ข่าวเศรษฐกิจ

กกร.คาดเศรษฐกิจไทยไม่ถดถอย ทั้งปีโต 3 - 3.5% แต่ส่งออกมีโอกาสติดลบ

1 มี.ค. 66
กกร.คาดเศรษฐกิจไทยไม่ถดถอย ทั้งปีโต 3 - 3.5% แต่ส่งออกมีโอกาสติดลบ

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566  โดยคาดว่าการส่งออกของไทยมีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1-2% ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกประเทศคู่แข่งของไทยในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่มีทิศ ทางหดตัวเช่นเดียวกัน โดยได้รับผลกระทบจากกิจกรรมภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลัง หลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้อานิสงส์จากโควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับ work from home คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ราคาสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มลดลง ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้นมูลค่าการส่งออกทั้งปี อาจต่ำกว่าปีที่ ผ่านมาได้

อย่างไรก็ตาม กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่เกิด technical recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิค) แม้ ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4/65 จะหดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 แต่คาดว่าในไตรมาส 1/66 จะไม่หดตัว ต่อจนกลายเป็น technical recession

โดยการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกให้ฟื้นตัวได้ และ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี จะเพิ่มสูงถึง 25-30 ล้านคน สูงกว่าประมาณการเดิมที่ราว 22 ล้านคน กกร. จึงคงคาดการณ์ GDP ทั้งปี 66 ไว้ที่ขยายตัว 3.0-3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 2.7-3.2% ตามกรอบเดิม

กกร.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะเป็นประธาน กกร. บอกว่า เศรษฐกิจไทยควรให้ความสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เร่งการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รวมทั้งอาศัย โอกาสจากภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวต่อเนื่องในช่วงนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเศรษฐกิจเดิม

"ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วสะท้อนให้เห็นจากยอดส่งออกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้จะ เปลี่ยนจากการส่งออกไปเป็นภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ" นายเกรียงไกร กล่าว

ขณะที่ยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ค่าแรง ความผันผวนของค่าเงินบาท และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่ง ภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นการแก้ไขปัญหา รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้สามารถปรับตัวรับความเสี่ยงผลจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น

VDO ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT