ข่าวเศรษฐกิจ

ธุรกิจบริการสนามมวย และสอนมวย เตรียมถูกกำหนดมาตรฐาน มอก. มิ.ย.นี้

10 พ.ค. 66
ธุรกิจบริการสนามมวย และสอนมวย เตรียมถูกกำหนดมาตรฐาน มอก. มิ.ย.นี้

ปัจจุบันมวยไทยได้กลายเป็นธุรกิจอีกแขนงที่มีผู้ประกอบการ  SMEs และกลุ่มธุรกิจ Start-up ที่ให้บริการสนามมวย ทั้งในรูปแบบการเปิดสนามให้บริการเข้าชมการชกมวย และเปิดเป็นสถานฝึกอบรมหรือสอนมวยไทย ซึ่งเป็นกีฬาที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ประเทศไทยมีสนามมวยที่ได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แล้วจำนวน 32 สนาม เช่น สนามมวยนานาชาติรังสิต จังหวัดปทุมธานี  สนามมวยสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี สนามมวยเขาหลักสเตเดี้ยม จังหวัดพังงา สนามมวยสุขไพรวัน จังหวัดระยอง  สนามมวยเวทีมวยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  สนามมวยเวทีภูเก็ตแอร์พอร์ต จังหวัดภูเก็ต สนามมวยค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง และสนามมวยเวทีกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น 

ธุรกิจบริการสนามมวย และสอนมวย เตรียมถูกกำหนดมาตรฐาน มอก. มิ.ย.นี้

ดังนั้น สนามมวยจึงควรเป็นสนามกีฬาที่มีมาตรฐาน มีระบบการบริหารจัดการคุณภาพอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีข้อกำหนดด้านคุณภาพการให้บริการอื่น ๆ เช่น ความปลอดภัย สุขอนามัย การควบคุมโรค เพื่อเป็นการพัฒนายกระดับและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จึงเป็นที่มาให้ สมอ. หรือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะกำหนด การบริการสนามมวย และการบริการสอนมวยไทยเป็นมาตรฐาน มอก.เอส ด้วยซึ่งคาดว่า จะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนมิถุนายน 2566 นี้

คำว่า “มอก.เอส”  คือเครื่องหมายรับรองคุณภาพให้กับสินค้าหรือบริการที่ผลิตจำหน่ายหรือบริการโดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นการกำหนดมาตรฐานการผลิตในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีมาตรฐาน มอก.เอส ทั้งหมด 245 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ จำนวน 121 มาตรฐาน  และมาตรฐานด้านการบริการ จำนวน 124 นอกจากนี้จะเร่งผลักดัน 32 สนามมวยทั่วประเทศยื่นขอการรับรอง เพื่อยกระดับคุณภาพ  การให้บริการ

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ขั้นตอนการกำหนดมาตรฐาน มอก.เอส การบริการสนามมวย และการบริการสอน   มวยไทย ก่อนที่จะประกาศใช้นั้น สมอ. ได้ลงพื้นที่สนามมวยนานาชาติรังสิต และศูนย์การเรียนรู้และนันทนาการ เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาข้อมูลนำมาประกอบการกำหนดมาตรฐาน  จากนั้นจะจัดการประชุมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อร่วมกันให้ข้อคิดเห็นต่อมาตรฐานดังกล่าว

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT