ข่าวเศรษฐกิจ

เงินเฟ้อไทยปี 65 เพิ่ม 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปีผลพวงราคาพลังงานพุ่ง

5 ม.ค. 66
เงินเฟ้อไทยปี 65 เพิ่ม 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปีผลพวงราคาพลังงานพุ่ง

ตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศไทยในปี 2565 ที่ผ่านมาถูกประกาศออกมาในวันนี้ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ 107.86  หรือสูงขึ้น 5.89% เทียบกับปีที่แล้ว และทำให้ทั้งปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย สูงขึ้น 6.08% 

อัตราเงินเฟ้อในระดับ 6.08% เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในช่วง 5.5 - 6.5% (ค่ากลาง 6.0%) และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 ที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 8.1%

สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 65 สูงขึ้น มาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญควบคุมปริมาณการผลิต และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้อุปทานการผลิตพลังงานตึงตัวมากขึ้น และส่งผลมายังราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มในประเทศ

ทั้งนี้ ราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้าง อัตราดอกเบี้ย และเงินบาทที่อ่อนค่า ยังเป็นต้นทุนที่แฝงอยู่เกือบทุกขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการหลายประเภททยอยปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ โรคระบาดในสุกร ปัญหาอุทกภัย อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ฐานราคาในปี 64 ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น มีส่วนทำให้เงินเฟ้อปี 65 อยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี สถานการณ์อุทกภัยที่คลี่คลาย และมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงปลายปี 65 ชะลอตัว

เงินเฟ้อ ธันวาคม2565

เงินเฟ้อปี2565

แบงค์ชาติกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงิน ปี 66 1-3% 

ทั้งนีเมื่อวานนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ประกาศเป้าหมายของนโยบายการเงิน ปี 2566 ไว้ที่ 1-3% ซึ่งเป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง  

โดยระบุว่า จากปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มในระยะข้างหน้า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการลดลงของอุปทานพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตโลก (global supply chains) จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมา ปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน (cost-push shocks) เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้มีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทย ได้แก่ (1) ราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก และ (2) การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการ  แต่แบงก์ชาติคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะปรับลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2566 เมื่อแรงกดดันด้านอุปทานดังกล่าวทยอยคลี่คลายลง 

แบงก์ชาติยังระบุอีกว่า อัตราเงินเฟ้อไทยในระยะปานกลางยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะภูมิทัศน์ด้านพลังงาน และภูมิรัฐศาสตร์ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่อาจเกิดเร็วขึ้น

สำหรับการกำหนดเป้าหมายที่ 1-3% ดังกล่าวยังมีความเหมาะสมเนื่องจาก 

(1) การคงเป้าหมายเป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน และช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 

(2) ในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อมีความผันผวน และไม่แน่นอนสูง การปรับเป้าหมายนโยบายอาจสร้างความสับสนต่อสาธารณชนเกี่ยวกับแนวนโยบายในระยะข้างหน้า     และ

(3) การกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้าง 2% มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลาง

รวมถึงช่วยให้การดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางให้สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินภายใต้สถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และปัจจัยที่ส่งผลต่อพลวัตเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูง

โดยกระทรวงการคลัง และ แบงก์ชาติ จะร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้มีความสอดประสานและเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวอย่างมั่นคง และยั่งยืน

โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพและสร้างรายได้ให้กับประชาชน กนง. มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางอยู่ในกรอบเป้าหมาย      ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

อีกทั้งมีข้อตกลงในการติดตาม และรายงานผลการดำเนินนโยบาย รวมถึงการหารือร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการเงินกระทรวงการคลัง และ แบงก์ชาติ จะหารือร่วมกันเป็นประจำ และ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน

ด้าน กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ   

(1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา 

(2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ 

(3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ

รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใส และประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงในการออกจดหมายเปิดผนึกของ กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน  เพื่อร่วมกันแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT