ข่าวเศรษฐกิจ

ธปท. "ไม่ต่ออายุ" ผ่อนปรน LTV ปีหน้าวางดาวน์กู้ซื้อบ้าน 10-20% ตามเดิม

31 ต.ค. 65
ธปท. "ไม่ต่ออายุ" ผ่อนปรน LTV ปีหน้าวางดาวน์กู้ซื้อบ้าน 10-20% ตามเดิม

แบงก์ชาติ "ไม่ต่ออายุ" มาตรการผ่อนปรน LTV ปีหน้าเริ่มคุมเข้มตามเดิม วางเงินดาวน์บ้าน 10-20% หวังปิดช่องความเสี่ยงเก็งกำไรอสังหาฯ


นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากทิศทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน และทั่วถึงมากขึ้น และภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องทั้งอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งการจ้างงานในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทยอยปรับดีขึ้น

ดังนั้น ธปท.จึงเห็นควร "ไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการ LTV" หรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ซึ่งจะครบกำหนดการผ่อนคลายชั่วคราวภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นี้

ทั้งนี้ ธปท.มีการผ่อนคลาย LTV ชั่วคราวเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อต้องการเติมเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยการเพิ่มแรงจูงใจในการซื้อที่อยู่อาศัยให้กลุ่มผู้ที่มีกาลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากนัก และมีความสามารถรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้

ธปท.มองว่าการไม่ต่ออายุดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากเกือบทั้งหมดกู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่มาตรการ LTV ปัจจุบันสำหรับซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทผ่อนคลายมากอยู่แล้ว โดยกำหนดการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) อยู่ที่ 100% อย่างไรก็ดี อาจจะกระทบลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้สูง หรือราคาบ้านสูงกว่า 10 ล้านบาทเล็กน้อย เนื่องจากต้องวางเงินดาวน์เพิ่มเติมบางส่วนประมาณ 10-20%

ในทางตรงกันข้าม หากขยายระยะเวลาการผ่อนคลาย LTV ออกไปอีก อาจเอื้อให้เกิดการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงินในระยะต่อไปได้ เช่น การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์โดยผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง และส่งผลต่อระดับหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้น มองไปข้างหน้าจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้การปรับทิศทางนโยบายการเงินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจไทย ประกอบกับเป็นสัญญาณที่ดีต่อผู้ประกอบการที่จะมีความมั่นใจมากขึ้น

สำหรับตัวเลขการโอนอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 พบว่ามียอดการโอนขยายตัวสูงถึง 8.5% และจำนวนตัวเลขการเปิดโครงการใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 หน่วยต่อเดือน เทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 9,200 หน่วยต่อเดือน

“ในแง่มาตรการ LTV ถือเป็นมาตรการผ่อนคลายชั่วคราวมีการประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อไร-31 ธ.ค. 65 ซึ่งเราดูสัญญาณและทบทวนแล้วว่าจะไม่ต่ออายุมาตรการชั่วคราว เมื่อครบกำหนดมาตรการก็จะกลับไปเหมือนเดิม ซึ่งมองว่าไม่ได้กระทบการซื้อบ้าน เนื่องจากสัดส่วนมากกว่า 86% เป็นการซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง และระดับบ้านเกิน 10 ล้านบาทอาจจะต้องเพิ่มเงินดาวน์บ้าง 10-20%” นางสาวชญาวดี กล่าว

istock-1337281115

ทั้งนี้ การไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการ LTV ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 จะทำให้ผู้ขอสินเชื่อบ้าน สัญญากู้หลังที่ 1 และสัญญากู้หลังที่ 2 ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์ LTV เดิม

ในกลุ่มบ้านราคาเกิน10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น สัญญากู้ซื้อหลังที่ 1 ต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10% สัญญากู้ซื้อหลังที่ 2 วางเงินดาวน์ 20% และสัญญากู้ซื้อหลังที่ 3 วางเงินดาวน์ 30%

ส่วนในกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทนั้น สัญญากู้หลังที่ 1 วางเงินดาวน์ต่ำสุด 0 - 10% บวกกู้สินเชื่อ top -up ได้เพิ่มอีก 10% ของมูลค่าบ้าน

ส่วนสัญญาเงินกู้หลังที่ 2 ต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10% หากผ่อนสัญญาที่ 1 มากกว่า 2 ปี หรือ 20% หากผ่อนสัญญา1 น้อยกว่า 2 ปี ขณะที่สัญญากู้หลังที่ 3 วางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 30%

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT