ข่าวเศรษฐกิจ

เลือกตั้งอินโดนีเซีย 14 กุมภาฯ เศรษฐกิจจะผงาด เมื่อการเมืองเปลี่ยน ?

13 ก.พ. 67
เลือกตั้งอินโดนีเซีย 14 กุมภาฯ  เศรษฐกิจจะผงาด เมื่อการเมืองเปลี่ยน ?
ไฮไลท์ Highlight

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน และมากเป็นอันดับ 4 ของโลกกว่า 277 ล้านคน
ประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่พร้อมดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2023 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 5.05% ถือว่าชะลอลงจากปี 2022 ที่ 5.31%   
มีอะไรที่คนไทยต้องรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024 SPOTLIGHT สรุปมาให้ 5 ประเด็น

14 กุมภาพันธ์ 2567 วันวาเลนไทน์ที่ชาวอินโดนีเซียกว่า 200 ล้านคนต้องออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากที่ ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด อยู่ในตำแหน่งครบ2 สมัยก็คือนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ของอินโดนีเซียเป็นการเปลี่ยนประธานาธิบดีในรอบทศวรรษ  

หากผลการเลือกตั้งในวันแห่งความรักนี้ ไม่มีผู้สมัครคนใดทำคะแนนถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องมีการเลือกตั้งรอบ 2 อีกครั้งในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ซึ่งจะเหลือแคนดิเดทเพียง 2 คน ซึ่งก็คือผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 1 และ 2 จากการเลือกตั้งในวันนี้ (14ก.พ.2567) 

การเลือกตั้งของชาวอินโดฯไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่อินโดนีเซียเริ่มปฏิรูประบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยในปี 2541 ดังนั้นทั่วโลกจึงกำลังจับตามองอย่างมาก เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน และมากเป็นอันดับ 4 ของโลกกว่า 277 ล้านคน ประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่พร้อมดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2023 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 5.05% ถือว่าชะลอลงจากปี 2022 ที่ 5.31%   มีอะไรที่คนไทยต้องรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024 SPOTLIGHT สรุปมาให้ 5 ประเด็นดังนี้  

ใครคือว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย 

ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ปธน.ครั้งนี้มี 3 คน  ผู้ที่ผลโพลบอกว่า มีคะแนนนิยมมากเป็นอันดับ 1 คือ ปราโบโว ซูเบียนโต เค้าคือรัฐมนตรีกลาโหม วัย 72 ปี  อดีตลูกเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซียผู้ล่วงลับ  ที่ผ่านมาเคยลงสมัครชิงตำแหน่งปธน.มาแล้วถึง  3 ครั้ง และพ่ายแพ้ให้กับโจโก วิโดโด ในการเลือกตั้งปี 2014 และ 2019

ปราโบโว ซูเบียนโต
แฟ้มภาพจาก AFP 

คนต่อมาคือ กันจาร์ ปราโนโว วัย 55 ปี อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง สังกัดพรรครัฐบาลปัจจุบัน คือ Indonesian Democratic Party of Struggle (PDI-P) กันจาร์ มีแนวคิดสนับสนุนนโยบายส่วนใหญ่ของ โจโกวี่ แน่นอนหากได้รับเลือกตั้ง

ขณะที่ อานีส บาสเวดาน อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา  วัย 54 ปี ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยแรกของโจโกวี่มาแล้วแต่หลังปรับครม.อานีสหลุดจากตำแหน่งไป และต่อมาได้เข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งแน่นอนว่า แนวทางการหาเสียงของ อานีส จึงค่อนข้างแตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลชุดเดิมอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งในวันนี้ (14 ก.พ.67) น่าจับตาว่าปราโบโว จะชนะการเลือกตั้งตรงตามการสำรวจของ  Indikator Politik Indonesia เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่ ที่ระบุว่า ปราโบโว มีคะแนนนิยม  ที่ 51.8%  ตามด้วยอานีส 24.1% ในขณะที่ กันจาร์ 19.6%

การเลือกตั้ง 2024 ของอินโดนีเซียสำคัญอย่างไร? 

อินโดนีเซีย ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน และจัดเป็นตลาดที่ใหญ่ด้วยจำนวนประชากรกว่า 277 ล้านคน มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น ปริมาณสำรองนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนิกเกิลเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งโจโกวีได้ดำเนินนโยบายให้มีการแปรรูปนิกเกิลในประเทศ แทนที่จะส่งออกแร่นิกเกิล เนื่องจากความต้องการโลหะที่ไม่ใช่เหล็กเพิ่มมากขึ้น 

ผลการเลือกตั้งในอินโดนีเซียจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจากนี้ต่อไปว่าจะสามารถไปได้ถึงเป้าหมายคือ การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและกลายเป็นหนึ่งในห้าประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกภายในปี 2588  นี่คือความท้าทายของประธานาธิบดีคนต่อไปที่จะต้องดันเศรษฐกิจให้เติบโต 6% ถึง 7% ต่อปี เมื่อเทียบกับอัตราปัจจุบัน ประมาณ 5% นโยบายที่ใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจากนี้ไปจึงมีความสำคัญอย่างมาก

คนอินโดฯคาดหวังอะไรจากรัฐบาลใหม่ 

ผลการสำรวจของ Indikator Politik Indonesia พบว่า 31% ต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลปัญหาราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยมองว่านี่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องแก้ไข  รวมไปถึงการสร้างงานใหม่ ลดปัญหาการว่างงานซึ่งข้อมูลของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานของประเทศลดลงเหลือ 5.3% ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วจากจุดสูงสุดในปี 2020 แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่าการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาว  ยังอยู่ในระดับสูงโดยอยู่ที่ 17% ในปี 2022

ผลการเลือกตั้งในอินโดฯมีผลต่อประชาคมโลกอย่างไร?

การเลือกตั้งอินโดนีเซียครั้งนี้ ถูกจับตาจากชาวโลกเพราะ อินโดนีเซียมีประชากรจำนวนมากประมาณ 280 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก นักวิจัยจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศในกรุงจาการ์ตา Muhammad Waffaa Kharisma  ให้ข้อมูลกับ Nikkei Asia ว่าการเลือกตั้งจะเป็น กำกหนดเกี่ยวกับอนาคตของประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองของอินโดนีเซียรวมถึงเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกอีกด้วย

การเลือกตั้งครั้งนี้จะกำหนดความเป็นผู้นำของอินโดนีเซียในเวทีระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์สงครามอิสราเอลและฮามาสถือเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุด และชาวอินโดนีเซียจำนวนมากต่อต้านการรุกรานจากอิสราเอล ผู้สมัครทั้งสามคนแสดงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ โดยปราโบโวกล่าวว่าเขาจะส่งเสริมเอกราชของชาวปาเลสไตน์ รวมถึงการเปิดสถานทูตในดินแดนปาเลสไตน์หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกด้วย 

จะเกิดอะไรขึ้นหลังเลือกตั้งอินโดฯ 14 ก.พ.2567

วันนี้หน่วยเลือกตั้งเปิดตั้งแต่เวลา 7.00 น. และปิดเวลา 13.00 น.จะมีสถานีลงคะแนนทั้งหมด 823,220 แห่ง ในประเทศอินโดนีเซีย 820,161 แห่ง และในต่างประเทศ 3,059 แห่งที่สำนักงานตัวแทนของอินโดนีเซีย ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซีย (KPU) ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 82% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 81.69% ที่ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2019

คาดว่าผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจะประกาศภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการลงคะแนนสิ้นสุดลง ก่อนที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั่วไปแห่งอินโดนีเซีย (KPU) จะเข้ามาหากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงเกิน 50% จะมีการคัดเลือกผู้มีคะแนนมากที่สุด 2 อันดับแรก ไปเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 26 มิ.ย. โดยจะเริ่มหาเสียงได้ในวันที่ 2 มิ.ย. โดยตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานคนใหม่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ดังนั้นปี 2024 นี้เศรษฐกิจอินโดฯก็อาจจะได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ก็เป็นได้ 

ที่มา Nikkei Asia , Bloomberg

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT