ข่าวเศรษฐกิจ

เทียบค่าแรงขั้นต่ำไทยกับเพื่อนบ้าน 10 ปีขึ้นเท่าไหร่ พอใช้หรือไม่?

20 ก.ย. 66
เทียบค่าแรงขั้นต่ำไทยกับเพื่อนบ้าน 10 ปีขึ้นเท่าไหร่ พอใช้หรือไม่?

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ประชาชนหลายๆ คนกำลังจับตามองอยู่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยแคนดิเดตจากพรรคนี้อย่าง นาย เศรษฐา ทวีสิน จะทำได้จริงอย่างที่หาเสียงได้หรือไม่ เพราะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนโดยตรง และเป็นสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายถกเถียงมานานแล้วว่าโตไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ

ล่าสุด นาย เศรษฐา ได้ออกมาให้ความคืบหน้าและความชัดเจนในเรื่องนี้บ้างแล้วในการเสวนาหัวข้อ “Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต” ในงานเสวนา "Thairath Forum 2023" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา โดยเผยว่า รัฐบาลมีแผนที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ปี 2567

ถ้าหากทำได้จริง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มค่าแรงขึ้นถึง 46 บาท ในครั้งเดียว สูงสุดในรอบ 12 ปี จากปี 2011 ที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 215 บาท เป็น 300 บาท/วัน ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำของไทยถูกปรับเพิ่มในหลักสิบหลักหน่วยมาตลอด ซึ่งไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานไทยดีขึ้นแค่อย่างใด โดยเฉพาะแรงงานในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงชวนมาดูการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่มีขนาดและพัฒนาการทางเศรษฐกิจพอๆ หรือมากกว่าไทยเล็กน้อยกันว่าเป็นอย่างไร และเพียงพอหรือไม่

ค่าแรงขั้นต่ำไทยโตไม่ทันค่าครองชีพ 10 ปีขึ้นแค่ 54 บาท

ชีวิตประจำวันของเราต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และอื่นๆ ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนควรจะถูกปรับขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และทันต่อระดับเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะมีผู้กังวลอยู่เสมอว่า การเพิ่มค่าแรงจะทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ขึ้นราคาของ ทำให้ของเฟ้อขึ้น ทำให้กำไรของบริษัทใหญ่ๆ ลดลง รวมไปถึงทำให้ศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่อาจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยลดลงไปด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง การเพิ่มค่าแรงในแต่ละครั้ง จึงจะต้องทำควบคู่ไปกับพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ภาคเอกชนไทยมีศักยภาพในทำกำไร รวมถึงมีศักยภาพในการเจาะอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูง แน่นอนว่าจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของแรงงานในอนาคตให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งไทยก็กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่จากการส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ค่าแรงขั้นต่ำของไทยกลับโตไม่ทัน และขึ้นเป็นระดับหลักสิบหลักหน่วยเท่านั้น และไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในไทย โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ อย่าง กรุงเทพมหานคร ที่ราคาสินค้าจำเป็นขึ้นเร็วกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาก

โดยตั้งแต่ปี 2013 ไทยมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 4 ครั้ง คือในปี 2017, 2018, 2020 และ 2022 โดยในปี 2017 มีการปรับจากอัตรา 300 บาท/วัน เท่ากันทุกประเทศ มาเป็นแบบขั้นตามพื้นที่ อัตราค่าแรงขั้นต่ำหลังจากมีการปรับในแต่ละปีสามารถแจกแจงได้ดังนี้

  • ปี 2017 ค่าแรงขั้นต่ำปรับเป็น 300 – 310 บาท/วัน
  • ปี 2018 ค่าแรงขั้นต่ำปรับเป็น 308 – 330 บาท/วัน 
  • ปี 2020 ค่าแรงขั้นต่ำปรับเป็น 313 – 336 บาท/วัน 
  • ปี 2022 ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 328 – 354 บาท/วัน 

ในปัจจุบันที่ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรง ไทยยังใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เปลี่ยนแปลงในปี 2022 โดยสามารถแบ่งอัตราค่าแรงขั้นต่ำได้ตามพื้นที่ ดังนี้ 

  1. วันละ 328 บาท ที่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน อุดรธานี
  2. วันละ 332 บาท ที่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุทัยธานี
  3. วันละ 335 บาท ที่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้องเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุตรดิตถ์
  4. วันละ 338 บาท ที่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร สมุทรสงคราม
  5. วันละ 340 บาท ที่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย อุบลราชธานี
  6. วันละ 343 บาท ที่ พระนครศรีอยุธยา
  7. วันละ 345 บาท ที่ ฉะเชิงเทรา
  8. วันละ 353 บาท ที่ กทม. นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 
  9. วันละ 354 บาท ที่ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต

จะเห็นได้ว่า หลังมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดให้เป็น 400 บาท/วันแล้ว จังหวัดที่ได้รับอัตรานี้อาจจะเป็นเพียงจังหวัดเศรษฐกิจใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญเท่านั้น แต่ก็อาจทำให้เป็นผลดี เพราะ จังหวัดที่ค่าแรงยังต่ำกว่าจังหวัดอื่นอาจจะได้เปรียบมากขึ้นในการดึงดูดการลงทุน ให้บริษัทตั้งๆ เข้าไปตั้งฐานการผลิต

ค่าแรงขั้นต่ำไทยเทียบเพื่อนบ้าน

เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเกือบทุกปี มาเลเซียแซงไทยแล้ว

หลังจากดูการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยแบบเดี่ยวๆ แล้ว มาดูเพื่อนบ้านที่มีสภาพเศรษฐกิจคล้ายๆ เรากันบ้างว่าเป็นอย่างไร โดยในบทความนี้เลือกมา 3 ประเทศคือ เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้

จากข้อมูลในอินโฟกราฟฟิกจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ค่าแรงขั้นต่ำของ ‘เวียดนาม’ จะยังต่ำกว่าไทย ก็มีการค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นทุกปีให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ โดยในปี 2013-2022 ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 99% ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไทยที่เพิ่งขึ้นเพียง 30% ทั้งที่ค่าครองชีพของไทยสูงกว่าเวียดนาม ขณะที่ ‘มาเลเซีย’ ที่ค่าครองชีพพอๆ กับประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากที่น้อยกว่าไทยจนปัจจุบันสูงกว่าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

ส่วนทางด้านของ ‘เกาหลีใต้’ ที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจแซงเราไปในช่วงปี 1990s และ 2000s ถึงแม้จะเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดจากภาวะสงคราม มีระดับค่าแรงสูงกว่าประเทศแถบอาเซียนอย่างเห็นได้ชัด โดยในปัจจุบันมีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดที่ 9,620 วอน/ชั่วโมง 76,960 วอน/วัน (ทำงาน 8 ชั่วโมง) หรือราว 2,080 บาท/วัน มากกว่าไทยประมาณเกือบ 6 เท่า หรือราว 487% 

ความแตกต่างนี้ถึงแม้จะอธิบายได้ส่วนหนึ่งว่าเกาหลีใต้มีค่าครองชีพที่สูงกว่าไทย แต่เมื่อดูสถิติจาก Nambeo ฐานข้อมูลรวบรวมราคาสินค้าและระดับค่าครองชีพทั่วโลก ค่าครองชีพของกรุงเทพต่ำกว่าโซลเพียง 41.6% ทำให้ไม่สอดคล้องกับค่าแรงเราที่ต่ำกว่าค่าแรงของแรงงานในเกาหลีใต้มาก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุว่า ทำไมคนไทยจึงนิยมไปทำงานที่เกาหลีหรือเป็นผีน้อย เพราะถึงแม้จะเป็นค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้ก็มากพอแล้วจะให้ตัวเองและครอบครัวในไทยลืมตาอ้าปากได้

ดังนั้น ปัญหาค่าแรงจึงเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไขหากต้องการลดปัญหาแรงงานต่างด้าว และดึงแรงงานไทยให้ยังอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัวแล้ว ทำให้หากแรงงานไทยทั้งระดับสูงและระดับล่างยังหลั่งไหลไปทำงานนอกประเทศอยู่ ไทยก็จะเสียเปรียบมากในการขยายและพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

นอกจากนี้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นไปอีกขั้น ไทยควรเลิกวางภาพลักษณ์ประเทศให้เป็นแหล่งแรงงานราคาถูก เพราะการหวังพึ่งเงินลงทุนถูกๆ จากต่างชาติแต่เพียงอย่างเดียวไม่ส่งผลดีกับประเทศในระยะยาว แต่ควรเร่งสร้างเทคโนโลยี สินค้า และบริการใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี หรือด้านวัฒนธรรม เพื่อที่ไทยจะได้มีโอกาสแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

อ้างอิง: Trading Economics, Nambeo


advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT