ข่าวเศรษฐกิจ

ประสานเสียงเตือน "เศรษฐกิจถดถอย"ปีหน้า ผลพวงดอกเบี้ย- เงินเฟ้อสูง

14 ต.ค. 65
ประสานเสียงเตือน "เศรษฐกิจถดถอย"ปีหน้า ผลพวงดอกเบี้ย- เงินเฟ้อสูง

หลังจากสหรัฐฯประกาศตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเดือนกันยายน 8.2% สะท้อนว่าปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯยังไม่มีท่าทีจะสงบลงง่ายๆแม้ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องอยู่ที่ 3.25% ทำให้กระแสความกังวลว่า ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของเฟดน่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอีกเป็นแน่  ผลที่ตามมาคือความกังวลเกี่ยวกับ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ที่อาจจะเกิดขึ้นกับหลายประเทศภายในปี 2023 นี้  

IMF-World Bank ประสานเสียงเตือน เศรษฐกิจใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพิ่งจะมีการประกาศแนวโน้มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2023 ลงเหลือ 2.7% จากเดิม 2.9% แถมยังบอกว่า The Worst is yet to come ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึง  และผู้คนนับล้านจะรู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งนั่นสะท้อนว่า แม้ GDP อาจจะไม่ได้ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันถึงเข้าเกณฑ์เศรษฐกิจถดถอย แต่เศรษฐกิจทั่วโลกก็อยู่ในภาวะชะลอตัวลงอย่างแน่นอน เพราะจากการประเมินของ IMF ล้วนแล้วแต่ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจเกือบทุกประเทศลดลงทั้งสิ้น

แน่นอนว่า สาเหตุสำคัญมาจากความต่อเนื่องของผลกระทบโควิด 19  และจุดเปลี่ยนสำคัญคือ สงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน ทำให้เกิดการโหมใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อปราบอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดทำสถิติใหม่

weo-chart-oct-2022_1

นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยเพราะเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง, อัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น และภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒน ซึ่งธนาคารโลกเอง ก็ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกในปี 2566 ลงจาก 3% สู่ระดับ 1.9% ซึ่งถือว่าใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างมาก

มัลพาส บอกด้วยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความพยายามในการลดระดับความยากจนทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2533 เพราะโควิด 19 ทำให้ประชาชนราว 70 ล้านคนเข้าสู่ภาวะยากจนที่สุดในปี 2563 โดยรายได้เฉลี่ยทั่วโลกลดลง 4% และสงครามในยูเครนจะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงขึ้นอีก

ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯไม่เชื่อว่า เศรษฐกิจจะถดถอยในอนาคตอันใกล้นี้ แต่หากเกิดขึ้นจริง ก็มีแนวโน้มที่จะถดถอยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยไบเดนให้สัมภาษณ์กับนายเจก แทปเปอร์ ผ่านทางช่องซีเอ็นเอ็นที่แพร่ภาพเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ปธน.ไบเดนยอมรับว่าสหรัฐมีปัญหาจริง แต่การออกกฎหมายภายใต้การนำของเขา เช่น กฎหมายการลดเงินเฟ้อนั้น ทำให้สหรัฐอยู่ในสถานะที่ดีกว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ ในโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

ด้านนายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชสเพิ่งออกมาเตือนในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้า ซึ่งความกังวลล้วนแล้วแต่ให้น้ำหนักกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ในการประชุมเมื่อกันยายนที่ผ่านมาว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.25-4.50% ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งยังเหลือการประชุมอีก 2 ครั้งในเดือน พ.ย.และธ.ค. ส่วนในปีหน้าคาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยของสหรัฐฯจะอยู่ที่ 4.50-4.75% ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 แล้ว

โจ ไบเดน

น้ำมันยิ่งแพง เงินเฟ้อยิ่งสูง ยิ่งเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

ทั้ง IMF และ World Bank ต่างมองภาพเดียวกันคือ สัญญาณเศรษฐกิจถดถอยกำลังคืบคลานเข้ามาในปี 2566 เมื่อความกังวลในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้กลุ่มโอเปกพลัส  ผู้กุมชะตาราคาน้ำมันโลกตัดสินลดกำลังการผลิตน้ำมันมากที่สุด 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อพยุงให้ราคาน้ำมันไม่ตกลงแรง  สำนักงานพลังงานสากล จึงออกมาเตือนว่า การตัดสินใจของกลุ่มโอเปกพลัสได้ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น และอาจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

กำลังการผลิตของโอปกพลัสนั้นมีความสำคัญต่อทิศทางราคาน้ำมันโลกอย่างมาก เพราะเป็นหลุ่มปรเะเทศที่ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 30% หรือคิดเป็นปริมาณ 28 ล้านบาร์เรลต่อวันและยังเป็นผู้ควบคุมแหล่งน้ำมันสำรองกว่า 80.4% ของโลก หรือราว 1.24 ล้านล้านบาร์เรลอีกด้วย 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT