การเงิน

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เครดิตสวิส’? ทำไมหุ้นลง 30% กระทบการเงินโลกแค่ไหน ?

16 มี.ค. 66
เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เครดิตสวิส’? ทำไมหุ้นลง 30% กระทบการเงินโลกแค่ไหน ?

ภาคการธนาคารเรียกว่าเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัดกันไม่หยุดหย่อนในช่วงนี้ เพราะหลังจากมีข่าวการล้มละลายของ 3 ธนาคารในสหรัฐฯ ไปไม่ถึงสัปดาห์ ทางฝั่งยุโรปก็มีข่าวใหญ่เช่นกัน เมื่อหุ้นของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของยุโรปดิ่งสูงสุดถึง 30% ในคืนวันที่ 16 มี.ค. จากแรงเทขายของนักลงทุนที่หวาดกลัวว่าเครดิตสวิสจะเป็นรายต่อไปที่ล้ม

โดยในเช้านี้ ตลาดหุ้นเอเชียต่างได้รับผลกระทบจากความกังวลดังกล่าวกันอย่างถ้วนหน้า ในการซื้อขายช่วงเช้าดัชนี Nikkei 500 ลดลง 0.33% จากวันก่อนหน้า Hang Seng Index ลง 1.53% Ho Chi Minh Stock Index ลง 1.21% ขณะที่ SET Index ของไทยลง 0.90% จากหุ้นธนาคารที่ปรับตัวลงยกกระดาน

เกิดอะไรขึ้นกับธนาคารเครดิตสวิส? ทำไมหุ้นถึงปรับตัวลง? มีปัญหาถึงขนาดมีสิทธิล้มละลายหรือไม่? และจะส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารและเศรษฐกิจโลกอย่างไร ทีมข่าว SPOTLIGHT สรุปให้อ่านกัน

 

เกิดอะไรขึ้นที่ธนาคารเครดิตสวิส?

เมื่อคืนวันที่ 16 มี.ค. หุ้นของธนาคารเครดิตสวิสร่วงลงถึง 30% ไปแตะราคาต่ำสุดที่ 1.56 ฟรังก์สวิส ก่อนจะค่อยๆ ขึ้นมาปิดตลาดที่ 1.7 ฟรังก์สวิส หรือลดลง 24.24% จากวันก่อนหน้า โดยสาเหตุในเบื้องต้นเป็นเพราะ Saudi National Bank (SNB) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของเครดิตสวิสประกาศว่าจะไม่ซื้อหุ้นของเครดิตสวิสเพิ่มอีก เพราะด้วยเหตุผลทางกฎหมาย Saudi National Bank ไม่สามารถถือหุ้นในเครดิตสวิสเกิน 10% ได้ ปัจจุบัน Saudi National Bank ถือหุ้นทั้งหมด 9.88% ในเครดิตสวิส ตามข้อมูลของ Refivitiv

การที่ SNB ออกมาประกาศว่าจะไม่ให้ซื้อหุ้นหรือให้เงินสนับสนุนแก่ Credit Suisse ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สถานะการเงินของธนาคารเครดิตสวิสมีความง่อนแง่นไม่มั่นคง ประกอบกับมีข่าวอื้อฉาวมากมายจนมีชื่อเสียงไม่ค่อยดีอยู่แล้ว

โดยในปี 2021 ธนาคารเครดิตสวิสได้ถูกหน่วยงานด้านการกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรสั่งปรับถึง 147 ล้านปอนด์ เพราะพบว่ามีพนักงานของเครดิตสวิสรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลประเทศโมซัมบิกเพื่อปล่อยกู้ให้กับ ‘อุตสาหกรรมปลาทูน่า’ ของโมซัมบิกในอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ที่ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจโมซัมบิกและสร้างหนี้มหาศาลให้กับประเทศ

นอกจากนี้ จากข้อมูลของบลจ. อีสต์สปริง เมื่อเดือนมีนาคมในปีเดียวกัน ทางเครดิตสวิสยังเจอปัญหาขาดทุนหนักจากการล้มละลายของ Archegos Capital Management ของมหาเศรษฐี Bill Hwang ซึ่งขาดทุนจากการเข้าเดิมพันเกินขนาดหรือการใช้ margin เข้าซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากก่อนที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลงแรง และโดน margin call ให้บังคับขายหุ้นออกมาในราคาขาดทุน ส่งผลให้เครดิตสวิสขาดทุนถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ากำไรทั้งปีของบริษัท ขณะที่มูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ปรับตัวลงแรง เนื่องจากราคาหุ้นของ Archegos ก็ปรับตัวลงแรงเช่นกันก่อนที่บริษัทจะล้มละลายในระยะถัดมา 

นอกจากนี้ทาง Credit Suisse ยังได้รับความเสียหายทางชื่อเสียงจากการปิดกองทุน 4 กองทุนที่บริหารร่วมกับ Greensill Capital หลังจากบริษัทล่ม อีกทั้งยังถูกผู้สื่อข่าวต่างประเทศเปิดโปงในปีเดียวกันว่าให้บริการลูกค้าที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น การค้ายา ฟอกเงิน และคอร์รัปชั่น รวมไปถึงมีส่วนช่วยกลุ่มมาเฟียบริษัทยาบัลแกเรียฟอกเงิน ถึงแม้เครดิตสวิสจะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

โดยในช่วงปี 2021-2022 ที่ผ่านมา เครดิตสวิสยังมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิโดยขาดทุน 7,306 ล้านฟรังก์สวิส และ 1,626 ล้านฟรังก์สวิสตามลำดับ และหากพิจารณางบการเงินของธนาคาร จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินฝากลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 เครดิตสวิสมีจำนวนเงินฝากอยู่ที่ 234,554 ล้านฟรังก์สวิส ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่มีอยู่ 393,841 ล้านฟรังก์สวิส หรือลดลงกว่า 40% 

จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้หุ้นของเครดิตสวิสดิ่งลงเหวในครั้งนี้เกิดจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนที่เกิดจากเหตุการณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายปีมาแล้ว และเมื่อนักลงทุนใหญ่ของธนาคารออกมาประกาศว่าไม่สามารถให้เงินทุนกับธนาคารเพิ่มได้อีก นักลงทุนจึงตัดสินใจเทขายเพราะกลัวว่าเครดิตสวิสจะมีชะตากรรมเดียวกับธนาคารของสหรัฐฯ 3 ธนาคารที่เพิ่งปิดตัวไปในสัปดาห์นี้

 

สถานการณ์ตอนนี้น่ากังวลแค่ไหน จะลุกลามหรือไม่?

เครดิตสวิสเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอัน 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นอันดับที่ 17 ของยุโรป อีกทั้งยังเป็นหนึ่งใน 30 ธนาคารที่เรียกได้ว่าเป็น ธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก หรือ “global systemically important bank” 

ด้วยขนาดที่ใหญ่ขนาดนี้ทำให้แน่นอนว่าถ้าเครดิตสวิสเกิดล้มละลายขึ้นมาจริงๆ เศรษฐกิจของทั้งโลกจะได้รับผลกระทบมากกว่าการล้มของธนาคารในสหรัฐฯ แน่นอน เนื่องจากเครดิตสวิสเป็นธนาคารที่มีธุรกรรมในต่างประเทศในปริมาณที่ค่อนข้างสูง รวมถึงมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการสูงถึง 1.6 ล้านล้านฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของ GDP ของ EU ซึ่งส่วนมากเป็นเงินฝากจากบริษัทระดับโลกและกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง

อย่างไรก็ตาม สถานดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะล่าสุด เครดิตสวิสได้ติดต่อขอกู้เงินถึง 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิสจากธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์แล้วเพื่อมาพยุงสภาพคล่อง และธนาคารแห่งชาติสวิส (SNB) และหน่วยงานกำกับดูแลการเงินสวิสก็ได้ออกมาแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนแล้ว โดยระบุว่าพร้อมจะเข้าช่วยเครดิตสวิสหากจำเป็น 

จากรายงานของ บลจ. อีสต์สปริง ทางทีมกลยุทธ์การลงทุนมีมุมมองว่าธนาคารกลางสวิสต้องเข้ามาช่วยเหลือเครดิตสวิส เพราะธนาคารนี้เป็นธนาคารที่เรียกได้ว่า “Too Big to Fail” หรือมีขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศสวิสเซอร์แลนด์และของยุโรปเกินกว่าที่ธนาคารจะปล่อยให้ล้ม โดยทางบลจ. มองว่าทางเลือกของเครดิตสวิสในขณะนี้ยังมีได้ตั้งแต่ 

  1. การเพิ่มทุนจากนักลงทุนรายอื่นๆนอกเหนือทาง Saudi National Bank  
  2. ขายสินทรัพย์เพิ่มเติม  
  3. ขายกิจการให้กับ UBS ซึ่งCEO UBS ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้) 
  4. ขอความช่วยเหลือจาก Swiss National Bank

 

ส่วนทางด้าน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ ประเมินว่า หากพิจารณาตามอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญเครดิตสวิสน่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนตามมาตรฐานสถาบันการเงินโลกได้ โดยในปัจจุบันเครดิตสวิสมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET1 ratio) 14.4% (ขั้นต่ำ 4.5%) เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 ratio)  20.3%  (ขั้นต่ำ 6%) และมีอัตราส่วนเงินทุนโดยรวม (Total capital ratio) 20.5% (ขั้นต่ำ 8%) 

ดังนั้นหากธนาคารกลางเข้ามาให้ความมั่นใจกับผู้ฝากเงิน ธนาคารกลางก็จะช่วยรักษาเสถียรภาพของเครดิตสวิสได้ ซึ่งในระหว่างนี้เครดิตสวิสจะต้องปรับโครงสร้างธนาคาร ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือขายแผนกที่ไม่ทำกำไรออกไปเพื่อสร้างรักษาความมั่นคงในระยะยาว

 

ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร?

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์จะเข้ามาประคองสถานการณ์ในตอนนี้และพร้อมจะสนับสนุนด้านสภาพคล่อง บลจ. อีสต์สปริงมองว่าในตอนนี้ sentiment ตลาดยังค่อนข้างเปราะบางต่อข่าวในภาคธนาคารทั้งในสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งส่งผลภาพรวมการลงทุนจะมีความผันผวนต่อไป ขณะที่ต้องจับตาการประชุม ECB ในสัปดาห์นี้เช่นกัน ว่าจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร และจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เท่าไหร่ เพราะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพของระบบการเงิน

อีสต์สปริงแนะนำให้ wait&see การลงทุนในยุโรปไปก่อนสำหรับนักลงทุนระยะสั้น และหาโอกาสเข้าสะสมสำหรับนักลงทุนระยะยาวหลังธนาคารสวิสเซอร์แลนด์เข้ามาแสดงท่าทีพร้อมให้ความช่วยเหลือ

 

ที่มา: The Guardian, Reuters, BBC, CNBC




advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT