ข่าวเศรษฐกิจ

ส่งออกไทยเดือนแรกปี 66 ติดลบ 4.5% ตลาดส่งออกสำคัญยังติดลบ

2 มี.ค. 66
ส่งออกไทยเดือนแรกปี 66 ติดลบ 4.5%  ตลาดส่งออกสำคัญยังติดลบ

สัญญาณการส่งออกของไทยยังไม่สดใสนักในปี 2566 โดยกระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน มกราคม 2566 พบว่า ติดลบ 4.5%  หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 3.0 ภาพรวมถือว่า น้อยลงจากเดือนก่อนหน้า และยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย

นายสินิตย์  เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศ–การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนมกราคม 2566 

สินิตย์  เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

สรุปมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย 

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมกราคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 24,899.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.5 ดุลการค้า ขาดดุล 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมกราคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 700,127 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 871,430 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 ดุลการค้า ขาดดุล 171,303 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.7 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน 

สินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าวขยายตัวร้อยละ 72.3 ขยายตัวในรอบ 3 เดือน,ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 124.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน , ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 50.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน, ผลไม้สด ขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยขยายตัวจากทุเรียนสด ขยายตัวร้อยละ 53.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน,มะม่วงสด ขยายตัวร้อยละ 21.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ,มังคุดสด ขยายตัวร้อยละ 821.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน  เป็นต้น 

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 7.6 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ยางพารา หดตัวร้อยละ 37.6 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน  อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 4.8

น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 2.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ,ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 2.2 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน , อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 11.0 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.4 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน 

ตัวอย่างสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 9.2 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง , อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 72.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน , รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 16.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 44.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน เป็นต้น 

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 21.2 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน , ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 8.2 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน, อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 3.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน, เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 30.0 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน  เป็นต้น

ตลาดส่งออกสำคัญยังติดลบ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญในภาพรวมยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก สรุปได้ดังนี้ 

(1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 5.3
สหรัฐฯ- 4.7%
จีน -  11.4 %
ญี่ปุ่น -9%
CLMV - 11.1%
อาเซียน (5)  +  2.3 %
สหภาพยุโรป (27)  +2.2 % 

(2) ตลาดรอง หดตัวร้อยละ 3.1

เอเชียใต้ - 4.3 %
ทวีปออสเตรเลีย -  7.2%
รัสเซียและกลุ่ม CIS  - 46.4%
ตะวันออกกลาง + 23.7%
ทวีปแอฟริกา+ 14.7% 
ลาตินอเมริกา +1.5%
สหราชอาณาจักร + ร 6.1 %

(3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 17.4 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์  + 18.6% 

ตลาดสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.7 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น

ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 11.4 (หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 9.2 (หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ไก่แปรรูป และทองแดง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 2.3 (กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางพารา และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 11.1 (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่ม เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

ตลาดสหภาพยุโรป (27) กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 4.3 (หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ข้าว และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด

ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 7.2 (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย เป็นต้น

ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 23.7 (ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และข้าว เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ตลาดทวีปแอฟริกา ขยายตัวร้อยละ 14.7 (กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 46.4 (หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 6.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยกระทรวงพาณิชย์มีแผนงานในอนาคตสำหรับการส่งเสริมการส่งออกในปี 2566 จะเดินหน้าจัดกิจกรรมกว่า 450 กิจกรรม โดยมุ่งขยายตลาดเดิม เจาะ 4 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน โดยจะจัดกิจกรรมในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ผลักดันค้าขายออนไลน์ และมีแผนเจาะตลาดศักยภาพใหม่ในเอเชียกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน ซึ่งมีระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 3 - 7 ทำให้ตลาดเหล่านี้อาจกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่ช่วยลดการกระจุกตัวของตลาดส่งออกไทยได้มากขึ้นในปี 2566

แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกของไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ลดการบริโภคจากต้นทุนค่าครองชีพที่สูง แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อ

จะเริ่มชะลอลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้บรรยากาศการค้าโลกที่ยังตึงเครียด จากการกีดกันทางการค้า รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น กระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังคงทำงานอย่างเต็มที่ในการผลักดันการส่งออกสินค้าและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าของคนไทยออกไปสู่ตลาดโลก รวมทั้งอำนวยความสะดวกและสร้างโอกาสทางการค้าผ่านความร่วมมือทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อให้ไทยเป็นแหล่งดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT