ข่าวเศรษฐกิจ

วิกฤตซ้อนวิกฤต ภาคอุตสาหกรรมไทย 22 กลุ่ม กำลังเสี่ยงต้องปิดตัวลง

15 มิ.ย. 67
วิกฤตซ้อนวิกฤต ภาคอุตสาหกรรมไทย  22 กลุ่ม กำลังเสี่ยงต้องปิดตัวลง
ไฮไลท์ Highlight
“ท่ีสำคัญคือสินค้าของไทยตอนนี้ที่เราผลิตเริ่มล้าสมัย เป็นสินค้าที่โลกเริ่มไม่ต้องการแล้ว เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมของไทยจําต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่หมด ตัวเลขของจีดีพีไทยเฉลี่ยย้อนกลับไป 10 ปี นับจากปี 66 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 1.92% เท่านั้น สะท้อนว่าโมเดลเก่าของเราเริ่มไม่ทําเงินแล้ว”

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก KKP Research  ที่สะท้อนตัวเลขการปิดโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่พุ่งสูงมากขึ้นในช่วงตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 และสร้างผลกระทบให้เกิดกับแรงงานหลายหมื่นคนต้องตกงาน ประเด็นนี้ถูกตั้งคำถามว่า อนาคตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป เชื่อว่า คนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมกลุ่มต่างๆ กำลังให้ความสนใจ

ทีมงาน SPOTLIGHT ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และ ประเมินอนาคตภาคอุตสาหกรรมของไทยจะอยู่ตรงไหนของเศรษฐกิจโลก

ภาคอุตสาหกรรมไทยเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต

หากประเมินสถานการณ์จากข้อมูลของ KKP Research ล่าสุดคิดว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในขั้นวิกฤติหรือยัง?  

ตามตัวเลขที่ได้มีการรายงานมาถือเป็นข้อมูลที่ถูกต้องนะครับ เพราะการปิดโรงงานเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งโดยเฉพาะในต้นปี 67 ที่ผ่านมาหากนำตัวเลขการปิดโรงงานเปรียบเทียบปีต่อปี คือช่วง ม.ค.- เม.ย.พุ่งขึ้นถึง 151% เทียบกับปี 66 ส่งผลให้มีการเลย์ออฟพนักงานออกไปแล้ว 12,000  คน  ดังนั้นมาถึงปัจจุบันตัวเลขการปิดโรงงานสะสม น่าจะอยู่ราว 1,700-1,800 แห่งดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้มันอยู่ในอัตราเร่งที่น่าเป็นห่วง แต่สภาอุตสาหกรรมได้เคยอกมาเตือนและส่งสัญญาณแล้วตั้งแต่ปี 2566 

‘สถานการณ์วันนี้มีหลายความท้าทายที่ผสมผสานในเวลาเดียวกัน ตั้งแต่โควิดมาจนถึงเทรดวอร์ รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตรที่ยังทวีความเข้มข้นอยู่ และจะเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆเพราะฉะนั้นวันนี้การย้ายฐานการผลิต ขบวนการผลิต โครงสร้างการผลิตทั้งประเทศไทยเปลี่ยนไปหมดแล้ว แถมเรามีคู่แข่งในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นมามากมาย ‘

วันนี้ด้วยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์หรือเทรดวอร์ หรือ สงครามการค้าที่มีมาตรการออกมาตอบโต้ค่อนข้างรุนแรงส่งผลทําให้สินค้าของจีนถูกขึ้นภาษีนําเข้าในอัตราที่สูงมาก ล่าสุดรถไฟฟ้าหรือรถอีวีของจีนที่ครองความเป็นเจ้าตลาดแล้วส่งไปขายในอเมริกาภาษีสูงขึ้นจาก 27.5% ขึ้นไปอีก 75% กลายเป็น 102.5% เลยทําให้สินค้าเหล่านั้นเนี่ยต้องหันเหมาขายในภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะในเอเชีย เราจึงเห็นการไหล่บ่าของสินค้าจีนเข้ามา กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้จึงได้รับผลกระทบ

อุตสาหกรรมไทยเจอทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและสินค้าไทยล้าหลัง จริงหรือเปล่า? 

สาเหตุของการปิดตัวลงในภาคอุตสาหกรรมมาจากโครงสร้างของอุตสาหกรรมไทยเพราะ หากย้อนไปในอดีตประเทศไทยมีอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เราได้ทรานซ์ฟอร์มประเทศไปเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วจากประเทศเกษตรกรรมมาสู่ประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ เราเป็นฐานการผลิตที่มีแรงงานถูก แรงงานในวัยทํางานมีอยู่จํานวนมากในเวลานั้น ขณะที่ค่าที่ดินถูกนี่คือจุดแข็งของเราที่ผ่านมา แต่วันนี้โครงสร้างของไทยเปลี่ยนไปเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดใหม่น้อย แรงงานน้อยเราต้องนําเข้าแรงงานต่างด้าวจํานวนมาก  หลายอุตสาหกรรมสู้ไม่ได้เพราะว่าค่าแรงเราแพงเ เรามีคู่แข่งคือประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเวียดนามอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งกําลังมาแรงมีประชากรวัยทํางานจํานวนมากสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น จึงเกิดการย้ายฐานกันไปหมด นอกจากนียังเสียเปรียบเรื่องของ FTA ด้วย รวมถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการไทยไม่ดีเพราะรายได้ถูกกระทบ

“ท่ีสำคัญคือสินค้าของไทยตอนนี้ที่เราผลิตเริ่มล้าสมัย เป็นสินค้าที่โลกเริ่มไม่ต้องการแล้ว เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมของไทยจําต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่หมด ตัวเลขของจีดีพีไทยเฉลี่ยย้อนกลับไป 10 ปี นับจากปี 66 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 1.92% เท่านั้น สะท้อนว่าโมเดลเก่าของเราเริ่มไม่ทําเงินแล้ว”

กลุ่มอุตสาหกรรมไหนของไทยที่มีความเสี่ยงต้องปิดตัวลง ?

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีทั้งสิ้น 46 กลุ่ม ขณะนี้พบว่ามี 22 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจะปิดตัวลงไป ตัวอย่าง อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ใช้แรงงานเข้มข้น เริ่มแข่งขันไม่ได้ หรืออุตสาหกรรมยาง โดยยางรถยนต์ส่วนหนึ่งไทยเราได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกไม่ดี อัตราของการส่งออกรถยนต์ลดลง การบริโภครถยนต์ภายในประเทศลดลง บวกกับการย้ายฐานการผลิตของจีนหลังโดนกีดกันทางการค้าจากสหรัฐและยุโรป ส่งผลต่อผู้ผลิตคนไทย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรการแปรรูปอาหารทะเล การใช้แรงงานที่เข้มข้นในวันที่ค่าแรงสูง ทำให้เกิดการย้ายไปผลิตประเทศอื่น ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะปิดตัวลง 

อุตสาหกรรมเสี่ยงปิดตัว

นอกจากโรงงานในไทยมีความเสี่ยงต้องปิดตัวลงแล้ว กรณีของโรงงานผลิตของต่างชาติบางแห่งก็มีโอกาสปิดมากขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่นกรณี 2 ค่ายรถที่อยู่ในตลาดเมืองไทยมานานอย่าง Suzuki และ Subaru ที่ปิดโรงงานการผลิตและหันมาเปลี่ยนโมเดลนำเข้าแทน ซึ่งหาอนาคตมีโรงงานของต่างชาติต้องปิดลง ก็จะกระทบกับซัพพลายเชน หรือ ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ของไทยตามมาอีก  

ผู้ประกอบการไทยจะรับมืออย่างไร กับการย้ายฐานการผลิตของจีนและสินค้าจีนจากจีนทะลักเข้ามา?

ผมคิดว่าในภูมิภาคนี้ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องเทรดวอร์ สินค้าจีนผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากจีนต้องทดแทนจีดีพีในภาคอสังหาฯที่เสียหายไป 30%  เราโทษเค้าไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าประเทศต่างๆจะต้องดูแลตัวเอง แต่นั่นเพราะมาตรการในการดูแลตัวเองเหล่านี้ยังไม่ดีพอเพราะสินค้าจีนทุกวันนี้เข้ามาทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสินค้าออนไลน์ที่กระทบพ่อค้าเอสเอ็มอีของเรา คนรุ่นใหม่สั่งทางสินค้าออนไลน์ชิ้นเดียวสองชิ้นราคาถูกแถมส่งถึงบ้านทันที ซึ่งตอนนี้ไทยเราจะเก็บภาษี VAT สินค้านำ้เข้าที่ราคาที่ต่ำกว่า 1,500 บาท แต่นอกจากนี้ไทยยังสามารถใช้เครื่องมืออื่นในการปกป้องหรือดูแลผู้ประกอบการในประเทศได้มากกว่านี้ หากห็นว่า สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาดั้มตลาดในไทยอย่างไม่เป็นธรรม แต่ที่ผ่านมาไทยแทบไม่เคยได้ใช้เครื่องมือเหล่านี้กับประเทศใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็น มาตรการเซฟการ์ด การใช้ภาษีตอบโต้ ซึ่งไทยเรายังปรับตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เค้าป้องกันตัวเองได้ดีกว่าเรา 

“การป้องกันไม่ได้หมายความว่าเค้าป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันสามารถป้องกันไม่ให้สินค้าเข้ามาไหลบ่าได้มากกว่า 60 - 70% แต่ของเราใช้ได้น้อยกว่า เพราะฉะนั้นสินค้าที่เข้ามามากมันก็ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศอย่างช่วยไม่ได้ครับ แต่การที่โรงงานปิดไปแล้วโอกาสจะฟื้นกลับมาก็ยากเช่นกัน”

โอกาสรอดของอุตสาหกรรมไทย ควรปรับตัวไปในทิศทางไหน?

ผมคิดว่าการปรับฐานการผลิตของเรากําลังมุ่งสู่อุตสาหกรรมใหม่ เป็นอุตสาหกรรมที่โลกต้องการ เป็นทิศทางเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ข้อหนึ่งคือ ‘ความยั่งยืนหรือ sustainability’ เรื่องที่สอง คือเ พลังงานสะอาด โลกวันนี้ต้องการสินค้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดหรือ Renewable Energy อุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรากําลังพูดถึงเรื่องของเน็ตซีโร่หรือดีคาร์บอนไดเซชั่น สังคมที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นเทรนด์ของโลกและเป็นที่มาของอุตสาหกรรมทิศทางใหม่ที่ประเทศไทยโดยเฉพาะทางรัฐบาล และสภาอุตสากรรมเห็นตรงกันว่าเราจะต้องขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า Next Generation Industry ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีของไทยให้ได้ตามเป้าคือจีดีพีให้โตปีละ 5% ได้ครับ

ชมคลิปรายการเต็มได้ที่นี่ 

advertisement

SPOTLIGHT