ข่าวเศรษฐกิจ

3 ปี รัฐใช้ 4.44 แสนล้านบาทสู้ ‘โควิด’ พบเป็นค่าตรวจรักษาถึง 59%

5 มี.ค. 66
3 ปี รัฐใช้ 4.44 แสนล้านบาทสู้ ‘โควิด’ พบเป็นค่าตรวจรักษาถึง 59%

กระทรวงสาธารณสุขเปิดงบสู้โควิด เผยรัฐบาลใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือ ‘โควิด’ ในช่วงปี 2563-2565 รวมถึง 444,294 ล้านบาท มากกว่าครึ่งเป็นค่าบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่น ค่าตรวจคัดกรอง ค่ารักษาพยาบาล ค่าฉีดวัคซีน 

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) ในฐานะประธาน คณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กล่าวว่า จากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการเงินการคลังสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่า แหล่งงบประมาณหลักด้านสาธารณสุขในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 มาจาก 2 แหล่งคืองบกลางและงบเงินกู้ กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า จากงบดังกล่าว รัฐได้ใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี  2563-2565 รวมทั้งสิ้น 444,294 ล้านบาท โดยสามารถแบ่งเป็นประเภทของการใช้จ่ายได้ดังนี้ คือ

  1. ค่าบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่น ค่าตรวจคัดกรอง ค่ารักษาพยาบาล ค่าฉีดวัคซีน เป็นต้น ในสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 260,174 ล้านบาท คิดเป็น 59% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
  2. การจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน รวม 77,987 ล้านบาท คิดเป็น 17% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
  3. ค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับบุคลลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง 57,499 ล้านบาท คิดเป็น 13% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
  4. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ และองค์กรการวิจัยและพัฒนา ฯลฯ 48,634 ล้านบาท

สำหรับสถานะเงินบำรุงของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จากการศึกษาพบว่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสถานะเงินบำรุงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับภาพรวมของรายได้และอัตราการเพิ่มของสินทรัพย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าเงินที่อุดหนุนโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพียงพอในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 

ส่วนภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด พบว่า มีความเสี่ยงในการล้มละลายลดลงร้อยละ 30-33

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่จีนที่เริ่มรายงานเคสโควิด-19 และประสบความสำเร็จในการควบคมการระบาดในช่วงเริ่มแรกด้วยการล็อคดาวน์และประกาศปิดการเดินทางระหว่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม การระบาดในไทยก็เริ่มรุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของโควิด-19 สายพันธุ์ Delta และ Omicron โดยจากข้อมูลในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2566 ขององค์กรอนามัยโลก ไทยมีผู้ป่วยโควิดสะสมทั้งหมด 4.7 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 33,911 คน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT