่อบาททองคำในช่วงเช้าวันนี้  เช้านี้ราคาทองพุ่งขึ้นทีเดียว 500 บาท! ทองคำแท่ง รับซื้อ 31,650 บาท ขายออก 31,750 บาท ทองรูปพรรณ รับซื้อ 31,078 บาท ขายออก 32,250 บาท/บาททองคำ หวั่นปัญหาธนาคารล้ม!  

ปิดท้ายที่ ราคาบิตคอยน์ ขึ้นมามากกว่า 30% ในรอบสัปดาห์อยู่ที่ 27,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ต่อ1 บิตคอยน์ ล่าสุด 11.45 น.ปรับขึ้นราว 6%ใน1วัน 

VDO ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแบงก์ล้ม 

advertisement

SPOTLIGHT