ข่าวเศรษฐกิจ

ทำไม'จีน'ไม่ยอมทิ้งนโยบาย'Zero-Covid'ถึงจะทำเศรษฐกิจพัง มีคนประท้วง

29 พ.ย. 65
ทำไม'จีน'ไม่ยอมทิ้งนโยบาย'Zero-Covid'ถึงจะทำเศรษฐกิจพัง มีคนประท้วง

ตลอดหลายวันที่ผ่านมา รัฐบาลจีนกำลังเจอประท้วงใหญ่จากประชาชนในหลายเมืองใหญ่ที่ลุกฮือขึ้นมาให้รัฐบาลยกเลิกนโยบาย Zero-Covid ในท่าทีที่แข็งกร้าวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะในประเทศจีนที่รัฐบาลมีสิทธิเด็ดขาดในการปราบปรามผู้เห็นต่าง จนมีคนออกมาคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะคุมสถานการณ์อยู่หรือไม่

000_32vz8my

จากการรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศ การชุมนุมใหญ่ในหลายเมืองครั้งนี้มีชนวนมาจากเหตุไฟไหม้ในเมืองอุรุมชี ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่หลายๆ คนเชื่อว่ามาตรการล็อกดาวน์ทำให้ผู้ประสบภัยบางส่วนได้รับความช่วยเหลืออย่างไม่ทันท่วงที จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 คน 

นโยบาย Zero-Covid นี้แม้จะช่วยทำให้ยอดการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตคงตัวต่ำในช่วงแรก แต่ก็ส่งผลเสียมหาศาลต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะการล็อกดาวน์ในบางที่เกิดในเมืองใหญ่ เช่น เซินเจิ้น และเซี่ยงไฮ้ ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ ชะงัก

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจจีนปีนี้ คาดว่าจะเติบโตชะลอลงเหลือเพียง 2.8% จากเป้าหมายที่ 5.5% ทำให้ยอดว่างงานในหมู่คนอายุน้อยพุ่งขึ้นไปเกือบ 20% ในปัจจุบัน หรือทำให้ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทหลายๆ บริษัทที่มีฐานการผลิตในจีน เช่น Apple ติดขัดไปอีก

คำถามที่สำคัญคือ ถ้านโยบาย Zero-Covid ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน จนเกิดการประท้วงไปทั่วประเทศ  แถมยังส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจมหาศาลขนาดนี้ ทำไมรัฐบาลจีนยังดันทุรังจะใช้นโยบายนี้ต่อล่ะ?

ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้อ่านกัน

 

  • ประชาชนขาดภูมิคุ้มกัน เพราะยังคิดค้นวัคซีน mRNA ของตัวเองไม่ได้

สาเหตุหลักข้อแรกที่สำคัญมาก และทำให้จีนยังเปิดประเทศไม่ได้ก็คือ ประชาชนยังไม่มีภูมิคุ้มกันพอที่จะป้องกันตัวเองจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ เพราะได้รับแต่วัคซีนเชื้อตายที่คิดค้นโดยบริษัทในประเทศ

000_9vv8lt

ในปัจจุบัน ประชาชนจีนประมาณ 90% ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว แต่มีแค่ 57% เท่านั้นที่ได้รับเข็มที่ 3 เป็นบูสเตอร์ และทั้งหมดเป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่ใช้เชื้อของโควิด-19 สายพันธุ์เก่ามาผลิต ทำให้ป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น โอมิครอน ได้ไม่เท่าวัคซีน mRNA

นี่ทำให้เมื่อมีการระบาดของโอมิครอน ยอดผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน จนปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อใหม่เกินวันละ 30,000 คนติดต่อกันแล้ว 4 วันตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน จนทะลุ 40,000 คนในวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 

  

  • ทำไมรัฐบาลจีนไม่นำเข้าวัคซีน mRNA จากบริษัทตะวันตก

ทำไมรัฐบาลจีนไม่นำเข้าวัคซีน mRNA จากบริษัทตะวันตกเช่น Pzifer หรือ Moderna มาให้ประชาชนฉีดทั้งๆ ที่หลายๆ ที่ทั่วโลกก็สามารถเปิดประเทศให้ประชาชนใช้ชีวิตแบบเกือบปกติได้แล้วเพราะมีวัคซีน mRNA

คำตอบก็คือ รัฐบาลจีนต้องการสนับสนุนให้บริษัทในจีนพัฒนาวัคซีน mRNA ใช้เอง เพราะไม่อยากพึ่งพาผู้ผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ

ในปัจจุบัน บริษัทผลิตยาและวัคซีนหลายแห่งในจีนเช่น CanSino Biologics และ Sinopharm กำลังเร่งสร้างโรงงานผลิควัคซีน mRNA ในจีนกันอยู่ ในขณะที่สตาร์ทอัพอย่าง Stemirna Therapeutics และ Abogen Biosciences ได้สร้างโรงงานเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว

000_99f43r

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความคืบหน้าด้านการสร้างโรงงาน ด้านการพัฒนาตัววัคซีนกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในจำนวน 6 บริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีน mRNA อยู่ มีเพียง 4 บริษัทที่มีความคืบหน้าในการสร้างวัคซีน ไก้แก่

  • CanSino  Biologics และ Stemirna Therapeutics ที่วัคซีนอยู่ในช่วงการทดสอบขั้นที่ 2
  • CSPC Pharmaceutical Group ที่วัคซีนอยู่ในช่วงการทดสอบขั้นสุดท้าย
  • Abogen Biosciences ที่วัคซีนได้รับการอนุมัติใช้อย่างเร่งด่วนแล้วในประเทศอินโดนีเซีย แต่ยังไม่ผ่านการตรวจในจีน เพราะยังขาดการทดสอบที่เพียงพอ

ซึ่งจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลจีนก็ยังไม่ออกมาให้ความชัดเจนว่าจะมีการนำวัคซีน mRNA ที่บริษัทในจีนพัฒนาขึ้นมา ออกมาให้ประชาชนฉีดเมื่อไหร่ และหากต้องการรอให้วัคซีนในจีนผ่านการทดสอบให้ปลอดภัยตามมาตรฐานจริงๆ คนจีนก็น่าจะต้องรอจนถึงปีหน้ากว่าได้ฉีดวัคซีน mRNA ที่ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันพร้อมสำหรับการเปิดประเทศได้

  

  • ระบบสาธารณะสุขของจีนอ่อนแอ ไม่สามารถรองรับการเปิดประเทศได้

ต่อจากการที่ประชาชนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน สาเหตุถัดมาที่มีความสอดคล้องกันก็คือระบบสุขภาพของจีนมีทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะรองรับยอดผู้ป่วยที่สูงขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุการณ์ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล และทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากหลังเปิดประเทศ 

ถึงแม้ตลอดเวลา 3 ปีที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 มา จีนจะสามารถควบคุมทั้งยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดไว้ได้ที่เพียง 5,233 คน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่อื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีผู้เสียชีวิตถึง 1.09 ล้านคน และอินเดียที่มีผู้เสียชีวิต 5.3 แสนคน ส่วนมากความสำเร็จนี้ก็เป็นเพราะนโยบาย Zero-Covid ซึ่งถูกออกแบบมาให้เข้มงวด ชดเชยให้กับระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอ

จากการรายงานของ The Financial Times ระบบสุขภาพของจีนขาดความพร้อมอย่างมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศในเอเชีย โดยในปัจจุบัน จีนมีเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤติเพียง 3.6 เตียงต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งยังน้อยกว่าไทยที่มีถึง 10.4 เตียงต่อประชากร 100,000 คน และน้อยกว่าเกาะไต้หวันที่มีมากถึง 28.5 เตียงต่อประชากร 100,000 คน หลายเท่า

โดยจากผลการวิจัยจาก Fudan University ในเมืองเซี่ยงไฮ้ หากรัฐบาลจีนยอมยกเลิกนโยบาย Zero-Covid และมาตรการล็อกดาวน์ตอนนี้ โดยยังไม่มีการฉีดวัคซีน mRNA  จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการจะพุ่งขึ้นสูงถึง 112 ล้านราย มีคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 5 ล้านคน ล้นความสามารถที่ระบบสาธารณสุขจีนรองรับได้ 15.6 เท่า และมีผู้เสียชีวิตถึง 1.55 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่รัฐบาลจีนยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้แน่ๆ หลังรักษาตัวเลขให้ต่ำมาได้ถึง 3 ปี

 

เพราะเหตุนี้เอง รัฐบาลจีนจึงต้องยึดนโยบาย Zero-Covid ไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะถ้าหากยอมเลิกนโยบาย และปลดล็อกดาวน์แล้วจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตย่อมพุ่งสูงขึ้นมากอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อภาพลักษณ์และความสำเร็จที่รัฐบาลพยายามรักษาไว้

แต่ถึงแม้การบังคับใช้นโยบาย Zero-Covid ต่อไปจะดูเหมือนเป็นการตัดสินใจที่ดูสมเหตุสมผลแล้วสำหรับสถานการณ์ในจีนในปัจจุบัน แต่นักวิเคราะห์หลายๆ คน และสื่อหลายๆ สื่อก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า แทนจะเอาเงินไปทุ่มกับการบังคับล็อกดาวน์ประชาชน สิ่งที่รัฐบาลจีนสามารถทำได้ทันทีเพื่อแก้ปัญหาคือนำเข้าวัคซีน mRNA จากต่างประเทศมาใช้ก่อน พร้อมลงทุนกับระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่ยังไงก็จะเพิ่มขึ้นแน่นอนหลังเปิดประเทศ ถึงแม้จะมีการฉีดวัคซีน mRNA แล้ว

ซึ่งเมื่อปรากฎการต่อต้านของประชาชนและความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างแบบนี้แล้ว ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลจีนจะจัดการอย่างไรให้ประชาชนยังยอมอยู่ภายใต้นโยบาย Zero-Covid และจะทำอย่างไรเพื่อจะจำกัดความเสียหายที่จะมีต่อเศรษฐกิจในประเทศซึ่งน่าจะโหมความไม่พอใจของประชาชนต่อไปอีกในอนาคต



ที่มา: The Financial Times, BBC, The Economist, VOA, The Japan Times, Nikkei Asia

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT