ข่าวเศรษฐกิจ

ซาอุดีฯ ทุ่มเงินซื้อตัวนักเตะดัง หวังปั้น ‘ฟุตบอล’ เป็น Soft Power ประเทศ

26 มิ.ย. 66
ซาอุดีฯ ทุ่มเงินซื้อตัวนักเตะดัง หวังปั้น ‘ฟุตบอล’ เป็น Soft Power ประเทศ

ในช่วงนี้ ประเทศหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหว และเข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอลเป็นอย่างมากก็คือประเทศ ซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มีสโมสรในประเทศเข้าไปทาบทามและซื้อตัวนักเตะดังมากมาย จนได้นักฟุตบอลมีชื่ออย่าง ‘คริสเตียโน โรนัลโด้’ (Cristiano Ronaldo) และ คาริม เบนเซม่า (Karim Benzema) เข้าไปร่วมสโมสร 

โดยจากการรายงานของ The Guardian สโมสรที่ได้ตัวโรนัลโดไปก็คือ Al-Nassr ในขณะที่ สโมสรที่ได้ตัวเบนเซม่าไปคือ Al-Ittihad ทั้งสองสโมสรได้จ่ายค่าตัวสำหรับผู้เล่นทั้งสองคนนี้ไปถึงคนละประมาณ 200 ล้านยูโร หรือราว 7.7 พันล้านบาท เรียกได้ว่ายอมทุ่มเม็ดเงินมหาศาลในการดึกตัวนักเตะทั้งสองมาเป็นผู้เล่นในสโมสรในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีข่าวออกมาด้วยว่าสโมสรซาอุดีอาระเบียยังได้มีการทาบทาม ‘ลีโอเนล เมซซี่’ (Lionel Messi) ดาวเตะชื่อดังของทีมอาร์เจนตินาที่เพิ่งได้แชมป์ฟุตบอลโลกที่กาตาร์ มาเป็นผู้เล่นด้วยค่าตัวที่มากกว่านั้นเข้าไปอีก แต่เจ้าตัวปฏิเสธเพื่อไปเล่นกับสโมสร Inter Miami แทน และเร็วๆ นี้ยังได้มีการติดต่อซื้อตัวผู้เล่นถึง 4 คนจากสโมสรเชลซี รวมไปถึง ‘คาลิดู คูลิบาลี่’ Kalidou Koulibaly และ ‘ฮาคิม ซิเยค’ Hakim Ziyech

 

ทำไมซาอุดีฯ ถึงสนใจซื้อตัวนักเตะดัง?

ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการขายน้ำมัน และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบต่างๆ อย่างไรก็ตาม การหวังพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นบ่อเงินบ่อทองตลอดไปนั้นเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล เพราะทรัพยากรถึงจะมีมากก็ยังมีวันหมด นี่ทำให้เหล่าผู้ปกครองซาอุดีอาระเบียต้องหาทางขยายเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นบ้าง และหนึ่งในภาคส่วนที่ซาอุดีอาระเบียหมายตาไว้ก็คือ อุตสาหกรรมบันเทิงและกีฬา

ถึงแม้จะไม่เคยมีสโมสรหรือนักเตะดังในวงการมาก่อน ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากซาอุดีอาระเบีย และประชาชนที่มีเงินก็มักจะการเดินทางไปดูการแข่งขันของลีกต่างประเทศ หรือออกเงินซื้อของสนับสนุนนักเตะคนโปรดซึ่งส่วนมากจะเล่นให้กับสโมสรหรือทีมต่างชาติอยู่เสมอ

เพราะเหตุนี้ รัฐบาลของซาอุดีอาระเบียจึงมองเห็นโอกาสในการปั้นสโมสรและลีกการแข่งขันภายในประเทศให้มีความโด่งดังขึ้นมา ด้วยการทุ่มเงินซื้อนักเตะดังที่เป็นขวัญใจคนทั่วโลกอยู่แล้วมาเล่นให้กับสโมสรในประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดึงให้คนในประเทศหันกลับมาสนใจทีมฟุตบอลซาอุดีฯ แล้ว ยังเป็นการดึงความสนใจจากคนทั่วโลกมายังที่ซาอุดีอาระเบีย และสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศในระยะยาว

จากการรายงานของ CNBC ขบวนการซื้อตัวนักเตะนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Public Investment Fund (PIF) หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ของประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทและธุรกิจกว่า 400 แห่งทั่วโลก รวมไปถึงสโมสรฟุตบอล 4 แห่งในประเทศคือ Al-Ittihad, Al-Ahli, Al-Nassr และ Al-Hilal

โดยทางการซาอุดีฯ เชื่อว่าหากซาอุดีฯ สามารถดึงตัวนักเล่นดังๆ มากระจุกใน 4 สโมสรนี้ได้สำเร็จแล้ว นักเล่นดังๆ เหล่านี้จะมาสามารถดึงคนเข้ามาชมการแข่งขันลีกใหญ่ในประเทศได้ถึง 70,000 คน นอกจากนี้ยังจะดึง สปอนเซอร์ รายได้จากการโฆษณา และนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาชมการแข่งขันหรือเยี่ยมชมสโมสรที่นักเตะคนโปรดของตัวเองสังกัดอยู่ได้ด้วย

ดังนั้น การลงทุนซื้อตัวนักเตะมากมายในครั้งนี้จึงถือได้ว่าเป็นการลงทุนระยะยาวของซาอุดีอาระเบียที่จะปั้นวงการกีฬาของตัวเอง โดยเฉพาะฟุตบอล ให้ขึ้นมามีชื่อเสียงระดับโลก และยึดให้ฟุตบอลเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่จะดึงดูดคนเข้ามาเที่ยว ลงทุน หรืออาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกด้วยว่าซาอุดีฯ กำลังคุยเพื่อขอความร่วมมือจากกรีซและอียิปต์เป็นผู้จัดร่วมของการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2030 ซึ่งถ้าหากทำสำเร็จ ซาอุดีฯ ก็จะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทในวงการฟุตบอลโลกมากขึ้นไปอีก

 

อาจจะเป็น Sportwashing เพื่อลบภาพลักษณ์ไม่ดีด้านสิทธิมนุษยชน?

อย่างไรก็ตาม การเร่งซื้อตัวนักเตะมาแบบนี้ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง รวมไปถึง Human Rights Watch และ Amnesty International ซึ่งได้ออกมากล่าวว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังพยายามจะลบล้างภาพลักษณ์เสียๆ ด้านสิทธิมนุษยชนของตัวเองออกไป 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในด้านสิทธิมนุษยชนมาตลอด เพราะมีการปิดกั้นทั้งเสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการแสดงออกทุกรูปแบบ และละเมิดสิทธิสตรี โดยข่าวที่ทำร้ายภาพลักษณ์ของซาอุดีฯ มากที่สุดก็คือข่าวอุ้มฆ่าจามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) นักข่าวชาวซาอุฯ ซึ่งมีสื่อต่างประเทศมาเปิดเผยว่าเป็นการบงการของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย เพราะนักข่าวรายนี้ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานและชีวิตส่วนตัวของพระองค์

นอกจากนี้ รัฐบาลซาอุดีฯ ยังได้มีการปราบปราม สั่งขัง และลงโทษผู้เห็นต่าง รวมไปถึงนักเรียกร้องสิทธิสตรีอยู่เรื่อยๆ ทำให้ประชาชนในประเทศซาอุดีฯ มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นน้อยมาก และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เหล่านี้มองว่ารัฐบาลซาอุดีฯ กำลังพยายามชุบตัว และซุกปัญหาเหล่านี้ไว้ใต้พรม และภาพลักษณ์ใหม่ในฐานะประเทศศูนย์กลางของอุตสาหกรรมกีฬาในตะวันออกกลาง



ที่มา: CNBC, The Guardian

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT