ข่าวเศรษฐกิจ

วิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 กระทบท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ คาดสูญรายได้ 700 ล้าน

14 เม.ย. 66
วิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 กระทบท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ คาดสูญรายได้ 700 ล้าน

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่เพียงกระทบสุขภาพร่างกายของคนไทย แต่ยังส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศ แม้แต่ ‘ภาคการท่องเที่ยว’ ซึ่งเป็นเครื่องจักสำคัญของเศรษฐกิจไทยก็โดนผลกระทบไปด้วย และอาจเลวร้ายลงได้หากทุกฝ่ายไม่เร่งจัดการ

 

PM 2.5 ไทย

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน (13-17 เมษายน 2566) ในพื้นที่ภาคเหนือจากวิกฤตฝุ่น PM2.5 อาจคิดเป็นไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท

ไม่เพียงภาคเหนือเท่านั้น แต่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย ก็อาจได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากปัญหานี้ด้วย ในระดับมากน้อยแตกต่างกัน แต่อีกหนึ่งผลกระทบสำคัญคือ “ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน” ซึ่งยากที่จะประเมินความสูญเสียออกมาเป็นมูลค่าได้ ทุกฝ่ายจึังควรเร่งจัดการวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วนและทำอย่างต่อเนื่อง

วิกฤต PM2.5 มีความเสี่ยงจะยิ่งแย่ลงในช่วงปีข้างหน้า เมื่อปรากฏการณ์ลานีญาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากำลังจะปรับไปสู่เอลนีโญติดต่อกันในไม่ช้า พร้อมกับการที่อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากภาวะโลกรวน สถิติย้อนหลังจากสถานีวัดตรวจคุณภาพอากาศ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สะท้อนค่าเฉลี่ย PM2.5 ช่วงเดือนเมษายน 2566 อยู่ในระดับที่ “รุนแรงสุดในรอบหลายปี” ขณะที่ จุดความร้อนที่นับได้ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นมากสุดในรอบ 3 ปีโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน

 

PM 2.5 โรคปอด


จุดความร้อนคืออะไร? สัญญาณเตือนภัยฝุ่นพิษก่อตัว

 

จุดความร้อน หรือ Hot Spot คือบริเวณใดบริเวณหนึ่งบนผิวโลกซึ่งมีค่าความร้อนสูงผิดปกติ จากการตรวจวัดของดาวเทียม ซึ่งเมื่อมองภาพจากดาวเทียมซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ จะเห็นบริเซรดังกล่าวเป็น ‘จุดความร้อน’ นั่นเอง

จุดความร้อนสามารถบอกความรุนแรงของการเผาไหม้ และยังสามารถระบุตำแหน่งของเปลวไฟ (Flaming fire) หรือ บริเวณที่ยังมีไฟคุกรุ่น (Smoldering fire) โดยการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อน สามารถใช้ประกอบการทำนายปริมาณ PM 2.5 ที่จะเพิ่มขึ้นได้เพราะอาจเชื่อมโยงกับการเผาในภาคเกษตรหรือพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว(นาปรัง) อ้อย ซึ่งมักจะมีการเผาก่อนจะเริ่มการเพาะปลูกใหม่หรือเป็นการเผาไปเก็บเกี่ยวไป รวมถึงไฟป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิด PM 2.5 นอกเหนือจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น มลพิษไอเสียจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างประเภทต่างๆ

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ปริมาณผลผลิตพืชไร่ต่างๆ ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาจยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดรับกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการที่ยังมีรองรับท่ามกลางเหตุการณ์ในยูเครนที่ยืดเยื้อและวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีคาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวนาปรัง และอ้อย ในภาคเหนือของไทย ในปี 2566 อาจเพิ่มขึ้นรวมกันอีกราว 5.28 ล้านตันจากปีก่อน

 
 
ปัญหา PM 2.5 กระทบท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า วิกฤตฝุ่น PM2.5 รอบนี้ อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน (13-17 เมษายน 2566) คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท จากปกติที่ตลาดไทยเที่ยวไทยช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (9 จังหวัด) เป็นมูลค่าราว 2,000 ล้านบาทในช่วงเทศกาลนี้ของแต่ละปี

ตัวเลขความเสียเหายทางเศรษฐกิจกว่า 700 ล้านบาทนี้ มาจากผลสำรวจการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ เลือกจังหวัดทางภาคเหนือลดลงเฉลี่ย 30% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งมักเป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวและร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ขณะที่ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและที่พักยังประสบกับสถานการณ์ที่อัตราการจองที่พักล่วงหน้าต่ำและบางส่วนถูกยกเลิกการจอง

นอกจากภาคเหนือแล้ว พื้นที่อื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เช่นกันในระดับที่แตกต่างกันออกไป เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัด หรือแม้กระทั่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

PM 2.5 โรคปอด


 
PM 2.5 กระทบสุขภาพคนไทย ความเสียหายที่เกินกว่าจะประเมินค่าได้

 

ไม่เพียงเท่านั้น วิกฤตฝุ่น PM2.5 ยังสร้างผลกระทบด้านอื่นๆ อีกด้วย ที่สำคัญคือ ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งยากที่จะประเมินความสูญเสียออกมาเป็นมูลค่าได้ เนื่องจากไม่เพียงแต่อาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ผลกระทบอาจสะสมและนำมาสู่โรคระบบทางเดินหายใจในระยะยาว โดยจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความชุกของอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่น่าเป็นห่วงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

ข้อมูลจากโรงพยาบาลสมิติเวชเผยว่า PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองพิษขนาดจิ๋ว สามารถผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ปอด และอาจเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย อาทิ

 

PM 2.5 กับผลเสียต่อทางเดินหายใจและปอด

 

ฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า สามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าได้สูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอด จนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด

 

PM 2.5 กับผลเสียต่อหัวใจ

 

การสูดหายใจ ฝุ่น PM 2.5 เข้าปอดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้เกิดหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลันได้

 

PM 2.5 กับผลเสียต่อสมอง

 

เมื่อ PM2.5 ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมไปถึงการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ส่งผลให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้

 


ดังนั้น การเร่งจัดการวิกฤตฝุ่น PM2.5 จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและทำอย่างต่อเนื่อง โดยอาจพิจารณามาตรการเฉพาะหน้าเพื่อดูแลคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านซัพพลายเชนในภาคการผลิตและภาคการบริการไปสู่กิจการที่ยั่งยืนหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหากปล่อยไว้ สถานการณ์อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะยิ่งมากขึ้นอีก

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, NSM, โรงพยาบาลสมิติเวช

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT