หลังจากประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงาน สิ่งแรก ๆ ที่ต้องทำก็คือการลงมติดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งนอกจากประเด็นฮอตฮิตอย่างเงินดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ ครม. เพิ่งลงมติกันไปก็คือการยืดเวลาการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ระดับ 7% ไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน ปี 2568
ทั้งนี้ หากอ่านข่าวย้อนไปจะพบอีกว่า ครม. ต้องลงมติเห็นชอบต่ออายุการเก็บ VAT ที่ระดับ 7% ทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกับความเข้าใจของหลายคนที่ว่า อัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นคงตัวที่ 7% มาโดยตลอด แล้วอะไร คือ สาเหตุที่ทำให้ ครม. ต้องลงมติเห็นชอบต่ออายุการเก็บ VAT กันทุกปี บทความนี้มีคำตอบ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คืออะไร
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Value Added Tax (VAT) คือภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากผู้ประกอบการในการขายสินค้าหรือการให้บริการที่สร้างรายได้ให้แก่ตัวเองในประเทศไทย ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม VAT เป็น ‘ภาษีทางอ้อม’ ที่ผู้ประกอบสามารถเลือกที่จะผลักภาระให้กับผู้บริโภคได้ ปัจจุบัน เราจึงเห็นผู้บริโภคเป็นผู้จ่าย VAT ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการรวบรวม VAT และนำส่งให้กับกรมสรรพากรต่อไป
การเรียกเก็บ VAT ให้ครบถ้วนนั้นสำคัญมาก เพราะหากผู้ประกอบการไม่สามารถเรียกเก็บ VAT ได้ครบ พวกเขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เพราะถือว่ามีหน้าที่เรียกเก็บ VAT เพื่อนำส่งให้กับกรมสรรพากร แต่ไม่สามารถเก็บได้ครบถ้วน
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการและทุกร้านค้าจะต้องมีหน้าที่เรียกเก็บ VAT ทั้งหมด เพราะตามกฎสรรพากรแล้ว ธุรกิจที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องเป็นผู้ประกอบในไทยที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี หรือเป็นผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการที่อยู่ในข้อบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น โรงงาน การก่อสร้าง การก่อสร้างอาคารสำนักงาน และการติดตั้งเครื่องจักร
เหตุผลที่ ครม. ต้องลงมติเห็นชอบต่ออายุการเก็บ VAT
แม้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยเหมือนจะเรียกเก็บอยู่ที่ระดับ 7% มาโดยตลอดตามความเข้าใจของหลายคน แต่จริง ๆ แล้วไทยเคยเรียกเก็บ VAT ที่ระดับ 10% โดยเก็บมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535
ทว่าเมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เนื่องจากในช่วงเวลานั้นไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจการเงินครั้งใหญ่ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง”
หลังจากนั้นเป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีจะต้องพิจารณายืดระยะเวลาการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ระดับ 7% ทุกปี โดยในช่วงระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมานี้ จะมีกระแสข่าวอยู่เสมอเมื่อใกล้ช่วงระยะเวลาการพิจารณาว่ารัฐบาลอาจจะกลับไปเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ระดับ 10% อย่างที่ควรจะเป็น แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ระดับ 7% มาตลอด
โดยเหตุผลครั้งล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีเลือกคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ระดับ 7% คือ การมองว่าอัตราภาษีนี้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว และไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับประชาชน เนื่องจากการเพิ่ม VAT จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่กำลังรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ครัวเรือน
ต่างประเทศเก็บ VAT เท่าไร
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มยังแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยประเทศที่เก็บ VAT ในระดับสูง มักเป็นประเทศแถบนอร์ดิก หรือในยุโรป เช่น ฟินแลนด์ที่เก็บสูงถึง 25.5% รองลงมาคือเดนมาร์กและสวีเดนที่เก็บ 25%
แม้ว่าจะมีการเก็บ VAT ในอัตราสูง แต่รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นมักมีการยกเว้นหรือลด VAT ให้กับสินค้าบางชนิดที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน หรือต้องการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น ฟินแลนด์ ที่ลด VAT เหลือ 14% สำหรับร้านขายของชำและร้านอาหาร และลดเหลือ 10% สำหรับสินค้ายา บริการ อีเวนต์ด้านวัฒนธรรม การขนส่งมวลชน โรงแรม และหนังสือ
การเก็บ VAT ในอัตราสูงอาจทำให้หลายคนรู้สึกกังวลใจ แต่ประเทศเหล่านี้ล้วนมีชื่อเสียงในการใช้ภาษีเพื่อลงทุนทำระบบสวัสดิการให้กับประชาชน ทำให้แม้ VAT ในประเทศเหล่านี้จะสูงมาก แต่ประชาชนก็ยังยินดีที่จ่าย เพราะมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะนำสิ่งนี้ไปพัฒนาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง