ข่าวเศรษฐกิจ

Eggflation ไข้หวัดนกทำราคาไข่เฟ้อในสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ไทยได้อานิสงส์ส่งออก

18 เม.ย. 66
Eggflation ไข้หวัดนกทำราคาไข่เฟ้อในสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ไทยได้อานิสงส์ส่งออก

หลังผ่านการระบาดของโควิด-19 มา ในช่วงต้นปี 2022 ราคาสินค้าต่างๆ ทั่วโลกก็ปรับตัวขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการที่ธนาคารกลางหลายที่ลดอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานและภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้นในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในหมู่สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการปรับตัวสูงขึ้น สินค้าหนึ่งที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ‘ไข่ไก่’ ที่กำลังขาดตลาดในบางพื้นที่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก หรือ H5N1 เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป โดยจากการรายงานของสื่อต่างประเทศ สหรัฐฯ ต้องกำจัดไก่ถึง 50.54 ล้านตัวในปี 2022 ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องกำจัดไก่ถึง 17 ล้านตัวตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพราะการติดเชื้อ

การสูญเสียไก่ไปจำนวนมากทำให้ผลผลิตตก และทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นมากในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยจากข้อมูลของ Rabobank บริษัทให้บริการทางการเงินของเนเธอร์แลนด์ ราคาไข่ไก่ในหลายตลาดทั่วโลกขึ้นไปแตะระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 1 และโดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่าระดับราคาในปี 2007 ถึง 2.5 เท่า ในขณะที่ราคาไข่ในสหรัฐฯ และยุโรป เพิ่มขึ้น 155% และ 62% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า

โดยจากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐ และ Jaz Tamago บริษัทผู้จัดจำหน่ายไข่ไก่ในญี่ปุ่น ราคาไข่ไก่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 147.4% จาก 1.93 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 66.31 บาท) ต่อโหล ในเดือนมกราคมปี 2022 ไปเป็น 4.8 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 165.51 บาท) ต่อโหล ในเดือนมกราคมปี 2023 ในขณะที่ทางญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 85.4% จาก 151 เยน (ราว 38.7 บาท) ต่อกิโลเป็น 280 เยน (ราว 71.72 บาท) ต่อกิโล ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ทำไมราคาไข่ใก่จึงสูงขึ้นรวดเร็ว?

จากรายงานของ Rabobank ปัจจัยหลักที่ทำให้ไข่ไก่ทั่วโลกมีราคาสูงขึ้นมากในช่วงนี้มี 6 ประการด้วยกันคือ

  1. ราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น ในธุรกิจเลี้ยงสัตว์ ค่าอาหารสัตว์คิดเป็นถึง 60-70% ของต้นทุนทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อภาวะเงินเฟ้อทำให้ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ราคาไข่ไก่ซึ่งเป็นผลผลิตจากการทำฟาร์มจึงเพิ่มขึ้นไปด้วย
  2. ผลกระทบจากการระบาดของไข้หวัดนก ที่ทำให้หลายๆ ประเทศต้องกำจัดไก่ไปเป็นจำนวนหลายล้านตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน ซึ่งส่วนมากทำโดยการฆ่าแล้วฝังกลบ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวญี่ปุ่นรายงานญี่ปุ่นต้องกำจัดไก่ไปจำนวนมากจน 16 จังหวัดที่เกิดการระบาดมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการฝังซากไก่ที่ป่วยตายหรือถูกฆ่า
  3. ผลกระทบจากการปลดล็อกดาวน์ในหลายๆ ประเทศ ทำให้อุปสงค์ไข่สูงขึ้น
  4. กฎระเบียบในบางพื้นที่ที่มีผลต่อจำนวนไก่และผลผลิต เช่นกฎหมายในนิวซีแลนด์ที่แบนการขังไก่เลี้ยงไว้ในกรง ทำให้จำนวนไก่ลดลง 5-12% 
  5. พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
  6. อุปทานไข่ไก่ที่ลดน้อยลงจากปัจจัยไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่างๆ เช่น ฟาร์มในหลายๆ ประเทศอาจตัดสินใจสต็อกแม่ไ่ก่ไว้ในฟาร์มน้อยลงเพราะลดความเสี่ยงเรื่องต้นทุน รวมไปถึงโรคระบาดต่างๆ ทำให้ผลผลิตออกมาน้อยลง

โดยในหลายๆ พื้นที่ สาเหตุที่ทำให้ไข่ไก่มีราคาสูงขึ้นอาจจะเป็นผลมาจากหลายๆ ปัจจัยรวมกันก็ได้ โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ และโรคระบาด ซึ่งเป็นสองปัจจัยหลักที่เร่งให้ราคาไข่ไก่ในหลายๆ พื้นที่เพิ่มขึ้น

532293

 

ใครได้ประโยชน์จากราคาไข่ไก่ที่สูงขึ้น?

ในสภาวะแบบนี้ แน่นอนว่าคนที่ได้ประโยชน์ย่อมเป็นประเทศผลิตอาหารที่ยังไม่พบการระบาดเป็นวงกว้างของไข้หวัดนก โดยนอกจากจะยังสามารถผลิตไข่ไก่มาป้อนคนในประเทศอย่างเพียงพอจนสามารถรักษาระดับราคาไว้ได้แล้ว ยังสามารถส่งออกไข่ไก่ไปให้ประเทศที่กำลังขาดแคลนไข่ไก่ในราคาที่สูงได้อีก

โดยหนึ่งในผู้ได้รับผลประโยชน์นั้นก็ยังมี ‘ประเทศไทย’ ที่ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากการที่ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นจนต้องปรับราคาขึ้นบ้างในระดับสตางค์ ก็ยังสามารถผลิตไข่ไก่ได้มากพอส่งออกไปยังประเทศอื่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศได้

ในเดือนกุมภาพันธ์ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ และผู้ผลิตไข่ไก่ ได้เร่งผลักดันเพิ่มการส่งออกไข่ไก่ไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านฟอง เป็น 2 ล้านฟองต่อวัน เร่งระบายผลผลิตและสร้างสมดุลราคาในประเทศ และสร้างรายได้จากการขายไก่ให้กับหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนจากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนก เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ และมีราคาสูงขึ้น

โดยในเดือนมีนาคม อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยว่ารัฐบาลได้เจรจากับรัฐบาลไต้หวันเพื่อเปิดตลาดส่งออกไข่ไก่สดโดยคาดว่าล็อตแรกในเดือนมีนาคมไทยจะส่งออกไข่ไก่ไปไต้หวันได้ถึงประมาณ 5-8 ล้านฟอง และมูลค่าการส่งออกจะสะท้อนในตัวเลขการส่งออกของเดือนมีนาคม

จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร มูลค่าส่งออกไข่ไก่สดของไทยตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2022 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นดังนี้

ก.ย. 65 : 105.6 ล้านบาท

ต.ค. 65 : 135.5 ล้านบาท

พ.ย. 65 : 169 ล้านบาท

ธ.ค. 65 : 171.9 ล้านบาท 

ม.ค. 66 : 163 ล้านบาท 

ก.พ. 66 : 145.3 ล้านบาท 

จะเห็นได้ว่าปริมาณการส่งออกไข่ไก่ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไข้หวัดนก และเป็นช่วงที่ราคาไข่ไก่ของต่างประเทศพุ่งสูงพอดี สะท้อนว่าในช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตไข่ไก่ของไทยจะเจรจาเปิดตลาดส่งออกไปยังประเทศที่มีการระบาดของไข้หวัดนกเพื่อเพิ่มปริมาณส่งออกและนำเข้าเงินตราต่างประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ไม่มีการแพร่ระบาดไข้หวัดนกในประเทศไทยมากกว่า 15 ปี ถือเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและไข่ของไทย โดยจากแนวทางขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืนของไทย ปัจจุบันผู้ผลิตและเกษตรกรไทย มีตลาดใหม่ๆ ในการส่งออกไข่ไก่สด เพิ่มเติมจากตลาดเดิม ที่ส่งออกไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นหลัก ซึ่งในปี 2022 สามารถส่งออกไข่ไก่ได้ 282 ล้านฟอง มูลค่า 1,238 ล้านบาท 

 

ที่มา: Rabobank, กระทรวงการคลังFederal Reserve Economic Data, Jaz Tamago, สุนทรฟาร์ม

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT