การเงิน

"เลื่อนยืนยันตัวตนที่ตู้ฝากเงิน" ธปท.หาวิธีใหม่ไม่ให้กระทบประชาชน

27 ต.ค. 65
"เลื่อนยืนยันตัวตนที่ตู้ฝากเงิน" ธปท.หาวิธีใหม่ไม่ให้กระทบประชาชน
ไฮไลท์ Highlight

"ธปท.จะหารือร่วมกับหน่วยงานภายใต้การกำกับ เช่น สมาคมธนาคารไทย ที่จะหาวิธีที่ตอบโจทย์ และจะไม่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิธีการใช้บัตรเครดิต เดบิต และเอทีเอ็ม ซึ่งคิดว่าจะมีแนวทางอื่นๆ ที่สามารถทำได้" 

โดยระหว่างนี้ที่ ปปง.ได้เลื่อนการใช้บัตรเครดิต เอทีเอ็ม และเดบิต เพื่อการยืนยันออกไปก่อน ส่วนธปท.จะรับโจทย์มาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้รูปแบบใดในการยืนยันตัวตน อีกทั้งภาระยังไม่เกิดกับประชาชน

ยอมแล้ว! แบงก์ชาติ-ปปง. ทบทวนแผนการยืนยันตัวตนที่ตู้ฝากเงินอัตโนมัติ ที่เดิมจะให้เริ่มมีผล 15 พ.ย.นี้ "ให้เลื่อนออกไปก่อน" เตรียมหาวิธีใหม่ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีการฝากเงินผ่านเครื่องรับฝากและถอนเงินอัตโนมัติ (CDM) ที่จะต้องยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต นับตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไปนั้น ล่าสุดมีการลงความเห็นให้ "เลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน" แล้ว

ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกรุงไทยเพิ่งประกาศเรื่องกฎการยืนยันตัวตนที่ตู้ฝากเงินอัตโนมัติ เพื่อให้เป็นไปตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่ออกโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เนื่องจากพบปัญหาว่า การฝากเงินได้โดยไม่รู้ที่มาของผู้ฝาก อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการฟอกเงินของธุรกิจผิดกฎหมายได้กันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม "มีเสียงสะท้อนของประชาชน" ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียออกมาจำนวนมากว่า การยืนยันตัวตนด้วยบัตรเดบิต/บัตรเอทีเอ็มนั้น เป็นการ "ผลักภาระให้ประชาชน" เนื่องจากปัจจุบัน หลายคนเปลี่ยนมาทำธุรกรรมชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือโมบายแบงก์กิ้ง กันมากขึ้น อีกทั้งตู้ ATM ยังมีระบบให้ถอนเงินโดยไม่ต้องใช้บัตร ทำให้หลายคน "ยกเลิกการถือบัตรเดบิต" ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าธรรมเนียมรายปี ดังนั้น การบังคับให้ยืนยันตัวตนที่ตู้ฝากเงินอัตโนมัติด้วยการใช้บัตรเดบิต/เครดิต จึงอาจเป็นการผลักภาระให้ประชาชน

artboard1copy3_9_1

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เข้าใจโจทย์ของ ปปง.ที่มีกฎหมายต้องดำเนินการตามและมีเรื่องที่ต้องทำในส่วนของ ปปง.ด้วย ซึ่งหน้าที่ของ ธปท.จะหารือร่วมกับหน่วยงานภายใต้การกำกับ เช่น สมาคมธนาคารไทย ที่จะหาวิธีที่ตอบโจทย์ และจะไม่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิธีการใช้บัตรเครดิต เดบิต และเอทีเอ็ม ซึ่งคิดว่าจะมีแนวทางอื่นๆ ที่สามารถทำได้ 

โดยระหว่างนี้ที่ ปปง.ได้เลื่อนการใช้บัตรเครดิต เอทีเอ็ม และเดบิต เพื่อการยืนยันออกไปก่อน เนื่องจากเป็นผู้กำหนดกฎหมายนั้น ทางธปท.จะรับโจทย์มาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้รูปแบบใดในการยืนยันตัวตน อีกทั้งภาระยังไม่เกิดกับประชาชน

สำหรับวิธีเบื้องต้นที่มีการเสนอว่าจะให้ใช้ "บัตรประจำตัวประชาชน" นั้น แม้จะเป็นแง่ดีเพราะทุกคนต่างก็มีบัตรกันอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มี "ความเสี่ยง" เนื่องจากขั้นตอนการทำธุรกรรมที่ต้องเสียบบัตรประจำตัวประชาชน อาจจะเกิดการลืมบัตร หรือทำบัตรหายได้ หรือหากมองอีกมุมหากต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการเสียบบัตรใส่ตู้ธนาคาร CDM จะทำให้ธนาคารต้องเปลี่ยนระบบที่ตู้ของธนาคาร ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนธนาคารสูงขึ้น 

"ดังนั้น เรื่องการใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อทำการยืนยันตัวตน จึงยังไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมที่สุดหรือตอบโจทย์ที่สุด เพราะเมื่อต้นทุนธนาคารเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดก็ต้องมีการส่งผ่านต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมไปสู้ผู้บริโภคหรือประชาชนอยู่ดี" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ คาดว่าอาจจะมีวิธีอื่นที่เหมาะสมมากกว่า เช่น การใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ หรืออาจจะเป็นการคีย์เลขบัตรประชาชน หรือการใช้รหัส OTP ที่ใช้ยืนยันความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต เพื่อการยืนยันตัวตน ดังนั้น เรื่องนี้จะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกให้ตอบโจทย์ในวิธีที่เหมาะสมมากกว่า

“สำหรับโซลูชั่นจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องหาแนวทางร่งมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อย่างที่ทราบกันดีว่า ปปง.ได้เลื่อนการปรับใช้ที่ได้กำหนดเดิมว่าจะให้เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน ออกไปก่อน เพราะภาระยังไม่เกิดกับประชาชน ขณะเดียวกันระหว่างนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาทางออกถึงแนวทางร่วมกัน ซึ่งที่เล่ามาก็เป็นเรื่องที่เป็นแนวทางเท่านั้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT