ข่าวเศรษฐกิจ

จีนหยุดส่งออกเทคโนโลยีสกัดแร่หายาก ตอบโต้สหรัฐฯ แบนส่งออกชิป คาดปีหน้าสงครามเทคฯ เดือด

22 ธ.ค. 66
จีนหยุดส่งออกเทคโนโลยีสกัดแร่หายาก ตอบโต้สหรัฐฯ แบนส่งออกชิป คาดปีหน้าสงครามเทคฯ เดือด

รัฐบาลจีนแบนการส่งออกเทคโนโลยีในการสกัดแร่หายาก เพื่อโต้ตอบที่สหรัฐฯ ออกมาตรการกีดกันการค้า และแบนการส่งออกชิประดับสูงให้แก่จีน ขณะที่สหรัฐฯ เตรียมทำการสำรวจเพื่อออกมาตรการลดการนำเข้าชิปราคาถูกจากจีน และสนับสนุนผู้ผลิตชิปภายในประเทศ

สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่อแววระอุต่อเนื่อง หลังในวันนี้ (22 ธ.ค.) กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ออกมาประกาศเพิ่ม ‘เทคโนโลยีในการสกัดแร่หายาก’ และ ‘แม่เหล็กจากแร่หายาก’ ในรายชื่อสินค้าห้ามส่งออกของประเทศ เพื่อตอบโต้กับสหรัฐฯ ที่ได้ออกมาตรการกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตชิประดับสูง

การสั่งแบนการส่งออกเทคโนโลยีในการสกัดแร่ครั้งนี้จะไม่กระทบกับการส่งออกแร่หายากที่สกัดในจีน แต่จะกระทบกับความพยายามของสหรัฐฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสกัดแร่หายากภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากประเทศอื่น โดยเฉพาะจาก 'จีน' ซึ่งเป็นผู้ส่งออกแร่หายากรายใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

 

แร่หายากคืออะไร? ทำไมจีนจึงเป็นผู้เล่นสำคัญ?

แร่หายากหรือ Rare Earth คือกลุ่มธาตุโลหะ 17 ชนิด ซึ่งในปัจจุบันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าหลายประเภทในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า สายในแก้วนำแสง กังหันลมขนาดใหญ่ รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น แล็ปท็อป สมาร์ทโฟน ไอพอด ไอแพด โทรทัศน์ และอาวุธ ยุทธปัจจัยต่างๆ

แร่ทั้ง 17 ชนิด มีอยู่ในเปลือกโลกในปริมาณมาก แต่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแร่หายาก เพราะเป็นแร่ที่กระจัดกระจายปนอยู่กับแร่อื่นๆ ไม่ได้รวมอยู่ในแหล่งเดียวกันเหมือนแร่ทั่วไป ทำให้การทำเหมืองเพื่อสกัดและผลิตแร่เหล่านี้ออกมาทำได้ยาก มีต้นทุนสูง ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเฉพาะในการสกัด และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพราะมักอยูปะปนกับธาตุกัมมันตรังสีเช่น ยูเรเนียม (uranium) และ ทอเรียม (thorium)

ในปัจจุบัน แร่หายากพบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ประเทศที่มีทรัพยากรแร่หายากมากที่สุดคือ ‘จีน’ ซึ่งมีแร่หายากในครอบครองทั้งหมด 44 ล้านตัน หรือประมาณ 34% ของโลก รองลงมาเป็นเวียดนาม รัสเซีย และบราซิลที่มีทั้งหมดประเทศละ 20 ล้านตัน อินเดียที่มี 6.9 ล้านตัน ออสเตรเลียที่มี 4.2 ล้านตัน และสหรัฐฯ ที่มี 2.3 ล้านตัน

ทั้งนี้ แม้แร่หายากจะพบได้ทั่วโลก ประเทศที่มีศักยภาพและเทคโนโลยีระดับสูงในการสกัดแร่เหล่านี้มากที่สุดคือ ‘จีน’ ที่ลงทุนเงินจำนวนมากเพื่อปั้นอุตสาหกรรมเหมืองและสกัดแร่หายาก จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำและผู้มีอิทธิพลในตลาดแร่หายากได้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ จีนยังมีข้อได้เปรียบสำคัญเหนือประเทศอื่นคือ มีกฎหมายและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างอ่อน กล้าเผชิญความเสี่ยงด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากผลพลอยได้เป็นขยะพิษ และกากแร่ที่ปล่อยกัมมันตรังสี ทำให้การสกัดแร่หายากในจีนเป็นไปได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าในประเทศตะวันตกที่มีกฎด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็ง

adobestock-85248017-scaled

 

จีนใหญ่แค่ไหนในตลาดแร่หายาก? ทำไมใช้ต่อรองกับประเทศอื่นได้?

จากข้อมูลของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ผลิตและสกัดแร่หายากที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นผู้ผลิตแร่หายากถึง 210,000 ตัน หรือราว 70% ของโลกในปี 2022 ตามมาด้วยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เมียนมาร์ และไทย และเป็นผู้ผลิตแร่ เพรซีโอดิเมียม (praseodymium) และ นีโอดิเมียม (neodymium) ถึง 89% ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแม่เหล็กในเครื่องยนต์รถยนต์ไฟฟ้า 

นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ส่งออกแร่หายากรายใหญ่ที่สุดของโลก โดย 5 ประเทศแรกที่จีนส่งออกแร่หายากให้มากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น (36%) สหรัฐฯ (33%) เนเธอร์แลนด์ (10%) เกาหลีใต้ (5%) และอิตาลี (4%) และเป็นผู้ส่งออกแร่หายากรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ 

จากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าจีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลมากในตลาดแร่หายาก และสามารถใช้แร่เหล่านี้เป็น ‘เครื่องมือต่อรอง’ กับประเทศอื่นๆ ในกรณีที่มีข้อพิพาททางการเมืองและเศรษฐกิจได้

ในปี 2010 จีนเคยใช้แร่หายากเป็นเครื่องมือต่อรองและลงโทษประเทศคู่ค้ามาแล้ว โดยจีนได้หยุดส่งออกแร่หายากให้กับญี่ปุ่นเพราะมีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขต ทำให้ทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าแร่หายากสำคัญของจีนต้องไปร้องเรียนกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) เพื่อให้จีนหยุดแบนการส่งออก และเริ่มหาทางเพิ่มการผลิตแร่หายากภายในประเทศมากขึ้นเพื่อลดอำนาจในการผูกขาดการส่งออกแร่หายากของจีน

ดังนั้น การแบนการส่งออกเทคโนโลยีและเครื่องมือในการสกัดแร่หายากของจีนในครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการควบคุมทรัพยากรแร่หายาก และเป็นการบังคับให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาแร่หายากจากจีนต่อไปอย่างอ้อมๆ 

rare-earth-update

 

สหรัฐฯ เตรียมแบนชิปราคาถูกจากจีนช่วยผู้ผลิตในประเทศ

ขณะที่จีนออกมากีดกันไม่ให้สหรัฐฯ เข้าถึงเทคโนโลยีในการสกัดแร่หายากของจีน ทางสหรัฐฯ ก็ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกีดกันจีนเช่นกัน ด้วยการทำการสำรวจบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐฯ ว่าบริษัทเหล่านี้นำเข้าและต้องพึ่งพาชิปจากจีนมากเท่าใดในการผลิตสินค้าของตัวเอง เพื่อเตรียมพัฒนามาตรการเพื่อกีดกันการนำเข้าชิปราคาถูกจากจีนต่อไป

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการมากมายเพื่อกีดกันให้บริษัทของจีนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตชิประดับสูงของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรได้ แต่ในอนาคตมาตรการนี้อวจรวมไปถึงการนำเข้าชิปจากจีนของสหรัฐฯ แล้วเพราะ สหรัฐฯ มองว่ารัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนผู้ผลิตชิปในประเทศมากเกินไป ทำให้ชิปจากจีนมีราคาถูกจนชิปจากสหรัฐฯ ที่มีราคาสูงกว่าไม่สามารถสู้ได้

นอกจากนี้ จาก Chips and Science Act ที่ออกมาในปี 2022 สหรัฐฯ ยังมีแผนให้เงินสนับสนุนถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมผลิตชิปในประเทศ 

ดังนั้น ในปี 2024 สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน จึงมีแนวโน้มสูงที่จะดำเนินไปอย่างดุเดือดในปีหน้า ซึ่งทั่วโลกก็ต้องมาติดตามดูกันต่อไปว่าประเทศมหาอำนาจทั้งสองจะออกมาตรการอย่างไรเพื่อโต้ตอบกันอีก เพราะการเคลื่อนไหวนั้นอาจเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตสำหรับหลายๆ ประเทศ

 

อ้างอิง: Bloomberg (1), Bloomberg (2), Reuters

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT