การเงิน

3 กูรูการเงิน เชื่อ SVB กระทบไทยไม่มาก

14 มี.ค. 66
3 กูรูการเงิน เชื่อ SVB กระทบไทยไม่มาก

สรุปความเห็นของบรรดานักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจากหลากหลายสถาบัน ถึงความเคลื่อนไหวและผลกระทบต่อตลาดการเงินโลก ตลาดการเงินไทย ใครมีความเห็นเป็นอย่างไร ทีม Spotlight รวบรวมมาให้ ดังนี้

บลจ.จิตตะ เวลธ์  เชื่อผลกระทบปิด SVB อยู่ในวงจำกัด หลังเฟดออกมาตรการดูแลผู้ฝากเงินอย่างรวดเร็ว ลดปัญหาแบงก์รัน ชี้ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกดดันเฟดให้ชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ มั่นใจส่งผลกระทบพอร์ตลงทุนธีมหุ้นสหรัฐฯ เล็กน้อย เหตุมีการกระจายลงทุนในหุ้นกว่า 700 บริษัท แนะนักลงทุนเลือกหุ้นคุณภาพดีและกระจายความเสี่ยงให้พอร์ต

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด

“ การปิด SVB และธนาคาร Silvergate ย่อมสร้างผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจโลก ทางการสหรัฐฯ เข้ามาดำเนินการเร่งด่วน ทำให้โอกาสการลุกลามของปัญหาอยู่ในวงจำกัด ต่างจากกรณีการล้มของ Lehman Brothers ในปี 2008 ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วตลาดหุ้นร่วงหนัก โดยเฉพาะ Nasdaq ปรับร่วงกว่า 4.71% แต่เช้าวันที่ 13 มีนาคม ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสหรัฐปรับขึ้นถ้วนหน้า หลังจากทางการสหรัฐฯ มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับลดลง ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของปัญหานี้มาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วของ FED ดังนั้น FED อาจจะต้องทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนใดบ้าง ซึ่งปัจจุบันตลาดได้คาดการณ์ว่า FED อาจปรับลดความร้อนแรงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ส่งผลดีต่อ Sentiment การลงทุน” 

jitta

ส่วนของบลจ.จิตตะ เวลธ์ ยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับพอร์ตการลงทุน Jitta Wealth อยู่บ้าง เช่น ธีมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร แต่มั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีการกระจายการลงทุนกว่า 700 บริษัท ส่วนนโยบายการลงทุนอื่นๆ อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะบริษัทเทคที่มีเงินฝากและธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารที่มีปัญหา แต่ด้วยมาตรการช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ เรามองว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

ทั้งนี้ ในโลกตลาดการเงิน นักลงทุนมีโอกาสเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตได้ทุกเมื่อ เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงิน แต่สิ่งสำคัญคือการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ ลงทุนบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีระเบียบทางด้านการเงินและมีความสามารถทางการแข่งขัน เพราะบริษัทเหล่านี้จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้เจอสถานการณ์ที่ผันผวน และการกระจายความเสี่ยงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญ ช่วยสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวอย่างยั่งยืน

CIMBT มองตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความผันผวนจากความกังวล ส่วนตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ผันผวนเช่นกันจากแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง คาดเงินบาทเคลื่อนไหว 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน CIMBT ดร.อมรเทพ​ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร​สำนัก​วิจัย​และที่ปรึกษา​การลงทุน​ ธนาคาร​ซีไอเอ็มบี ​ไทย​ การปิด SVB น่าจะส่งผลกระทบจำกัดต่อตลาดการเงินสหรัฐฯ มองตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าจะยังผันผวนจากความกังวลว่าจะมีแบงก์ไหนเป็นรายต่อไปที่ล้ม หรืออย่างน้อยก็ห่วงการลงทุนในกลุ่มการเงินไว้ก่อน​ รวมทั้งกลุ่มเทคขนาดเล็กที่คนอาจกังวลปัญหาขาดเงินทุน​โดยเฉพาะช่วงอัตราดอกเบี้ย​ขาขึ้นเช่นนี้”

ทั้งนี้ ปัญหาการว่างงานในสหรัฐ​ หากจะเพิ่มขึ้น​ ก็น่ากระจุกในกลุ่มเทคที่จะมีการเลิกจ้างเพิ่มเติม​ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ​ เพราะดอกเบี้ย​ที่​สูงขึ้นทำต้นทุน​สูงตาม​ รายได้โตไม่ทัน​ ต้องหาทางลดรายจ่าย​ ลดคน​ แต่ไม่น่ารุนแรงไปกระทบภาคอื่นมาก​ สหรัฐยังไม่อัตราการว่างงานต่ำ​ แม้ขยับเป็น​ 3.6% แต่ก็นับว่าต่ำมาก​ โดยเฉพาะยังมีการเติบโตของค่าจ้างในกลุ่มภาคบริการมาก​ หาคนทำงานยาก​ ปัญหานี้ยังลากยาว​ ไม่น่าส่งผลให้คนว่างงานมากขึ้นจากกรณี​ SVB​ ล้ม

cimb

ส่วนอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีโอกาสลดลงจากปีก่อน​ที่เฉลี่ย​ 8% ปีนี้น่าอยู่ที่ราว​ 4% แต่หากจะลดลงแบบเดือนต่อเดือน​ คงยาก​ เพราะอัตราค่าจ้างยังสูงขึ้น​ บริษัท​ยังต้องขยับราคาสินค้าเพิ่ม​ และการคาดการณ์​ราคาสินค้ายังสูง​ แต่หากเศรษฐกิจ​สหรัฐ​มีปัญหา​ ชะลอลงแรงจริง​ อัตราเงินเฟ้อก็อาจลดลงได้บ้าง​ แต่ไม่น่าลงได้เร็วเหมือนในอดีต​ เพราะมีปัญหา​เชิงโครงสร้าง​ ห่วงโซ่อุปทาน​ยังมีปัญหา

“ ผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นผ่านตลาดเงิน ตลาดทุน มีแนวโน้มผันผวนในสัปดาห์นี้ อาจมีแรงเทขายทรัพย์สินเสี่ยงบ้าง เงินบาทน่าขยับแบบ​ sideway 35-36​ บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ได้ ​ส่วนหาก​ SVB มีปัญหาลามต่อหรือมีความไม่แน่นอนต่อ​ก็อาจกระทบภาคการส่งออกของไทย ซึ่งก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ส่วนธนาคารพาณิชย์ของไทย คงไม่น่าจะมีปัญหา เพราะธปท.ไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารลงทุนใน Crypto โดยตรง ขณะที่กลุ่มการเงินก็ยังคงถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก Regulators ของไทย”  

SCB CIO มองธนาคาร SVB ปิดกิจการ เป็นปัญหาเฉพาะตัว โอกาสยังค่อนข้างน้อยที่จะนำไปสู่วิกฤตการเงิน แต่ Fed จะพิจารณาผลการขึ้นดอกเบี้ยสะสมต่อเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น แนะนำรอประเมินประสิทธิภาพมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูงได้

ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์  จำกัด (มหาชน) กรณีที่ Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารในแคลิฟอร์เนีย  ถูกทางการสั่งปิดกิจการนั้น เป็นปัญหาเฉพาะตัวที่เกิดจาก โครงสร้างฐานลูกค้าที่มีการกระจุกตัว (client base concentration) อยู่ในกลุ่มธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) และ Startup รวมทั้งมีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด (asset/liability mismatching)

โดย SCB CIO มีมุมมองว่า โอกาสที่ประเด็นปัญหาของ SVB จะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินการธนาคารทั้งระบบ คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ในปี 2551 ยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจาก ในรอบนี้ ปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาเฉพาะตัวของธนาคารที่มีเงินฝากเติบโตรวดเร็วแต่ฐานกระจุกตัว และมีการนำเงินฝากส่วนใหญ่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่ แต่ราคาลดลงเมื่อในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แทนที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถ้าเป็นดอกเบี้ยลอยตัว อย่างน้อยรายได้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

quote_spotlight2023

“ มุมมองดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้  SCB CIO เชื่อว่า Fed จะนำประเด็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นในระบบการเงิน มาเป็นปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจในการประชุม FOMC 21-22 มี.ค.โดย Fed fund futures และตลาดพันธบัตร บ่งชี้ว่า ตลาดเริ่มประเมินว่า โอกาสที่ Fed จะกลับไปขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงเริ่มมีน้อยล และ SCB CIO ยังคงมุมมอง Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค. กลยุทธ์การลงทุน คือ การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังคงต้องติดตามว่ามาตรการ  SRE และ BTFP จะมีประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องสภาพคล่องของภาคธนาคารมากน้อยและรวดเร็วแค่ไหน โดยมองว่าจากแนวโน้มนโยบายของ Fed ที่น่าจะเริ่มเห็นการหยุดขึ้นดอกเบี้ยภายในไตรมาสที่ 2 นี้ บวกกับแรงขายพันธบัตรจากสถาบันการเงินที่มีก่อนหน้าเริ่มชะลอลง หลังจาก Fed น่าจะเริ่มเข้าไปจัดการกับปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่มีปัญหา เราเชื่อว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เป็นจังหวะที่ทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง”

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT