ข่าวเศรษฐกิจ

ไทยไม่ได้มีแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่แร่ที่พบยังพัฒนาต่อได้

19 ม.ค. 67
ไทยไม่ได้มีแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่แร่ที่พบยังพัฒนาต่อได้

หลังจากรัฐบาลแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (18 ม.ค.67)โดยนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงตามข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา ล่าสุดวันนี้ (19ม.ค.67)  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ออกมาชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนแต่แร่ที่พบยังมีโอกาสพัฒนาต่อได้ 

จากกรณีเผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งแร่จากหินแข็งในพื้นที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติ มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์ เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 คาดว่าจะสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันนั้น

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ขอชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์ เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จังหวัดราชบุรีและจังหวัดยะลา

โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป

นักวิชาการชี้ข้อมูลที่เป็นข่าวคลาดเคลื่อนตั้งแต่แรก

ด้านนักวิชาการ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  สรุปว่า ตรงตามที่ผมพูดไว้นะครับ คือประเทศไทยเราสำรวจพบสินแร่ที่มีธาตุลิเทียมอยู่จริง  แต่ปริมาณไม่ได้เยอะมากขนาดอ้างว่าเป็นอันดับ 3 ของโลก อย่างที่แถลงข่าวกันได้ครับ ทางกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ยอมรับแล้ว. 

(บางส่วนของโพสต์ศ.ดร.เจษฎา) โดยก่อนหน้านี้ศ.ดร.เจษฎา ได้โพสต์ เรื่อง “ประเทศไทย พบแหล่งแร่ ที่มีธาตุลิเทียม จริงแต่ไม่น่าจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกนะครับ” โดยระบุว่า ผมว่านักข่าวน่าจะเข้าใจผิดกันนะครับ เพราะตัวเลข 14.8 ล้านตัน ที่เป็นข่าวกัน ว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่าหินเพกมาไทต์ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นตัน แค่นั้นเองครับ

#ถ้าผมคำนวณหรือเข้าใจอะไรผิดพลาด รบกวนช่วยเข้ามาแลกเปลี่ยนอธิบายให้ฟังด้วยนะครับ !ตามรายละเอียดของข่าว ระบุว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียม ในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา / พบหินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาว หรือ "หินเพกมาไทต์" ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพา "แร่เลพิโดไลต์" สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียม มาเย็นตัวและตกผลึก จนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ "แหล่งเรืองเกียรติ" มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% (อยู่ในเกรดระดับกลาง) และ "แหล่งบางอีตุ้ม" ที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง / นอกจากนี้ ยังอาจจะพบได้ในอีกหลายแห่ง ในภาคใต้และภาคตะวันตก (จังหวัดราชบุรี) ที่ได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไป 6 ราย

ซึ่งรายงานข่าวยังอ้างต่อว่า แหล่งลิเทียมเรืองเกียรตินี้ เป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียม มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศโบลิเวีย และอาเจนตินา / หากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว (ในอีก 2 ปี) คาดว่าจะเริ่มทำเหมืองได้ และสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน 

ซึ่งถ้าเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ที่ใช้ธาตุลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม (อ้างอิง https://blog.evbox.com/ev-battery-weight) ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62.6 ล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับ 62,600 ตัน แค่นั้นเอง !

ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตัน นี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน  และมีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน !

ทีนี้ ถ้าเอาตัวเลข 6.66 หมื่นตันเป็นตัวตั้ง ว่าประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีปริมาณธาตุลิเทียมที่น่าจะผลิตออกมาได้จากหินเพกมาไทด์ ไปเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเทียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ USGS หรือ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประมาณการไว้ล่าสุด ในปี 2023 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ายังห่างไกลจากประเทศ Top10 อื่นๆ เป็นอย่างมาก

ทั่วโลกมีแหล่งทรัพยากรธาตุลิเทียมประมาณ 98 ล้านตัน โดยอเมริกาใต้เป็นทวีปที่มีปริมาณทรัพยากรชนิดนี้มากที่สุด  เรียงลำดับจากมากไปน้อย  ได้ดังนี้:  โบลิเวีย 21 ล้านตัน; อาร์เจนตินา 20 ล้านตัน; อเมริกา 12 ล้านตัน; ชิลี 11 ล้านตัน; ออสเตรเลีย 7.9 ล้านตัน; จีน 6.8 ล้านตัน; เยอรมันนี 3.2 ล้านตัน; คองโก 3 ล้านตัน; แคนาดา 2.9 ล้านตัน; เม็กซิโก 1.7 ล้านตัน; สาธารณรัฐเชค 1.3 ล้านตัน; เซอร์เบีย 1.2 ล้านตัน; รัสเซีย 1 ล้านตัน; เปรู 880 000 ตัน; มาลิ 840 000 ตัน; บราซิล 730 000 ตัน; ซิมบับเว 690 000 ตัน; สเปน 320 000 ตัน; ปอร์ตุเกส 270 000 ตัน; นามิเบีย 230 000 ตัน; กานา 180 000 ตัน; ฟินแลนด์ 68 000 ตัน; ออสเตรีย 60 000 ตัน; และคาซักสถาน 50 000 ตัน  (จาก https://pubs.usgs.gov/periodi.../mcs2023/mcs2023-lithium.pdf)

**และถ้าดูจากลำดับประเทศที่ "ขุดเหมือง-ถลุงลิเทียม" ขึ้นมาได้จริงๆ แล้ว ก็ไม่ใช่ประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเทียมเยอะที่สุด อย่างโบลิเวียและอาร์เจนตินา ด้วย แต่กลับเป็นออสเตรเลีย

advertisement

SPOTLIGHT