ข่าวเศรษฐกิจ

การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว เทียบ 7 เดือนแรกปี2565 กับประเทศในเอเชีย

29 ส.ค. 65
การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว เทียบ 7 เดือนแรกปี2565 กับประเทศในเอเชีย

หลังการประกาศการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน กรกฎาคม 2565 พบว่าขณะนี้สัญญาณการส่งออกของไทยเริ่มมีสัญญาณที่ชะลอตัวลง สาเหตุจากสินค้าในหมวดเกษตรเริ่มลดลง  0.3% ขณะที่สินค้าในหมวดอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น  มีการประเมินตัวเลขการส่งออกตลอดทั้งปี2565 นี้จากกระทรวงพาณิชย์ว่า จะยังขยายตัวเป็นบวกได้อยู่

ภาคการส่งออก ถือว่ามีความสำคัญต่อตัวเลข GDP ของไทยอย่างมาก เพราะกินสัดส่วนมากราว 70% ของ GDP ทีเดียว สถานการณ์สงคราม ราคาพลังงาน และห่วงโซ่การผลิตที่มีปัญหา เริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยชัดเจนขึ้น มีสถิติการค้าระหว่างประเทศอะไรที่น่าสนใจบ้าง และ สถานการณ์ของไทยสอดคล้องกับการส่งออกของประเทศอื่นในเอเชียอย่างไร SPOTLIGHT สรุปข้อมูลสำคัญ ดังนี้


การส่งออกเดือน ก.ค. + 4.3% ส่วน 7 เดือนแรกปี 2565 +11.5%

การส่งออกของไทยในเดือน ก.ค.2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 23,629.3 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วขยายตัว 4.3% โดยถ้าหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย มีมูลค่า 20,306 ล้านดอลลาร์ จะขยายตัว 4.1% ขณะที่ภาพรวม การส่งออกของไทยในช่วง  7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 11.5% มีมูลค่า 172,814.1 ล้านดอลลาร์ และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 8.3 % มูลค่า 147,451 ล้านดอลลาร์

การส่งออกไทยยังคงขยายตัวจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตโลกที่ยังได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ การส่งออกธัญพืชได้อย่างจำกัดของยูเครนในช่วงเวลาก่อนหน้า มาตรการจำกัดการส่งออกของต่างประเทศ  จึงทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในฐานะเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ 

 

การส่งออกไทย

 

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงเล็กน้อย เนื่องจากภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับเซมิคอนดักเตอร์เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น และผลจากมาตรการล็อกดาวน์เมืองอุตสาหกรรมสำคัญของจีน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการส่งมอบ

 

screenshot2565-08-28at22._2 

อย่างไรก็ดี ยังมีบางกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดี โดยเฉพาะสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สำหรับด้านตลาดส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณเติบโตในอัตราชะลอตัว เนื่องจากคู่ค้ามีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูง

ส่งออกผลไม้สดลดลง/สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ชิปลดลงเช่นกัน

ทำไมการส่งออกเดือน ก.ค.มีสัญญาณชะลอตัว เพราะในเดือนก.ค.2565 มีการส่งออกสินค้าเกษตรภาพรวม ลดลง 0.3% เพราะปีนี้ผลไม้สด หมดฤดูกาลเร็ว จึงไม่มีของส่งออก จากช่วงก่อนหน้านี้ ประสบความสำเร็จในการส่งออกไปจีน จึงฉุดภาพรวมให้ลดลง 

แม้ผลไม้สดจะลงลง แต่สินค้าเกษตรอื่น ๆ ยังเพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้ง เพิ่ม 94.3% โดยเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง เพิ่ม 126.2% ลำไยแห้ง เพิ่ม 66.3% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 35.5% ข้าว เพิ่ม 21.5% ยางพารา เพิ่ม 12% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 38.1% เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 258.8% ไอศกรีม เป็นดาวรุ่งตัวใหม่ เพิ่ม 34.2% บวก 26 เดือนต่อเนื่อง อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 25.4% บวก 35 เดือนต่อเนื่อง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 17.3% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 16.4%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มเพียง 0.1% เพราะมีปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ที่เกิดกับอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่ต้องใช้ชิป แต่ก็ยังมีหลายสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่ม เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 34.6% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 25.5% ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เพิ่ม 21.4% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 19.1% เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เพิ่ม 13.6% เครื่องนุ่งห่ม เพิ่ม 10.7%

ตลาดส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ได้แก่ 

1.เกาหลีใต้ เพิ่ม 39.4% 

2.ตะวันออกกลาง เพิ่ม 27.4% 

3.แคนาดา เพิ่ม 27.3% 

4.CLMV เพิ่ม 24.2% 

5.อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่ม 21.3% 

6.เอเชียใต้ เพิ่ม 21.1% 

7.ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 20% 

8.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 17.2% 

9.สหภาพยุโรป เพิ่ม 8.1%

10.สหรัฐฯ เพิ่ม 4.7%

 

เทียบการส่งออกของของไทยกับประเทศในเอเชีย 

 

การส่งออกของประเทศในเอเชีย

หากดูจากกราฟจะพบว่า โดยรวมการส่งออกของไทยจะสอดคล้องกับการส่งออกกับประเทศอื่นในภูมิภาค แต่อัตราการขยายตัวของไทยก็เริ่มลดลง คล้ายกับการส่งออกของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น  โดยพบว่า การส่งออกเดือน ก.ค.ของไทยเริ่มมีลักษณะกราฟดิ่งลง แตกต่างจากสิงคโปร์ และ จีน ที่มีเส้นชันขึ้นสวนทางกับประเทศอื่น 


โดยหากดูตัวเลขตลอด 7 แรกของปีนี้พบว่า  ประเทศไหนในเอเชียส่งออกเติบโตสูงสุด ได้แก่

  • อินโดนีเซีย เติบโต 36.4%
  • อินเดีย เติบโต 22.8%
  • มาเลเซีย เติบโต 20.9%
  • สิงคโปร์ เติบโต 19.9%
  • ไต้หวัน เติบโต 18.4%
  • เวียดนาม เติบโต 16.2%
  • จีน เติบโต 14.7%
  • เกาหลีใต้ เติบโต 14.6%
  • ไทย เติบโต 11.5%     
  • ญี่ปุ่น เติบโต 0.2 %

ส่งออกไทยเทียบเอเชีย

ผลพวงสงครามทำไทยขาดดุลการค้า

เมื่อหันมาดูฟากของการนำเข้ากันบ้าง พบว่า การนำเข้าในเดือน ก.ค.65 มีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 23.9% จากเดือน ก.ค.64 ทำให้การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกมีมูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.4%

เมื่อส่งออกน้อยกว่านำเข้าจึงทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค.65 ขาดดุล 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุลรวม 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดพลังงาน

 

การนำเข้าของไทย

 

เทียบการนำเข้าไทยกับเอเชีย

ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ มองว่า การที่ขาดดุลค่อนข้างสูง เป็นเพราะมีการนำเข้าน้ำมัน ทองคำ เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตเพื่อส่งออกสินค้า ตราบใดที่ราคาน้ำมัน ทองคำ ยังแพง โอกาสขาดดุลมีอยู่ เพราะต้องนำเข้าแพงขึ้น

คาดส่งออกปี2565 โตราว 4-5% 

สำหรับช่วงเวลา 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ นายจุรินทร์ บอกว่า  จะเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกจัดทำแผนงานที่จะเพิ่มยอดส่งออก ซึ่งจะเพิ่มการทำกิจกรรรมอีก 345 กิจกรรม จากเดิมที่มีอยู่ 185 กิจกรรม รวมเป็น 530 กิจกรรม โดยในวันที่ 14 ก.ย.65 จะประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกอีกครั้งเพื่อซักซ้อมแผน และมอบนโยบายเพิ่มเติม

"เป้าเดิม 4-5% แต่ตอนนี้ 7 เดือนทำได้แล้ว 11.5% แต่ทั้งปี คิดว่าต้องรอประเมินอีก 1-2 เดือน หลังมีการเพิ่มกิจกรรมเข้าไป แต่เชื่อว่าเกิน 4-5% แน่"นายจุรินทร์ กล่าว นอกจากนี้ตนจะนำคณะเดินทางไปเจรจาการค้ากับประทศซาอุดิอาระเบียและมองโกเลีย เพื่อเร่งเพิ่มตัวเลขส่งออกและเป็นการเปิดตลาดใหม่


ทั้งหมดจึงนับเป็นความท้าทายของการส่งออกไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนของเศรษฐกิจ และ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์ที่กดดันให้ทุกประเทศไม่สามารถพึ่งพากลยุทธ์การส่งออกแบบเดิมๆได้อีกต่อไป ดังนั้น เศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อในหลายประเทศ ที่สำคัญปัญหาใหญ่จากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์จึงนับเป็นความยากของประเทศผู้พึ่งพาการส่งออก ซึ่งรรวมถึงไทยด้วยเช่นกัน 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT