การเงิน

ปักหมุดลงทุนต้นปีด้วยวิถี DCA มุ่งหน้าสู่ความมั่งคั่ง การเงินมั่งคง

14 ม.ค. 66
ปักหมุดลงทุนต้นปีด้วยวิถี DCA  มุ่งหน้าสู่ความมั่งคั่ง การเงินมั่งคง

สวัสดีปีใหม่ 2566 ครับ หวังว่าจะเป็นปีที่ดีของทุกท่านถ้วนหน้ากันครับ

ในปีที่ผ่านมานักลงทุนอาจจะบาดเจ็บจากตลาดที่ผันผวนรุนแรง จนออกอาการซวนแซ และต้องการที่พึ่งทางใจ เพื่อตั้งต้นการลงทุนใหม่อย่างมีหลักการ เริ่มต้นปีกระต่ายทอง 2566 แบบนี้ผมจึงเตรียมของขวัญดีๆ มาฝากนักลงทุนทั้งสายมูเตลูและที่ไม่ใช่สายมูก็ควรพกติดกระเป๋าลงทุนไว้นะครับ 

นั่นคือ Wallpaper สไตล์ VI ( Value Investor หรือนักลงทุนเน้นคุณค่า ) ที่ออกแบบให้มีคาถาในไพ่ทุกใบ ประกอบด้วย Quote จากนักลงทุนระดับโลก ไม่ว่าจะ ปู่ Buffett , Peter Lynch และอีกมากมาย เพื่อคอยเตือนสติการลงทุน ทุกคราวที่คุณเปิดจอมือถือขึ้นมา

เอาละครับลองเลือกดาวน์โหลด Wallpaper ไปเสริมพลังดวงการเงินกันได้ที่ https://jitta.co/3XhmLjY ผมหวังว่า Wallpaper นี้จะช่วยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจนักลงทุนที่มุ่งมั่นจะเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า สามารถฝ่าฟันมรสุมที่ในปีนี้ยังคงเห็นแรงสะบัดหางกันอยู่เป็นระยะๆ นะครับ ได้คาถากันแล้วรีบตั้งสติ​ และตั้งหลักลงทุนใหม่กันดีกว่าครับ  

ต้นปีแบบนี้เราจะเริ่มต้นก้าวเดินไปในถนนสาย VI อย่างไรดี ผมมีคำตอบมาไขโจทย์ให้ครับ ก่อนอื่น ผมขอย้ำว่า ‘ฤกษ์ที่ดี คือเลิกรอ!’

กลยุทธ์จับจังหวะ ‘ซื้อหุ้นต่ำสุด ขายสูงสุด’ ไม่มีจริงในโลกลงทุน

ถ้าคุณถามว่า ‘ให้เลิกรอ แล้วลงทุนเลย แต่จะเข้าลงทุนตอนไหนดีล่ะ แค่ต้นปี หลายๆ ตลาด ดูเหมือนแกว่งขึ้นๆ ลงๆ เฮ้อออ’ จริงๆ แล้วการใช้กลยุทธ์ ‘จับจังหวะลงทุน’ ยังไม่ใช่คำตอบถูกต้องเสียทีเดียวครับ แม้ที่ผ่านๆ มา นักลงทุนทั่วโลกต่างก็ต้องเคยใช้กลยุทธ์ ‘จับจังหวะตลาด’ หรือ Market Timing ในการลงทุนกันมาก่อนทั้งนั้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงยิ่งขึ้น

ซึ่งในความเป็นจริงการพยายาม ‘จับจังหวะตลาด’ เพื่อซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุดและทำผลตอบแทนให้ได้สูงที่สุด ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ เลย เพราะไม่มีคาดเดาได้ล่วงหน้าว่า ต่ำสุดหรือสูงสุดอยู่ตรงไหนกันแน่ นักลงทุนที่มีฝีมือระดับโลกหลายคนก็ไม่สนับสนุนให้จับจังหวะตลาด หลังจากได้ผ่านบทเรียนเจ็บปวดเหล่านี้มาแล้ว จึงมองว่า Market Timing เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนได้คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องเสียไป

หนึ่งในนั้นคือ Peter Lynch นักลงทุนสาย VI บอกว่านักลงทุนส่วนใหญ่เสียเงินจากการจับจังหวะตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงปรับฐาน มากกว่าการลงทุนในช่วงตลาดปรับฐานจริงๆ เสียอีก ยิ่งกว่านั้น การจับจังหวะตลาด อาจทำให้คุณเสียโอกาสลงทุนที่สามารถพลิกชีวิตไปเลยก็ได้

ผมไม่เถียงครับว่า การจับจังหวะตลาดอย่างสมบูรณ์แบบ จะทำให้ผลตอบแทนดีขึ้นได้ แต่สิ่งที่หลายคนไม่เคยรู้ คือ กลยุทธ์นี้มันจะดีขึ้นมากอย่างมหาศาลหรือไม่ การจะพิสูจน์ผลลัพธ์ก็ยังทำได้ยากยิ่ง

 ลงทุนในหุ้น

บทพิสูจน์ ‘DCA’ ใช้เป็นกลยุทธ์ลงทุนรับปีกระต่ายว่องไว

ผมขอหยิบยกการทดสอบของ Jitta Wealth ที่ทำการพิสูจน์ผ่านข้อมูล Back Test 20 ปี เพื่อหาคำตอบว่า ผลตอบแทนจากการ ‘จับจังหวะตลาด’ นั้น ได้สูงกว่าผลตอบแทนจากกลยุทธ์อื่นๆ มากแค่ไหน อาจทำให้คุณได้กลยุทธ์ลงทุนใหม่ ที่ช่วยให้คุณมีความสุข และพอร์ตเติบโตในระยะยาว

โดยยกตัวอย่างนักลงทุนระยะยาว 5 คน ใช้กลยุทธ์การลงทุน 5 แบบที่แตกต่างกันตลอดระยะเวลา 20 ปี (ปี 2545-2564) สมมติให้ทุกคนได้รับเงินลงทุนเท่าๆ กันทุกต้นปี คือ 10,000 บาท นำไปลงทุนในหุ้นตามดัชนีอ้างอิง เพื่อหาคำตอบว่า สุดท้ายแล้ว กลยุทธ์ลงทุนของทั้ง 5 คนนี้ สามารถทำให้เงินลงทุนเติบโตขึ้นเป็นเท่าไรในระยะเวลา 20 ปี

  • นายสมบูรณ์แบบ ผู้จับจังหวะตลาดได้แม่นยำ มีทักษะและโชคดีราวฟ้าประทาน สามารถซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุดได้ทุกปี และทำได้อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 20 ปี
  • นายเรียบง่าย ใช้กลยุทธ์ลงทุนที่แสนจะเรียบง่าย นั่นคือ ลงทุนตลาดหุ้นในวันทำการแรกของทุกปี
  • นายสม่ำเสมอ ผู้แบ่งเงินลงทุนออกเป็น 12 ก้อนเท่าๆ กัน และนำมาลงทุนทุกต้นเดือน กลยุทธ์ลงทุนเรียกว่า Dollar-cost Averaging (DCA) ทำทุกเดือนต่อเนื่องเป็นเวลา 20 ปี
  • นายอับโชค ผู้ไม่มีโชคในการลงทุน ทุกครั้งที่เขาลงทุนจะซื้อหุ้นที่จุดสูงสุดในรอบปีอยู่เสมอตลอด 20 ปีเต็ม
  •  นายเฝ้ารอ ผู้นำเงินไปพักไว้ในตั๋วเงินคลังเพื่อรอโอกาสซื้อ เรียกว่าเป็นหนึ่งในนักจับจังหวะตลาด แต่กลับทำไม่ได้อย่างนายสมบูรณ์แบบ ทุกครั้งที่ราคาหุ้นตกลงไปแตะจุดต่ำสุด เขาก็จะรอโอกาสที่ดีกว่า เขาจึงไม่ได้ลงทุนเลยสักครั้งตลอด 20 ปี

ลงทุนแบบ DCA

หลังจากที่นักลงทุนทั้ง 5 คน ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบเดิมติดต่อกันเป็นเวลา 20 ปี คุณคงจะเดาผู้ชนะได้ไม่ยากว่าใครสามารถทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดจากการลงทุนระยะยาวครั้งนี้

ผลลัพธ์เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี เมื่อโฟกัส ‘ผลตอบแทน’ จากพอร์ตลงทุนทั้ง 5 รูปแบบ ผ่านการลงทุนหุ้นตามดัชนีอ้างอิงของตลาดหุ้นประเทศต่างๆ (ยกเว้นพอร์ตของนายเฝ้ารอ ที่ ‘รอ’ จับจังหวะจนไม่ได้เริ่มลงทุนหุ้นสักที เงินทั้งหมดจึงถูกนำไปลงทุนในตั๋วเงินคลังของประเทศนั้นๆ แทน)

ผลตอบแทนจากการลงทุนตามดัชนี SET TRI ตลอดระยะเวลา 20 ปี ปีละ 10,000 บาท (ใส่เงินลงทุนรวม 2 แสนบาท) ปรากฏว่า นายสมบูรณ์แบบ มีมูลค่าพอร์ต 746,024 บาท นายเรียบง่าย มีมูลค่าพอร์ต 666,713 บาท ส่วนนายสม่ำเสมอ 606,118 บาท และนายอับโชค 424,684 บาท ขณะที่ นายเฝ้ารอ ได้แค่ดอกเบี้ยตั๋วเงินคลัง พอร์ตจึงมีมูลค่า 236,909 บาท

จะเห็นว่าจากการลงทุนระยะยาว 20 ปี ทำให้เงินลงทุนจาก 200,000 บาทเติบโตขึ้นได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งอยากให้โฟกัสคือ ผลตอบแทนจากพอร์ตลงทุนทั้ง 5 นี้ แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

แม้นายสมบูรณ์แบบทำผลตอบแทนได้สูงสุดจากการจับจังหวะตลาดได้อย่างเพอร์เฟกต์ แต่ในความเป็นจริง การจับจังหวะตลาดได้แม่นยำติดต่อกัน 20 ปี เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีใครจับจังหวะได้อย่างแม่นยำและถูกต้องทุกครั้ง

ส่วนพอร์ตของนายเรียบง่ายและนายสม่ำเสมอ ที่ใช้กลยุทธ์ง่ายๆ แค่ลงทุนในวันทำการแรกของปี หรือ กลยุทธ์ DCA ที่ถัวเฉลี่ยลงทุนหุ้นทุกเดือน จะเห็นว่าผลตอบแทนที่ได้ก็อยู่ในระดับน่าพอใจ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก เพียงแค่รักษาวินัยการลงทุนของตัวเองให้ได้เท่านั้น

หรือต่อให้คุณลงทุนที่จุดสูงสุดของทุกปีอย่างนายอับโชค ผลตอบแทนที่ทำได้ก็ยัง ‘ดีกว่า’ การไม่ลงทุนเลยแบบนายเฝ้ารอ คุณจะเห็นว่าการรอจับจังหวะตลาดในช่วงที่ดีที่สุดที่ไม่เคยมาถึง จะทำให้คุณเสียโอกาสการทำผลตอบแทนไปอย่างมากมายมหาศาล

 

ลงทุน

เพื่อให้การพิสูจน์นี้เห็นผลเต็มที่ชัดเจนมากขึ้น เรายังได้ทำการทดสอบกับดัชนีตลาดหุ้นอื่นๆ นอกเหนือจากดัชนี SET TRI ด้วย ไม่ว่าจะเป็นตลาดใหญ่ๆ อย่าง ดัชนี S&P 500 TRI ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ พบว่า นายสมบูรณ์แบบแม้จับจังหวะตลาดได้แม่นยำสามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้ แต่มันไม่ใช่จำนวนเงินที่มากมายเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของนักลงทุนคนอื่น แม้แต่พอร์ตลงทุนของนายอับโชคที่ลงทุนตรงจุดสูงสุดของตลาดหุ้นทุกครั้ง ก็สามารถทำผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจเช่นกัน

ดัชนี CSI 300 TRI ของตลาดหุ้นจีน ก็พบว่า นายสมบูรณ์แบบ ทำผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยจากการจับจังหวะตลาด ผลลัพธ์คล้ายคลึงกับ ดัชนี SET TRI ของตลาดหุ้นไทย 

ดัชนี VNI TRI ของตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่มีความผันผวนกว่าตลาดอื่น แต่ก็แลกมาด้วยศักยภาพการเติบโตของตลาดหุ้นที่สูงกว่าตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งนายสมบูรณ์แบบและนายเรียบง่าย สามารถทำผลตอบแทนให้พอร์ตมีมูลค่าทะลุ 1 ล้านบาทได้

และสุดท้าย ดัชนี TOPIX TRI ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น พบว่า นายสมูบรณ์แบบ ทำผลตอบแทน ได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการจับจังหวะตลาด ขณะที่กลยุทธ์ลงทุนอื่นๆ สามารถทำผลตอบแทนได้ดีเช่นกัน ที่สำคัญ DCA เป็นกลยุทธ์ที่ทำได้จริงและง่ายแม้แต่ผู้ที่ไม่เคยลงทุนก็สามารถทำตามได้

ผลลัพธ์ของทั้ง 5 กลยุทธ์ที่พิสูจน์ออกมา จะเห็นว่าในบางครั้ง การใช้กลยุทธ์จับจังหวะตลาด ไม่ได้สร้างความแตกต่างในผลตอบแทนได้สูงจนน่าตกใจ แต่กลับกัน…กลยุทธ์ลงทุนที่เรียบง่ายอย่าง ลงทุนทันทีเมื่อปีใหม่ หรือถัวเฉลี่ย DCA ก็สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาว แบบน่าประทับใจได้เช่นเดียวกัน

ในบางครั้ง วิถี DCA อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับคุณ เพราะนอกจากคุณจะทำตามได้ง่ายแล้ว ยังทำให้คุณไม่จำเป็นต้องติดตามข่าวสารตลาดหุ้นทุกวันจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ติดตามข่าวสารการเคลื่อนไหวใดๆ เลยนะครับ แม้ว่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวก็ตาม แต่อย่างน้อยคุณก็ต้องดูแลพอร์ตด้วยการรู้ว่า เงินคุณลงทุนอยู่ในสินทรัพย์อะไรบ้าง หมั่นคุยกับที่ปรึกษาการลงทุนเพื่อ round up สถานการณ์ต่างๆ ว่าจะกระทบต่อเงินลงทุนคุณมากหรือน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องปรับพอร์ตหรือไม่ การลงทุนระยะยาวไม่ใช่ปล่อยให้พอร์ตนอนนิ่งๆ นานๆ ครับ

จับกระแสลมเปลี่ยนทิศโลกลงทุน กับ ‘3 Factors’ แห่งปี 66

หลังจากที่ผมติดอาวุธการลงทุนให้คุณแล้ว ผมขอมาอัพเดตสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนในปีนี้ ด้วยปัจจัยหลักๆ 3 เรื่องสำคัญ

เรื่องแรก Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร?

ในปี 2565 ทั้งปี Fed ขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 4.25% จนดอกเบี้ยนโยบายฝั่งสหรัฐฯ ขึ้นมาแตะ 4.25% - 4.50% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 ที่เกิดวิกฤติซับไพรม์และตามมาด้วยจุดเริ่มต้นของมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ (QE) ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะทำสถิติจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 15 ปีเดิมอยู่ที่ 5.25% ถ้าดูจากการคาดการณ์เงินเฟ้อของ Fed ในปัจจุบัน ทำให้ก็มีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะทะลุ 5.25% ในปี 2566 นี้

คงจำกันได้ ปีที่แล้ว Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) พูดในโทน Hawkish คือ เน้นการขึ้นดอกเบี้ยอย่างร้อนแรง เพื่อสยบเงินเฟ้อ และเขาก็เคยกล่าวไว้ “ประวัติศาสตร์ ไม่เคยให้อภัยความพยายามผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ยก่อนกำหนด”

แม้ตอนนี้ นักเศรษฐศาสตร์รวมถึงนักวิเคราะห์ทั่วโลกจะยังมีเสียงแตกบ้าง หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 2565 อยู่ที่ 7.1% และคาดว่ามีแนวโน้มจะลดลง ก็ประเมินว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดแค่กลางปีนี้ ซึ่งก็จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หยุดชะงักและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession แค่ในช่วงสั้นๆ

แต่อีกกระแสหนึ่งกังวลว่าการที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดกันไว้ เพื่อสยบเงินเฟ้อให้ลงสู่กรอบเป้าหมาย 2% อย่างราบคาบนั้น อาจจะยิ่งลากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ถดถอยนานขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ระหว่างทางในปีนี้ ก็จะมีกระแสนี้สร้างความผันผวนอยู่ตลอดเวลา

หากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นเวลานาน มักหอมหวานสำหรับเจ้าหนี้ แต่เป็นของแสลงสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น เพราะบริษัทที่กู้ยืมเงินมาลงทุนต้องจ่ายต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โครงการไหนที่ไม่คุ้มค่าลงทุนก็จะถูกเลื่อนออกไปก่อน จะทำให้ผลดำเนินงานก็เติบโตช้าลง

เศรษฐกิจสหรัฐ

แต่หากสถานการณ์เป็นไปตามที่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ใน Wall Street และนักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นกันไว้ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีโอกาสที่ Fed จะต้องกลับทิศนโยบายดอกเบี้ยจาก ‘ขาขึ้น’ เป็น ‘ขาลง’ แทน นั่นก็เหมือนเป็นสัญญาณที่ดีว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นก็น่าจะกลับมาสดใสขึ้น

ดังนั้น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนทิศของตลาดหุ้นในปีนี้ ซึ่งไม่มีใครคาดเดาล่วงหน้าว่า หุ้นลงต่ำสุดหรือยัง ดังนั้น การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยหรือ DCA จะช่วยให้คุณเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการทยอยลงทุนได้ครับ

เรื่องที่สอง จีนเปิดประเทศแล้ว จะกลับมาเป็นคนเดิมที่เคยรู้จักไหม?

จากช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด เศรษฐกิจจีน เป็นเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยขับให้เศรษฐกิจโลกเดินหน้าตามไปด้วยกัน แต่เมื่อจีนเลือกที่จะปิดตัวเองด้วยมาตรการ Zero Covid โลกทั้งใบก็สั่นสะเทือนตามไปด้วย เพราะจีนเป็นทั้งฐานการผลิตสินค้าสำคัญที่คอยป้อนเข้าสู่ตลาดโลก ให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัท แล้วก็เป็นผู้นำเข้าหรือผู้บริโภครายใหญ่ของสินค้าอีกหลายชนิดเช่นกัน

จีนสำคัญกับโลกแค่ไหน สะท้อนจากเสียง Jerome Powell ประธาน Fed เคยกล่าวเมื่อต้นปี 2565 ว่า ปัญหาสินค้าขาดแคลนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัสดุก่อสร้างที่รู้กันดีว่าส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน 

ด้านประธานาธิบดี Xi Jinping ก็เคยกล่าวในที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่งต่อสมัย 3 ในเดือนตุลาคม 2565 ว่า “โลกต้องการจีน” และเน้นย้ำว่า “จีนต้องการเติบโตอย่างมีคุณภาพ แทนที่จะเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วๆ เหมือนอดีต” ดังนั้นในระยะข้างหน้าเราอาจไม่ได้เห็นจีนมีตัวเลขการเติบโตสูงๆ อีกแล้ว

แม้จีนประเดิมต้นปีด้วยการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 แต่เป็นช่วงเวลาที่ชาวโลกกำลังเจอกับเศรษฐกิจชะลอตัว การค้าระหว่างประเทศที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของจีนก็อาจทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจจะเห็นการเติบโตที่ไม่สูงมากนัก

มองไปข้างหน้า พญามังกรจีนจะสามารถต้านแรงลม บินสูงเสียดฟ้าอย่างแข็งแกร่งเหมือนในอดีตได้หรือไม่ และเส้นทางการเติบโตอย่างมีคุณภาพของจีนจะมีนัยยะอย่างไรต่ออนาคตของโลก 

แต่ที่แน่ๆ ถ้าเศรษฐกิจจีนกลับมาเข้ารูปเข้ารอย แรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อน่าจะบรรเทาลงทั่วโลก บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นโลกก็น่าจะทยอยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง 

เศรษฐกิจจีน

เรื่องที่สาม ตลาดหุ้นจะลงต่ออีกแค่ไหน?

เป็นคำถามแบบกำปั้นทุบดิน แต่จริงๆ มันมีเหตุผลเบื้องหลังอยู่ เพราะปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระดับ Investment Grade ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในแผน Global ETF ของ Jitta Wealth ให้ผลตอบแทน (Yield) อยู่ในช่วง 5.3 - 5.7% ต่อปี

หากไปดูคาดการณ์ดัชนีและตัวเลขกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีหน้า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่ากำไรต่อหุ้นของดัชนี S&P 500 จะอยู่ที่ประมาณ 220-235 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ถ้าเอาไปเทียบกับดัชนี S&P 500 ที่แถวๆ 3,800 จุด ก็จะได้ว่า ‘ปัจจุบัน’ ค่า PE Ratio ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 16.2-17.3 เท่า

เมื่อคำนวณเป็น Earning Yield ในตลาดหุ้นวันนี้ ออกมาเป็นช่วง 5.8 - 6.2% ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตร Investment Grade ที่ 5.3 - 5.7% ต่อปี อย่างมากครับ ขณะที่ลงทุนในพันธบัตรมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นอย่างชัดเจน

แต่ถ้าจะทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรและตลาดหุ้นให้ ‘ห่างกันมากขึ้น’ เพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยง ก็มีอยู่ 2 ทางเลือก คือ 1) ดัชนี S&P 500 จะต้องลงต่อ หรือ 2) ต้องมีแรงซื้อพันธบัตรเพิ่ม เพื่อดันให้ราคาสูงขึ้นและผลตอบแทนหรือ Yield ของพันธบัตรต่ำลง 

ระหว่าง 2 ทางเลือกนี้ อันไหนมีโอกาสเกิดขึ้นสูงกว่ากัน? ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกันครับ เพราะสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตเท่านั้นที่จะบอกใบ้นักลงทุนได้

แต่หากคุณมีเป้าหมายว่าจะลงทุนระยะยาว เพียงแค่ยึดมั่นใจหลักการที่ถูกต้องและมีวินัยการลงทุนที่ดี เชื่อได้เลยว่าคุณจะได้ผลลัพธ์จากการลงทุนที่ยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน แต่สิ่งสำคัญ คุณควรหากลยุทธ์ที่ใช่สำหรับคุณปักหมุดลงทุนตั้งแต่ต้นปี และเลิกเป็นนายเฝ้ารอได้แล้ว

ขอให้มีความสุขกับการลงทุน จากใจ ผมและชาว Jitta Wealth และขอให้เป็นปีที่ตลาดหุ้นกลับมาสดใส ทุกกองทุนกลับมาเป็นบวก และเมื่อเราตั้งมั่นกับการลงทุนในวิถี DCA แล้วก็จะส่งให้พอร์ตเติบโตโดดเด้งเหมือนกระต่ายแน่นอนครับ

 

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

advertisement

SPOTLIGHT