ข่าวเศรษฐกิจ

KKP ชี้นโยบายเงินดิจิทัลได้ไม่คุ้มเสีย ลงทุน 3.6% แต่ได้ผล 1% ของ GDP

5 ต.ค. 66
KKP ชี้นโยบายเงินดิจิทัลได้ไม่คุ้มเสีย ลงทุน 3.6% แต่ได้ผล 1% ของ GDP

KKP Research  โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินมาตรการนโยบายแจกเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำแล้วได้ไม่คุ้มเสีย เพราะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3.6% ของ GDP แต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 1% ของ GDP เท่านั้น ไม่แก้ปัญหาโครงสร้าง เสี่ยงทำหนี้สาธารณะเพิ่ม แนะควรช่วยแบบเจาะกลุ่มเพื่อให้ได้ผลสูงสุด เน้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตระยะยาว

หลังจากเข้ารับตำแหน่งแล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ได้หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็น แจกเงิน 10,000 บาทให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นต้นทุนกว่า 560,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 16% ของงบประมาณและ 3.2% ของ GDP รวมไปถึงมาตรการอุดหนุนด้านราคาอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น การลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการเหล่านี้กระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจได้บางส่วน KKP Research มองว่าการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ อาจทำให้ประเทศชาติ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะบริบทเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนไป ไม่มีแรงหนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจมาช่วยเหมือนในอดีต อีกทั้งนโยบายเหล่านี้อาจใช้เงินงบประมาณสูงถึง 3.6% ของ GDP แต่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 1% ของ GDP ทำให้การลงทุนกับมาตรการเหล่านี้ไม่สมเหตุสมผล และอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศในระยะยาว

istock-1145148957

 

บริบทเปลี่ยนไป นโยบายเดิมๆ ใช้ไม่ได้ผล ไม่ตรงจุด

รัฐบาลไทยในอดีตเคยมีการใช้นโยบายประชานิยม หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เหมือนที่กำลังจะเกิดในรัฐบาลชุดนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่นในช่วงหลังปี 1997 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง (Asian Financial Crisis) ที่รัฐบาลได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการ เช่น การพักหนี้เกษตรกร หรือการอัดฉีดเงินไปสู่ชนบท  

อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่า สาเหตุที่ทำให้ที่ผ่านมาการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ผลดีเป็นเพราะช่วงนั้นประเทศไทยกำลังได้รับประโยชน์จากแรงหนุนปีก (tailwinds) จากปัจจัยภายนอก เช่น การอ่อนค่าของเงินซึ่งช่วยกระตุ้นการส่งออกให้เติบโตขึ้นถึง 3 เท่า เศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตได้ดีและช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนในประเทศและดึงดูดการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง

นี่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอดีตอาจมิได้เป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่มีแรงส่งสำคัญมาจากปัจจัยภายนอกประเทศที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจากการเติบโตของภาคการส่งออก

istock-1219552257

อย่างไรก็ตาม ในบริบทปัจจุบัน ปัจจัยที่เคยเป็นแรงหนุน (tailwinds) กลับกลายเป็นแรงต้าน (headwinds) ต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายด้านจากทั้งภายนอกประเทศและภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะกลับไปเติบโตในระดับสูงเหมือนก่อน และเผชิญความท้าทายที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น

  1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและภาวะการย้อนกลับของโลกาภิวัฒน์ (De-globalization) ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มากขึ้น (Geopolitical conflicts) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
  2. วัฏจักรเศรษฐกิจโลก สินเชื่อในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยกำลังเจอแรงกดดันซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการเติบโตของสินเชื่อในประเทศในช่วงเวลาที่หนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันได้ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กที่มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก
  3. การเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่กำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาจีนเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง ขณะเดียวกันการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศมายังไทยก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากขึ้นทั้งเวียดนาม และอินโดนีเซีย
  4. ข้อจำกัดทางโครงสร้างของไทยด้านอื่น ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องโครงสร้างประชากรที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัวแล้วการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังกระทบกับอุตสาหกรรมเก่าของไทย การศึกษาไทยที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจโลกที่ผ่านจุดสูงสุดของโลกาภิวัตน์ไปแล้ว เป็นต้น 
  5. ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมากซึ่งทำให้ข้อจำกัดและต้นทุนของการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสูงขึ้นกว่าเดิมมาก และทำให้นโยบายอย่างที่เคยทำในอดีตส่งผลบวกต่อประเทศน้อยลง ในขณะที่ผลกระทบด้านลบจะปรากฏชัดเจนขึ้น 

เมื่อพิจารณาดูจากสภาพเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปัญหาที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาทางโครงสร้างระยะยาว ไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวที่จะสามารถแก้ได้ด้วยมาตรการระยะสั้น 

ดังนั้น KKP Research จึงมองว่ามาตรการภาครัฐที่กำลังออกมาจึงเป็นเหมือนเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เจอการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านอุปทาน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและไม่ยั่งยืน และจะส่งผลให้ทั้งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจลดน้อยลง และมีต้นทุนต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินในอีกหลายมิติ เช่น 

  1. ภาวะ Twin deficits หรือการขาดดุลการคลังพร้อมกับการดุลบัญชีเดินสะพัด จากการเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐพร้อมการตรึงราคาสินค้าในประเทศ
  2. การขาดดุลของภาครัฐ ภาระจากมาตรการกึ่งการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และความกังวลต่อวินัยทางการคลังของรัฐ เพิ่มความเสี่ยงให้รัฐบาลไทยอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง
  3. การเสียโอกาสในการนำเงินไปใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยเชิงโครงสร้างในระยะยาว  

 

ถึงไม่มีปัญหาโครงสร้าง ทางทฤษฎีก็กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 1%

นอกจากนี้ ถึงแม้ไม่นับรวมบริบทของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป นโยบายแจกเงินด้วยตัวเองส่งผลต่อเศรษฐกิจไม่มากเท่ากับที่รัฐบาลประเมิน แม้ว่าการแจกเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจะไม่มากเท่ากับจำนวนเงินที่ใส่ลงไปและไม่สามารถทำให้เกิดการหมุนของเศรษฐกิจหลายรอบเหมือนที่รัฐบาลประเมิน

จากการรวบรวมผลการศึกษาจากทั้งไทยและต่างประเทศ KKP Research พบว่าผลที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ หรือเรียกว่าตัวทวีทางการคลัง (Fiscal Multiplier) จากมาตรการเหล่านี้มีขนาดต่ำกว่า 1 เท่าแทบทั้งสิ้น หมายความว่าเงินทุก 1 บาทที่ภาครัฐใช้ในการทำนโยบาย ส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่า 1 บาท ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย คือ 

  1. การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของคนส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายเพื่อทดแทนสินค้าเดิมที่มีการใช้จ่ายอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การซื้อสินค้าจำเป็นที่ใช้ภายในบ้าน การซื้ออาหาร ทำให้การแจกเงินไม่ได้สร้างอุปสงค์ใหม่ทั้งหมด
  2. การใช้จ่ายบางส่วนมีสัดส่วนของการนำเข้าค่อนข้างสูง (Import Leakage) ตัวอย่างเช่น การใช้เงินเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือซึ่งไม่ได้ผลิตในไทยจะไม่ส่งผลบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไท
  3. อาจมีการนำอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ ทำให้มีการปรับลดการใช้จ่ายเมื่อโครงการจบลง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่จะเข้าร่วมและใช้จ่ายเงินทั้งหมด

ดังนั้น KKP Research จึงประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่รัฐบาลใหม่กำลังจะดำเนินการจะช่วยกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1% จากต้นทุนด้านงบประมาณที่ต้องใช้สูงถึงกว่า 3.6% ของ GDP หรือคิดเป็น 18% ของวงเงินงบประมาณเดิม การขาดดุลการคลังต่อปีที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้หนี้สาธารณะแตะกรอบบนที่ 70% ได้เร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี istock-968819844

แนะลงเงินให้ตรงจุด แก้ปัญหาโครงสร้าง

KKP Research ประเมินว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม (targeted measures) เหมาะสมมากกว่ากับบริบทของเศรษฐกิจไทยที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง ซึ่งแม้จะทำได้ยากกว่าและต้องอาศัยข้อมูลในการประเมินอย่างถูกต้อง แต่ก็จะสามารถลดต้นทุนในการดำเนินนโยบายได้มากและมีประสิทธิผลคุ้มค่ามากกว่าการหว่านแหแจกทุกคนถ้วนหน้า 

ตัวอย่างที่สามารถทำได้ไม่ยากนัก คือ การกำหนดเงื่อนไขการแจกเงิน (means test) เช่น หากมีรายได้เกินระดับหนึ่ง หรือทรัพยสินที่พิสูจน์ได้เกินระดับหนึ่ง จะไม่ได้รับการแจกเงิน เป็นต้น หรือการทำนโยบายโดยใช้รัฐสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐมากที่สุด เป็นต้น 

นอกจากนี้ ภาครัฐไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวฝั่งอุปทานของเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพการผลิตเพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป และให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระยะยาว เช่น 

  1. นโยบายเพื่อลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ และจัดสรรทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่อยู่ในโลกเก่าไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต
  2. การสร้างงานและพัฒนาคุณภาพ “คน” ในประเทศ ในช่วงเวลาที่มีการว่างงานหรือรายได้ของคนในภาคธุรกิจเดิมไม่เติบโตพร้อม ๆ กับเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีขึ้นเป็นจำนวนมาก 
  3. การส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “Green Economy” ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change)  




advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT