พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยีลด์พุ่งแตะ 5% หลัง Moody’s ลดอันดับเครดิต กระตุ้นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
ในวันนี้ (19 พ.ค.) ตลาดการเงินสหรัฐฯ สะเทือนเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Treasury yields) อายุยาวปรับตัวขึ้นแตะระดับจิตวิทยา 5% และดัชนีฟิวเจอร์ส S&P 500 ร่วงลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลังจาก Moody’s Ratings ปรับลดอันดับเครดิตของรัฐบาลสหรัฐฯ ลงจากระดับสูงสุด Aaa เหลือ Aa1 โดยอ้างถึงภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง รวมถึงต้นทุนในการหมุนเวียนหนี้ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับสูง
มูดี้ส์ให้เหตุผลว่า การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ กำลังขยายตัวในอัตราที่น่าวิตก ขณะที่รัฐบาลหลายสมัยที่ผ่านมาไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักลงทุนเกี่ยวกับเสถียรภาพของตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สภาคองเกรสยังคงผลักดันนโยบายลดภาษีโดยไม่มีงบประมาณมารองรับ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็กำลังเผชิญแรงกดดันจากแนวทางกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง
Moody’s ได้กำหนด “เพดานเครดิตประเทศ” (country ceiling rating) ของสหรัฐฯ ไว้ที่ระดับ Aaa มาตั้งแต่ปี 1949 แต่การปรับลดอันดับในครั้งนี้ทำให้มูดี้ส์กลายเป็นสถาบันจัดอันดับรายสุดท้ายที่ยอมลดสถานะของสหรัฐฯ ลงมาให้อยู่ในระดับรองจากสูงสุด สอดคล้องกับท่าทีของสถาบันจัดอันดับชั้นนำรายอื่น ๆ
ธนาคารดอยช์แบงก์ให้ความเห็นว่า “นี่เป็นหมุดหมายสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ เพราะมูดี้ส์เคยเป็นรายสุดท้ายที่ยังคงจัดอันดับสูงสุดให้กับสหรัฐฯ”
มุมมองดังกล่าวทำให้ในวันนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับขึ้น 4 จุดพื้นฐาน สู่ระดับ 4.52% ขณะที่พันธบัตรอายุ 30 ปีเพิ่มขึ้น 6 จุดพื้นฐาน แตะ 5.00% ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่เห็นมาตั้งแต่ปี 2023 โดยสูงสุดอยู่ที่ 5.18% ในปีนั้น นับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2007
โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รายช่วงอายุ (ณ วันที่ 19 พ.ค.) เป็นดังนี้
แม้ Moody’s เพิ่งลดอันดับเครดิตรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการคลังชี้ว่า ความต้องการพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากนักลงทุนต่างชาติยังคงแข็งแกร่ง โดยยอดถือครองรวมจากต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สามในเดือนมีนาคม แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.05 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม จีนกลับลดการถือครองลง 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ เหลือ 7.654 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนดังกล่าว ส่งผลให้จีนหล่นจากอันดับ 2 มาอยู่อันดับ 3 ของเจ้าหนี้ต่างชาติ ขณะที่สหราชอาณาจักรก้าวขึ้นมาแทนด้วยยอดถือครอง 7.79 แสนล้านดอลลาร์
การปรับลดของจีนนำไปสู่กระแสคาดการณ์ว่าอาจเป็นสัญญาณของการลดการพึ่งพาสินทรัพย์ดอลลาร์ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม แบรด เซ็ตเซอร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะสะท้อน “การลดระยะเวลาถือครองตราสาร (duration)” มากกว่าจะเป็นการถอนการลงทุนอย่างเป็นระบบ
ขณะเดียวกัน สตีเวน เมเจอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยตราสารหนี้ของ HSBC เตือนว่า แม้ต่างชาติยังสนับสนุนตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง แต่อัตราผลตอบแทนที่พุ่งสูงจากแรงกดดันด้านการคลังและอันดับเครดิต ทำให้ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่า yield จะกลับเข้าสู่ระดับปกติได้ในเร็ววัน โดยระบุว่า “คำถามสำคัญคือ เส้นทางที่อัตราผลตอบแทนจะปรับลดลงจะเป็นอย่างไร ซึ่งในขณะนี้ เรายังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนเลย”
แม็กซ์ กอคมัน รองประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน Franklin Templeton ระบุว่า “การถูกลดอันดับเครดิตไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เนื่องจากรัฐบาลยังคงใช้จ่ายอย่างไร้ขอบเขตโดยไม่มีเงินรองรับ และแนวโน้มนี้ดูจะยิ่งเร่งตัวขึ้น” พร้อมเตือนว่า “ต้นทุนการชำระดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่เริ่มทยอยขาย Treasuries เพื่อเปลี่ยนไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยประเภทอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ Bear Steepener (เส้นอัตราผลตอบแทนชันขึ้นในฝั่งยาว) ที่กดดันดอลลาร์และทำให้หุ้นสหรัฐฯ ขาดความน่าสนใจ”
Wells Fargo คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 และ 30 ปีอาจปรับขึ้นอีก 5-10 จุดพื้นฐานในระยะสั้นจากแรงสะเทือนของ Moody’s
ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมักสนับสนุนค่าเงิน แต่ความวิตกด้านเสถียรภาพทางการคลังกลับทำให้ความเชื่อมั่นในดอลลาร์ลดลง โดยดัชนี Bloomberg Dollar Index ร่วงใกล้ระดับต่ำสุดของเดือนเมษายน ขณะที่ข้อมูลจากตลาดออปชันบ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นในดอลลาร์อ่อนแอที่สุดในรอบ 5 ปี
นักกลยุทธ์จาก Bloomberg ระบุว่า การลดอันดับเครดิตครั้งนี้ “ไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกมสำหรับสินทรัพย์สหรัฐฯ” เนื่องจากตลาด Treasuries ยังคงมีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง แต่ก็ยอมรับว่า “ธีมการกระจายการลงทุนออกจากสินทรัพย์สหรัฐฯ ยังคงแข็งแรง”
ขณะที่คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศสว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบกับยูโรในช่วงที่ผ่านมา สะท้อน “ความไม่แน่นอนและการเสื่อมความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ"
Societe Generale เตือนว่า หากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลและระดับหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว พร้อมเตือนถึงผลกระทบเชิงลบต่อเงินดอลลาร์และความต้องการจากนักลงทุนต่างชาติ
ในตลาดหุ้น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนี S&P 500 ร่วงกว่า 1% ในช่วงเช้าวันจันทร์ตามเวลาลอนดอน ขณะที่ Nasdaq 100 ร่วงมากกว่านั้น ETF ที่ติดตามดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ก็ปรับตัวลงประมาณ 1% หลังตลาดปิดในวันศุกร์ทันทีที่มีข่าว Moody’s
สำนักงานงบประมาณรัฐสภาสหรัฐฯ (CBO) คาดการณ์ว่า รัฐบาลจะมีหนี้สูงถึง 107% ของ GDP ภายในปี 2029 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ Moody’s คาดว่าขาดดุลการคลังจะขยายตัวแตะ 9% ของ GDP ภายในปี 2035 จาก 6.4% ในปี 2024 โดยมีแรงผลักดันหลักจากต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น สวัสดิการภาครัฐ และรายได้ภาษีที่เติบโตต่ำ
ขณะเดียวกัน สภาคองเกรสยังคงเดินหน้าออกกฎหมายลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มหนี้รัฐบาลอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ในระยะ 10 ปีข้างหน้า คณะกรรมาธิการภาษีประเมินมูลค่ารวมของกฎหมายที่ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่าอาจสูงกว่านั้นหากบทบัญญัติชั่วคราวถูกขยายเวลา
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จาก Barclays มองว่าการลดอันดับของ Moody’s จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการออกเสียงในรัฐสภา หรือกระตุ้นให้เกิดการเทขายพันธบัตร
“ตั้งแต่ S&P ปรับลดอันดับสหรัฐฯ ในปี 2011 ผลกระทบทางการเมืองของการลดอันดับก็แทบไม่หลงเหลือ” นักวิเคราะห์ Barclays กล่าว